Type to search

J. Robert Oppenheimer บิดาแห่งระเบิดปรมาณู ผู้ถูกตราหน้าว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และความรู้สึกผิดที่ไม่อาจแก้ไขได้ในสงครามโลกครั้งที่ 2

July 20, 2023 By Thanapon Hussakornrus

“Now I am become Death, the destroyer of worlds.” “ในตอนนี้ผมได้กลายมาเป็นความตาย ที่ทำลายโลกใบนี้” คำพูดของ เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ บิดาแห่งระเบิดปรมาณู ที่เหตุการณ์ในสงครามโลกครั้งที่ 2 สร้างความรู้สึกผิดให้เขาไปจนวันสุดท้ายของชีวิต

เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) หรือชื่อเต็ม จูเรียส โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ แต่ผู้คนมักเรียกเขาด้วยฉายา ว่า ‘The Father of Atomic Bomb’ ‘บิดาแห่งระเบิดปรมาณู’ บุคคลสำคัญของโลกผู้ซึ่งอยู่เบื้องหลังการยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยระเบิดของเขา

เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ เกิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน คริสต์ศักราช 1904 นครนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา (เสียชีวิตเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ คริสต์ศักราช 1967 พรินซ์ตัน รัฐนิวเจอร์ซีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา) เป็นนักฟิสิกส์เชิงทฤษฎี ผู้อยู่เบื้องหลังโครงการพัฒนาระเบิดปรมาณู และห้องปฏิบัติการลอสอาลามอส (Los Alamos Laboratory)

[ จุดเริ่มต้นของ J. Robert Oppenheimer ]

ช่วงชีวิตในวัยเด็กของ เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ เขาเป็นลูกชายคนโตในครอบครัวที่มีฐานะ เดิมทีบิดาของเขาเป็นชาวเยอรมัน แต่ได้อพยพมาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ประกอบกิจการนำเข้าสิ่งทอจนร่ำรวย ออพเพนไฮเมอร์เข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง ถึงแม้ฐานะทางบ้านจะดีแต่เขาก็ไม่ได้มีความสุขในรั่วโรงเรียนขนาดนั้น เขาชอบอยู่คนเดียวไม่คบหากับเด็กคนอื่น

ออพเพนไฮเมอร์ เป็นเด็กที่ฉลาดมาก เขาใช้เวลาว่างไปกับการอ่านหนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และวรรณกรรม ครั้งหนึ่งเขาเคยได้รับเชิญจากสมาคมแร่วิทยาแห่งนิวยอร์กให้ไปบรรยายโดยที่พวกเขาไม่รู้เลยว่าในขณะนั้น ออพเพนไฮเมอร์ คือ เด็กอายุ ‘12’ ปี เรียกได้ว่าฉายแววอัจฉริยะมาตั้งแต่เด็ก

ระหว่างที่ศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ออพเพนไฮเมอร์ มีความสามารถด้านภาษาละติน ภาษากรีก ด้านฟิสิกส์ และด้านเคมี ตีพิมพ์บทกวี และศึกษาปรัชญาตะวันออก แต่เขาไม่มีความสนใจในด้านสังคมและการเมืองเลย ชีวิตของเขามีแต่คำว่าวิทยาศาสตร์

หลังจากสำเร็จการศึกษาในปี คริสต์ศักราช 1925 เขาล่องเรือไปยังประเทศอังกฤษ เพื่อทำวิจัยที่ห้องทดลองคาเวนดิช แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ภายใต้การนำของลอร์ดเออร์เนสต์ รัทเทอร์ฟอร์ด ผู้มีชื่อเสียงระดับนานาชาติในด้านการศึกษาเชิงบุกเบิกเกี่ยวกับโครงสร้างอะตอม ณ ที่แห่งนี้เอง ทำให้เขาได้เข้าใกล้กับสิ่งที่เรียกว่า ‘ปรมาณู’

ในปี คริสต์ศักราช 1927 ออพเพนไฮเมอร์จบการศึกษาปริญญาเอก เขากลับไปที่สหรัฐอเมริกาเพื่อเป็นอาจารย์สอนวิชาฟิสิกส์ ที่มหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย และสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย งานวิจัยในช่วงแรกของเขาจะเกี่ยวกับกระบวนการพลังงานของอนุภาคย่อยของอะตอม รวมถึงอิเล็กตรอน โพซิตรอน และรังสีคอสมิก 

[ โครงการแมนฮัตตันตราบาป และมือที่เปื้อนเลือดของ J. Robert Oppenheimer ]

หลังจากการรุกรานโปแลนด์โดยนาซีในปี คริสต์ศักราช 1939 อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้เตือนรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ถึงอันตรายระดับภัยคุกคามต่อมวลมนุษยชาติ ว่า พวกนาซีกำลังพัฒนาพัฒนา และสร้างอาวุธนิวเคลียร์ 

ในเดือนสิงหาคม ปีคริสต์ศักราช 1942 กองทัพสหรัฐอเมริกา ได้รับหน้าที่ในการรับผิดชอบในการแสวงหาวิธีใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์เพื่อวัตถุประสงค์ทางการทหาร ความพยายามดังกล่าวกลายเป็นที่รู้จักในชื่อโครงการแมนฮัตตัน(the Manhattan Project) ออพเพนไฮเมอร์ได้รับคำสั่งให้จัดตั้งและบริหารห้องปฏิบัติการเพื่อดำเนินการตามภารกิจนี้ 

ในปี คริสต์ศักราช 1943 เขาเลือกที่ราบสูงลอสอาลามอส ใกล้กับเมืองซานตาเฟ รัฐนิวเม็กซิโก สาเหตุที่เขาถูกเลือกให้เป็นผู้นำในโครงการนี้ เพราะความสามารถในการเป็นผู้นำที่ไม่ว่าคนในบังคับบัญชาการจะมาจากฝ่ายทหาร หรือนักวิทยาศาสตร์ เขาสามารถทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันภายใต้ความสามัคคีได้ 

เขาทุ่มเทกับโครงการนี้อย่างมากจนสามารถหาคำตอบของวิธีการทำให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ที่จะสร้างพลังอย่างมหาศาลเป็นการก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ของมนุษย์ เกิดออกมาเป็นระเบิดยูเรเนียมของประเทศสหรัฐอเมริกา ขาดเพียงแค่การทดสอบเท่านั้น แต่นาซีเกิดยอมแพ้สงครามเสียก่อน ระเบิดนี้จึงไม่ถูกใช้งานกับนาซี

“แม้นาซีจะยอมแพ้สงคราม แต่ประเทศญี่ปุ่นยังอยู่” กล่าวโดย หน่วยข่าวกรองสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุนี้โปรเจคแมนฮัตตันจึงถูกดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ออพเพนไฮเมอร์บอกกับทีมงานของเขาว่าการสร้างระเบิดต่อจากนี้เป็นการทำเพื่อ “ยุติสงครามในอนาคต”

ในเดือนพฤษภาคม ปี คริสต์ศักราช 1945 พวกเขาได้วางแผนการทิ้งระเบิดว่าเมืองไหนในญี่ปุ่นจะได้รับระเบิดที่ถูกคิดค้นนี้กัน ออพเพนไฮเมอร์ไม่ได้พูดอะไรในที่ประชุมเขามัวแต่กังวลว่าระเบิดจะเสร็จทันเวลาไหม ทว่า 6 เดือนหลังจากนั้น ระเบิดก็เสร็จสมบูรณ์ เหลือเพียงแค่ทดสอบเท่านั้น

ณ ทะเลทรายในนิวเม็กซิโก วันทดสอบระเบิดมาถึง ในหัวของออพเพนไฮเมอร์เต็มไปด้วยความกังวล “ถ้าหากระเบิดไม่ทำงานมันจะหมายความว่าพวกเราไม่สามารถทำภารกิจให้สำเร็จได้ แต่ว่าถ้ามันทำงานหน้าที่ของเราก็เสร็จสมบูรณ์” แต่ภายใต้ความคิดนี้ภาพสะท้อนของความคิดอีกมุมมองนึงผุดขึ้นมาในหัวของเขา “ความสำเร็จ ที่หมายถึงชีวิตผู้คนบริสุทธิ์กว่า แสนคนต้องถูกพรากไปด้วยระเบิดที่เราสร้างน่ะหรือ?” 

ในขณะที่หัวของเขาแทบจะระเบิดจากความกังวลต่างๆ ผลการทดสอบ ‘มันสำเร็จ’ ระเบิดสามารถใช้งานได้จริง พวกเขาทำได้สำเร็จ เป็นชัยชนะที่น่าอึดอัดใจเป็นอย่างยิ่ง 

หลังการทดสอบระเบิดประสบความสำเร็จ นักวิทยาศาสตร์ในทีมของโครงการได้ร่วมกันคัดค้านการใช้งานระเบิดนี้กับประเทศญี่ปุ่นเพราะมันรุนแรงเกินไป คนบริสุทธิ์ต้องเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่มันไม่เป็นผล รัฐบาลยังเดินหน้าใช้งานระเบิดกับประเทศญี่ปุ่น โดยออพเพนไฮเมอร์เสนอให้กองทัพทิ้งระเบิดลงที่เมืองฮิโรชิมา ด้วยระเบิดที่มีชื่อว่า ‘Little Boy’ ก่อนที่จะตามด้วย ‘Fat Man’ เมืองนางาซากิ

การทิ้งระเบิดทั้งสองครั้งมีผู้เสียชีวิตกว่า 300,000 คน ออพเพนไฮเมอร์รู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งเพราะตามแผนการที่วางไว้ ระเบิดควรจะมีแค่ ‘Little Boy’ ที่เมืองฮิโรชิมา ไม่ควรจะมีระเบิดลูกที่สอง เป็นเปรียบเป็นตราบาปของเขาที่สร้างเทคโนโลยีแห่งความก้าวหน้า แต่พรากชีวิตของคนบริสุทธิ์ไปกว่าสามแสนคน

การเคลื่อนไหวของเขาหลังจากเหตุการณ์ทิ้งระเบิด เขาพยายามทำทุกวิธีทางให้อาวุธนี้ถูกแบนห้ามใช้งานอีกต่อไป บทบาทของเขาหลังจากนี้ค่อยๆ หายลงไปเรื่อยๆ ฉายาบิดาแห่งระเบิดปรมาณู เริ่มถูกเรียกหลังจากนี้เป็นต้นไป

[ J. Robert Oppenheimer กับข้อกล่าวหา ‘คอมมิวนิสต์’ ]

ย้อนกลับไปช่วงก่อนโครงการแมนฮัตตัน ออพเพนไฮเมอร์ ไม่เคยสนใจเรื่องสังคมการเมืองมาก่อนในชีวิตเขา จนกระทั่งเขาพบว่าลูกศิษย์หลายคนของเขาไม่มีงานทำเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ เขามีความสนใจในสังคมการเมืองมากยิ่งขึ้นจนกระทั่งโชคชะตาได้พาเขามาเจอกับ “รักแรกพบ” 

จีน แทตล็อก(Jean Tatlock) หญิงสาวผู้เป็นจิตแพทย์ และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ‘สมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหรัฐอเมริกา’ ผู้ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เขาต้องสงสัยว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ตราบาปที่พรากทุกสิ่งไปจากเขา

หลังจากเหตุการณ์การทิ้งระเบิดที่ญี่ปุ่น FBI สงสัยว่าออพเพนไฮเมอร์ เป็นสายลับโซเวียต และคอมมิวนิสต์ เขาถูกสอบสวนหลายต่อหลายครั้ง สาเหตุที่ทำให้ FBI เชื่อแบบนั้นเป็นเพราะคนรอบตัวของเขาล้วนเป็นคอมมิวนิสต์ ทั้งน้องชาย น้องสะใภ้ เพื่อนฝูง ไม่แปลกเลยที่เขาจะถูกเหมารวมไปด้วย

ท้ายที่สุดออพเพนไฮเมอร์ ได้รับข้อเสนอที่ทำให้เขาหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาทั้งหมด แต่ต้องแลกมาด้วยการลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการพลังงานปรมาณูแห่งสหรัฐอเมริกา เขาไม่ยอมทำให้เกิดการพิจารณาคดีขึ้น และเป็นที่น่าเศร้าในท้ายที่สุดเขาถูกถอดออกจากการเกี่ยวข้องกับงานในส่วนของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

มีคนเคยพูดไว้ว่า “ออพเพนไฮเมอร์ ไม่ใช่คอมมิวนิสต์หรอก เพียงแต่ว่าเขาหลงรักผู้หญิงที่มีแนวคิดเยี่ยงนั้น ทำให้เป็นตราบาปติดตัว และมันพรากทุกสิ่งไปจากเขา” ท้ายที่สุดข้อกล่าวหาเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ก็หมดไป แต่แลกมาด้วยการถูกขับไล่ออกจากงานทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการทำระเบิดในอนาคต

[ ช่วงสุดท้ายของชีวิต J. Robert Oppenheimer ]

ออพเพนไฮเมอร์ ตรวจพบมะเร็งที่ลำคอ เป็นผลมาจากการสูบบุหรี่อย่างหนัก เขาพยายามสู้ด้วยการรักษาทางเคมีบำบัด และรังสี แต่มันก็ไม่ประสบความสำเร็จ ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ คริสต์ศักราช 1967 เขาได้เสียชีวิตลงที่บ้านของเขา เมืองพรินซ์ตัน รัฐนิวเจอร์ซีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ปิดตำนานบิดาแห่งระเบิดปรมาณู

เป็นอย่างไรกันบ้างกับชีวประวัติที่น่าสนใจของ เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ บิดาแห่งระเบิดปรมาณู ผู้ซึ่งมีความเศร้าเสียใจกับสิ่งที่ได้ทำลงไปจนเกิดผลกระทบต่อประเทศญี่ปุ่น เรียกได้ว่าเป็นบุคคลที่สร้างความก้าวหน้าให้แก่วงการวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก และมีเรื่องราวที่น่าสนใจ ในปัจจุบันชื่อของเขาก็ยังถูกนำมาพูดถึงอยู่เรื่อยๆ และมีการดัดแปลงเนื้อหามาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง “Oppenheimer” อีกด้วย

เขียนโดย ธนพนธ์ หัสกรรัตน์

Sources: https://www.britannica.com/biography/Albert-Einstein

J. Robert Oppenheimer