“รู้จักบริษัทเรามาก่อนหรือเปล่า?”
“ในความคิดของคุณ บริษัทเราเป็นอย่างไร?”
“สิ่งที่คุณประทับใจเกี่ยวกับบริษัทเรามีอะไรบ้าง?”
สารพันคำถามเกี่ยวกับ ‘ประวัติองค์กร’ ที่หลายคนต้องเคยเจอตอน ‘สัมภาษณ์งาน’ ก่อนเข้าสู่โลกการทำงานจริง ถือเป็นคำถามตามธรรมเนียมที่ HR หรือผู้สัมภาษณ์ต้องถามผู้สมัคร เพื่อวัดความใส่ใจและทัศนคติที่มีต่อองค์กร
แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา การถามคำถามเกี่ยวกับประวัติองค์กร กลายเป็นประเด็นถกเถียงในวงการ HR และคนทำงาน จนเกิดการแบ่งขั้วความเห็นบนโลกออนไลน์ที่ต่างกันอย่างชัดเจน ได้แก่ คนที่มองว่าประวัติองค์กรยังจำเป็นกับการสัมภาษณ์งาน และคนที่ให้ความสำคัญกับความสามารถมากกว่าการรับรู้เรื่องราวในองค์กร
ความเห็นจากฝั่งที่มองว่า ‘ประวัติองค์กร’ ยังจำเป็นกับการสัมภาษณ์งาน
สิ่งที่องค์กรมองหาจากผู้สมัคร ไม่ได้มีเพียงโปรไฟล์เลิศหรู หรือความสามารถจากการฝึกวิทยายุทธ์จนเชี่ยวชาญ แต่ยังมีทัศนคติการทำงานและความเข้ากันได้กับองค์กร ทำให้คำถามเกี่ยวกับประวัติองค์กรถูกนำมาใช้ในการสัมภาษณ์งาน เพื่อตัดสินคุณสมบัติของผู้สมัครนอกจากโปรไฟล์บนเรซูเม่ (Resume) หรือผลงานในพอร์ตโฟลิโอ (Portfolio)
ดังนั้น หลายคนจึงมองว่า การถามคำถามเกี่ยวกับประวัติองค์กรยังจำเป็นกับการสัมภาษณ์งาน เพราะเป็นกุญแจดอกแรกที่ช่วยไขตัวตนของผู้สมัคร และ ‘วัดกึ๋น’ ผ่านความใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นคุณสมบัติสำคัญในการทำงาน ก่อนทำความรู้จักผู้สมัครด้วยคำถามอื่นๆ ที่เจาะลึกมากขึ้น
ความเห็นจากฝั่งที่ให้ความสำคัญกับความสามารถมากกว่า ‘ประวัติองค์กร’
หลายคนมองว่า ประวัติองค์กรเป็นสิ่งที่ผู้สัมภาษณ์ต้องบอกให้ผู้สมัครรับรู้ในเบื้องต้นอยู่แล้ว ดังนั้น การถามคำถามเกี่ยวกับประวัติองค์กรจึงเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป อีกทั้งเวลาในการสัมภาษณ์งานแต่ละครั้งช่างแสนสั้น สู้เอาเวลาไปทำความรู้จักผู้สมัครในประเด็นอื่นๆ ดีกว่า โดยเฉพาะความสามารถในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ
การที่คนทำงานตัดสินใจลาออกหลังจากเข้าทำงานได้ไม่นาน ส่งผลกระทบหลายอย่างต่อองค์กร ไม่ว่าจะสิ้นเปลืองเวลาในการสอนงาน โฟลว์การทำงานสะดุด เพราะเกิดการเปลี่ยนผ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือทำให้อัตราการลาออก (Turnover Rate) พุ่งสูง จนส่งผลต่อภาพลักษณ์ขององค์กรและการเฟ้นหาทาเลนต์ในอนาคต
ถึงแม้การลาออกจะมีที่มาจากหลายสาเหตุ แต่หนึ่งในนั้นคือการที่คนทำงานรู้สึกว่า เนื้องานไม่เป็นอย่างที่คิด หรือวิธีการทำงานไม่เป็นอย่างที่หวังไว้ อาจเกิดจากการสื่อสารผิดพลาดตั้งแต่แรก หรือการสัมภาษณ์งานไม่สามารถคัดคนที่เหมาะสมได้จริงๆ เพราะมัวแต่ถามคำถามที่ไม่จำเป็น จนไม่ได้คุยรายละเอียดของเนื้องานให้ผู้สมัครเห็นภาพมากขึ้น
ดังนั้น หลายบริษัทจึงออกแบบขั้นตอนการสัมภาษณ์งานแบบ ‘เน้นเนื้อ ไม่เอาน้ำ’ ถามแต่คำถามเกี่ยวกับการทำงาน เช่น เจอเหตุการณ์ในลักษณะนี้จะรับมืออย่างไร หรือถ้ายอดไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จะแก้ไขสถานการณ์อย่างไร รวมถึงให้ความสำคัญกับ ‘การทดสอบ’ ทางจิตวิทยาและวิชาชีพ เพื่อเฟ้นหาคนที่มีความสามารถและพร้อมทำงานเข้าสู่องค์กรจริงๆ
ไม่มีผิดหรือถูก แต่ทั้งสองฝ่ายต้องหา ‘สมดุล’ ให้เจอ
การที่ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นต่างกันไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพราะแต่ละฝ่ายมีมุมมองเกี่ยวกับการสัมภาษณ์งานที่น่าสนใจทั้งคู่ ซึ่งการหาข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรที่จะสมัครงานล่วงหน้าก็เป็นประโยชน์ต่อตัวผู้สมัครเอง เพราะช่วยในการตัดช้อยส์บริษัทที่ไม่ใช่ และเพิ่มโอกาสในการค้นพบบริษัทที่ตรงกับสไตล์ของตัวเอง
และในฐานะขององค์กร อาจจะให้คำถามเกี่ยวกับประวัติองค์กรเป็นเพียงคำถาม ‘ละลายพฤติกรรม’ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเกณฑ์การตัดสิน และถ้าผู้สมัครตอบไม่ตรงกับที่ผู้สัมภาษณ์คาดหวังไว้ อย่าเพิ่งตัดสินตัวตนหรือความสามารถของผู้สมัครด้วยคำถามเพียงคำถามเดียว แต่ควรตัดสินความเหมาะสมจากคุณสมบัติโดยรวม
3 เทคนิคตอบคำถาม ‘ประวัติองค์กร’ ให้มัดใจผู้สัมภาษณ์
หากพูดกันตามความเป็นจริง การถามคำถามเกี่ยวกับประวัติองค์กรคงเป็นสิ่งที่หายไปจากสังคมการทำงานและการสัมภาษณ์งานในไทยได้ยาก และเมื่อเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็พลิกเป็นโอกาสในการสร้างความประทับใจแทน
Future Trends จึงนำ 3 เทคนิคจากโจเอล ชวาร์สเบิร์ก (Joel Schwartzberg) ผู้คร่ำหวอดในวงการ HR มากว่า 16 ปี มาฝากทุกคนให้ลองนำไปปรับใช้ตามสไตล์ของตัวเอง
1. แสดงแพชชัน (passion) ต่อองค์กร
การแสดงแพชชันในการสัมภาษณ์งาน เป็นเหมือนการส่งสัญญาณให้ผู้สัมภาษณ์รับรู้ว่า ต้องการทำงานร่วมกับองค์กรจริงๆ ถือเป็นหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญที่ผู้สัมภาษณ์มองหาจากผู้สมัครทุกคน การตอบคำถามเกี่ยวกับองค์กรจึงเป็นโอกาสที่ดีในการแสดงแพชชัน เช่น “จากการหาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท รู้สึกว่า วัฒนธรรมองค์กรเข้ากับลักษณะการทำงานของตัวเองมาก
2. เป็นโอกาสในการอธิบายประสบการณ์ของตัวเอง
การหาข้อมูลเกี่ยวกับองค์กร จะทำให้ผู้สมัครทราบว่า องค์กรมีธุรกิจหรือเคยทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง และสามารถใช้ประสบการณ์ของตัวเองเชื่อมโยงกับสิ่งเหล่านั้น เพื่อสร้างความประทับใจในการสัมภาษณ์ได้ เช่น “ใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทแล้วชอบมาก จนอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ได้รับความนิยมมากขึ้น”
3. เป็นโอกาสในการชูจุดเด่นที่มีประโยชน์ต่อบริษัท
ความต้องการในการขยายธุรกิจ เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้บริษัทเปิดรับสมัครคนเพิ่ม เพื่อเสริมทัพความแข็งแกร่งให้องค์กร และเติมเต็มทักษะที่ขาดหาย ซึ่งการหาข้อมูลล่วงหน้า จะช่วยให้ผู้สมัครพบทิศทางการบริหารงานขององค์กรในอนาคต และใช้เป็นข้อมูลในการชูจุดแข็งที่บริษัทต้องการ เพื่อสร้างการจดจำที่พิเศษกว่าผู้สมัครคนอื่น
การถกเถียงเกี่ยวกับคำถามประวัติองค์กรเป็นสิ่งที่ทำให้หลายฝ่ายต้องฉุกคิดว่า ขั้นตอนการสัมภาษณ์งานในยุคนี้ควรเป็นอย่างไร และต้องปรับให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้สมัครหรือไม่ เพราะในปัจจุบัน ผู้สมัครก็มีสิทธิ์เลือกงาน ไม่แพ้กับที่องค์กรมีสิทธิ์เลือกผู้สมัครเช่นกัน
Sources: https://bit.ly/3EdywRv