Type to search

บังคับความคิดคนอื่น จนได้ในสิ่งที่ต้องการ รู้จักคนประเภท ‘Manipulator’ จอมบงการที่ชอบออกคำสั่งแบบชักใย

November 05, 2022 By Witchayaporn Wongsa
manipulator

ชาวออฟฟิศหลายๆ คนคงเคยมีประสบการณ์อยู่ในสภาวะ ‘กลืนไม่เข้าคายไม่ออก’ จำยอมทำงานที่ไม่ใช่หน้าที่ หรืองานด่วนที่เข้ามาซ้อนทับกับงานหลัก เพราะเป็นคำสั่งของหัวหน้าผู้เป็นที่รัก จะบอกปัดก็ไม่ได้ จะพูดตรงๆ ก็กลัวหัวหน้าไม่พอใจ จนกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ชีวิตการทำงานไม่มีความสุข

ถ้าต้องเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้นิดๆ หน่อยๆ บางคนอาจจะพอทนได้ แต่ถ้าต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่หนักขึ้นเรื่อยๆ อย่างการบังคับให้ทำในสิ่งที่หัวหน้าต้องการด้วยคำพูดทิ่มแทงใจ หรือกดทับการแสดงความเห็นด้วยตำแหน่งที่สูงกว่า คงไม่ใช่การทำงานที่มีความสุขอย่างแน่นอน

ลำพังสู้กับงาน งานก็สู้กลับจนเหนื่อยแล้ว ยังต้องมาสู้กับคำพูดสุดท็อกซิกของหัวหน้าที่ทำให้เกิดความรู้สึกเชิงลบในใจอีก อย่างเช่นสถานการณ์ที่เราหยิบยกมาเป็นตัวอย่างในบทความนี้

หัวหน้า : “เมื่อเช้าน้องไม่น่าพูดแบบนั้นออกไปในที่ประชุมเลย มันดูข้ามหน้าข้ามตาพี่เกินไป”

พนักงาน A : “ขอโทษค่ะ หนูแค่คิดว่า มันเป็นความเห็นที่น่าจะช่วยพัฒนาผลงานให้ดีขึ้นได้ เลยพูดออกไปแบบไม่ได้ปรึกษาพี่ก่อน”

หัวหน้า : “รู้ว่าผิดก็ดีแล้ว คราวหลังอย่าทำอีก จริงๆ พี่ก็ไม่ได้รู้สึกไม่ดีอะไร แค่กลัวว่าคนอื่นจะมองทีมเราไม่โปร”

นี่คงเป็นสถานการณ์ที่น่าฉงนสงสัยของใครหลายๆ คน คุณแค่ทำงานตามหน้าที่ของตัวเอง แต่กลับสร้างความไม่พอใจให้หัวหน้า มิหนำซ้ำ หัวหน้ายังพูดให้คุณรู้สึกว่าเป็นความผิดของตัวเองด้วย และหากเจอสถานการณ์เช่นนี้บ่อยๆ เข้า บางทีคุณอาจจะกำลังทำงานกับหัวหน้าประเภท ‘Manipulator’ อยู่ก็เป็นได้

‘Manipulator’ ไม่เท่ากับ ‘คนชอบออกคำสั่ง’

Manipulator หมายถึง ‘ผู้ปลุกปั่น’ หรือ ‘ผู้บงการ’ คนประเภทนี้จะพยายามใช้เทคนิคบางอย่างในการปั้นแต่งคำพูดหรือสร้างสถานการณ์ เพื่อบงการคนอื่นให้ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ

การทำงานของคำพูดจาก Manipulator จะแตกต่างกับการออกคำสั่งทั่วไป เวลาที่หัวหน้ามอบหมายงานเป็นคำสั่ง ลูกทีมจะรู้สึกไม่พอใจ และมองหัวหน้าในแง่ลบทันที แต่คำพูดของ Manipulator จะเป็นการออกคำสั่งทางอ้อม กระตุ้นให้ลูกทีมรู้สึกว่าต้องทำสิ่งนี้ด้วยตัวเอง ถ้าไม่ทำจะรู้สึกผิดมาก ส่วนความรู้สึกเชิงลบที่มีต่อหัวหน้าจะมีน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย

แล้วลักษณะของคำพูดจาก Manipulator ถือว่าเป็นการโน้มน้าวใจ (Persuasion) อย่างหนึ่งหรือเปล่า?

แฮร์ริสัน โมนาร์ท (Harrison Monarth) นักเขียนหนังสือขายดีของ The New York Times ได้อธิบายประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า คำพูดของ Manipulator เป็นกลยุทธ์ระยะสั้นที่ได้ผลแค่ชั่วคราว เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ฟังจะเริ่มตระหนักว่า ตัวเองกำลังรู้สึกผิดในความผิดที่ไม่ได้ก่อ และต่อต้าน Manipulator ในที่สุด ส่วนการโน้มน้าวใจ คือการที่ผู้พูดพยายามทำให้ผู้ฟังตัดสินใจด้วยตัวเองตามความต้องการของผู้พูด แต่ผู้ฟังสามารถปฏิเสธเมื่อไม่เห็นด้วยได้

หากตีความคำอธิบายของแฮร์ริสันอย่างตรงไปตรงมา จริงๆ แล้วทั้งสองสิ่งก็มีจุดที่คล้ายคลึงกันอยู่ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายๆ คนจะทำงานกับ Manipulator โดยไม่รู้ตัว

แล้วถ้าพบสัญญาณว่า ตัวเองกำลังทำงานกับ Manipulator อยู่ จะรับมือกับคนประเภทนี้ได้อย่างไรบ้าง?

เราจึงนำเทคนิคการรับมือกับ Manipulator จาก ‘ลิซ กีสลิก’ (Liz Kislik) ที่ปรึกษาด้านการจัดการและคอลัมนิสต์ของ Harvard Business Review มาฝากทุกคนทั้งหมด 3 ข้อ ดังนี้

1. ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม

ลิซแนะนำว่า ช่วงแรกของการทำความรู้จักหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน ให้สังเกตการแสดงออกของแต่ละคนดีๆ เพราะ Manipulator จะพยายามเข้าหาคนที่พวกเขาคิดว่า ‘หัวอ่อน’ หรือคนที่พูดอะไรแล้วเชื่อฟังไปหมด เพื่อบงการให้ทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการ

หากคุณพบสัญญาณความเป็น Manipulator ของเพื่อนร่วมงานที่พยายามตีสนิทคุณเป็นพิเศษ ให้รีบตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ทำทุกอย่างด้วยความมั่นใจ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของคนประเภทนี้

2. แสดงท่าทีให้ Manipulator รับรู้ว่า สิ่งที่ทำอยู่ไม่ถูกต้อง

Manipulator อยู่ได้ด้วยความเชื่อที่ว่า คำพูดของตัวเองมีอิทธิพลต่อคนอื่น และไม่ชอบคนที่มีท่าทีเป็น ‘หัวขบถ’ มากๆ หากมีกลุ่มคนที่ร่วมมือกันลุกขึ้นมาส่งสัญญาณต่อต้านการกระทำของพวกเขา ความเชื่อและความมั่นใจที่เคยมีต้องเริ่มสั่นคลอนอย่างแน่นอน

3. ไม่ไหลตามน้ำไปกับการกระทำของ Manipulator

ถึงแม้ว่า คุณจะมีท่าทีเป็นพวกหัวขบถที่ Manipulator ไม่ชอบ แต่พวกเขาอาจจะใช้คุณเป็นเครื่องมือในการปลุกปั่นได้เช่นกัน อย่างการนินทาข้อเสียของคนอื่นให้คุณฟัง หรือการไหว้วานคุณให้ไปพูดในสิ่งที่พวกเขาต้องการกับคนอื่นๆ แทน

ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ คุณต้องแสดงท่าทีปฏิเสธกลับไปอย่างชัดเจน เพราะถ้าไม่ปฏิเสธและทำตามอย่างว่าง่าย คุณก็ไม่ต่างอะไรกับการเป็น Manipulator เสียเอง

แต่คนเราไม่จำเป็นต้องอดทนจนทำร้ายตัวเอง หากรับมือกับคนประเภท Manipulator ไม่ไหว การเดินออกมาเพื่อไปหาสังคมการทำงานใหม่ที่ดีกว่าก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไรเลย

Sources: https://bit.ly/3SX3N0a

https://bit.ly/3RP0VkQ

https://bit.ly/3SXIv2z

Trending

Witchayaporn Wongsa

Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)