กลิ่นที่หอมฟุ้ง สีสันที่หลากหลาย หีบห่อที่สวยงาม
น่าจะเป็นคำจำกัดความที่สื่อถึง ‘พฤกษานกแก้ว’ หรือที่เรียกติดปากกันว่า ‘สบู่นกแก้ว’ สบู่รุ่นคุณปู่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวในโลกธุรกิจมาถึง 75 ปี ได้เป็นอย่างดี
หากพูดถึงสบู่นกแก้ว ภาพจำที่น่าจะฉายชัดในใจใครหลายๆ คน ก็คือสบู่ก้อนในห่อกระดาษสีสันสดใส เห็นมาแต่ไกลก็บอกได้ว่าเป็นสบู่นกแก้ว และไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด แบรนด์ก็ยังคงอัตลักษณ์ของตัวเองได้อย่างแข็งแกร่ง
ถึงแม้ว่า ความนิยมในการใช้สบู่ก้อนจะลดลงไปตามกาลเวลา และมีครีมอาบน้ำที่ใช้งานง่ายกว่าเข้ามาแทนที่ แต่สบู่นกแก้วก็ยังได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน และเป็น ‘แบรนด์เลิฟ’ (Brand Love) ของบางครอบครัวมาหลายสิบปี เรียกได้ว่า เป็นของใช้ประจำบ้านที่ใช้กันมารุ่นสู่รุ่นเลยทีเดียว พิสูจน์ได้จากยอดขายมากกว่า 40 ล้านก้อนต่อปี และมีรายได้มากกว่า 2,000 ล้านบาท
ทำไม ‘สบู่นกแก้ว’ ถึงยังคงประสบความสำเร็จในตลาดสบู่ก้อนมาจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่คู่แข่งส่วนใหญ่ตัดสินใจบุกตลาดครีมอาบน้ำกันแล้ว? Future Trends จะพาทุกคนไปร่วมวิเคราะห์กลยุทธ์ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์กัน
‘สบู่นกแก้ว’ สบู่สัญชาติไทย แต่มีต้นกำเนิดโดย ‘ฝรั่ง’
ถึงแม้ชื่อและภาพลักษณ์ของแบรนด์ จะฉายชัดภาพความเป็นไทยมาก แต่ผู้ก่อตั้งแบรนด์กลับเป็นนักธุรกิจชาวสวิตเซอร์แลนด์ที่มีชื่อว่า ‘วอลเตอร์ เลโอ ไมเยอร์’ (Walter Leo Mayer)
ย้อนกลับไปเมื่อ 70 ปีที่แล้ว วอลเตอร์เป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงด้านการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาขายในไทย ด้วยความที่ซึมซับวิถีชีวิตริมน้ำของผู้คนมานาน เขาจึงเริ่มมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ และตัดสินใจจำหน่ายสบู่ก้อนของตัวเอง
คนโบราณจะนิยมใช้สบู่ทำความสะอาดร่างกายตั้งแต่หัวจรดเท้า และใช้ปนกับการซักล้างสารพัดสิ่งของ ทำให้วอลเตอร์ได้ไอเดียใหม่ในการผลิตสบู่ของตัวเอง จนเกิดเป็นสบู่ก้อนทำมือกลิ่นหอมฟุ้งขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพ และใช้วัตถุดิบจากต่างประเทศ
แล้วที่มาของอัตลักษณ์สุดโดดเด่นอย่าง ‘นกแก้ว’ คืออะไร?
‘นกแก้ว’ เกิดจากงานอดิเรกของวอลเตอร์ เขาชอบเดินป่าชื่นชมความงามของพรรณไม้ และประทับใจความงามของนกแก้วมาก ทำให้เขาเลือกที่จะผสมผสานทั้งสองสิ่งให้กลายเป็นอัตลักษณ์สื่อถึงแบรนด์ อย่างนกแก้วสื่อถึงความสดใส ส่วนพรรณไม้ก็สื่อถึงกลิ่นหอมและความเป็นธรรมชาติ
และที่สำคัญทั้ง ‘นกแก้ว’ และ ‘พรรณไม้’ ยังนำมาสู่การรังสรรค์ผลงานศิลปะบนห่อสบู่อีกด้วย
เมื่อ ‘ธุรกิจ’ และ ‘ศิลปะ’ เป็นเรื่องเดียวกัน
ถ้าเราบอกว่า “หนึ่งในกลยุทธ์ความสำเร็จของสบู่นกแก้ว คือ ‘ศิลปะ’” คุณจะเชื่อเราไหม?
จุดแข็งของศิลปะคือ ‘ความเป็นสากล’ ไม่จำเป็นต้องสื่อสารด้วยตัวอักษร แต่สามารถสื่อสารได้ด้วยการมองภาพผลงานในครั้งเดียว และศิลปะก็เป็นสิ่งที่ไม่มีวันหมดอายุ ต่อให้เวลาผ่านไปนานเท่าใด ใจความสำคัญของผลงานจะยังคงอยู่เสมอ
นอกจากนี้ ศิลปะยังเป็นสิ่งที่จรรโลงใจ และเข้าถึงจิตใจของผู้คนได้ง่าย ทำให้ภาคธุรกิจเริ่มปรับภาพลักษณ์โดยใช้ศิลปะเข้ามาเป็นองค์ประกอบมากขึ้น และงานวิจัยของมหาวิทยาลัยจอร์เจีย (University of Georgia) ในปี 2008 ก็ยืนยันว่า แบรนด์ที่สร้างภาพลักษณ์ด้วยผลงานศิลปะ สามารถสร้างอิทธิพลเชิงบวกต่อลูกค้าได้ดีกว่า
หากจะกล่าวว่า ‘สบู่นกแก้ว’ เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ปลุกปั้นมาด้วย ‘ศิลปะ’ ก็คงไม่ผิดนัก เห็นได้จากหีบห่อสีสันสดใส ภาพนกแก้วและพรรณไม้บนห่อสบู่ และการร่วมงานศิลปินสายคอลลาจ (Collage) เพื่อสร้างสื่อโฆษณาที่ทำให้อัตลักษณ์ของแบรนด์ชัดขึ้นกว่าเดิม
และต่อให้สบู่นกแก้วจะขยายไลน์สินค้าออกมามากขึ้นแค่ไหน ก็ยังคงแฝงความเป็นศิลปะสไตล์ ‘สบู่นกแก้ว’ ที่เด่นชัดอยู่ในผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นอยู่ดี
กลยุทธ์การใช้ศิลปะเป็นเพียงส่วนหนึ่งในความสำเร็จของสบู่นกแก้ว เพราะสิ่งที่สบู่นกแก้วพยายามสื่อสารกับลูกค้ามาตลอด อย่างความแตกต่างและคุณภาพสินค้าของแบรนด์ได้เข้าไปอยู่ในใจของใครหลายๆ คนแล้ว
Sources: https://bit.ly/3fQd6k7
https://bit.ly/3V82YmN
https://bit.ly/3RHmEew
https://bit.ly/3ebGdhl