LOADING

Type to search

ถอดแนวคิด ‘7 C’s’ ของ ‘อินดรา นูยี’ หญิงเหล็กที่ทำเงินให้ ‘PepsiCo’ กว่า 2 ล้านล้านบาท

ถอดแนวคิด ‘7 C’s’ ของ ‘อินดรา นูยี’ หญิงเหล็กที่ทำเงินให้ ‘PepsiCo’ กว่า 2 ล้านล้านบาท
Share

“ความเป็นผู้นำนั้นยากที่จะนิยาม ส่วนการเป็นผู้นำที่ดีนั้นยากยิ่งกว่า แต่ถ้าคุณทำให้คนติดตามไปจนสุดขอบโลกได้ คุณคือผู้นำที่ยิ่งใหญ่”

อินดรา นูยี (Indra Nooyi)

แม้การก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำองค์กร จะต้องผ่านการพิสูจน์ความสามารถด้วยบททดสอบสุดหิน แต่สำหรับผู้บริหาร ‘หญิง’ ยังต้องต่อสู้กับปัญหาความเท่าเทียมในที่ทำงานและค่านิยม ‘การเป็นภรรยาและแม่ที่ดี’ ที่ฝังรากลึกในสังคมด้วย

อินดรา นูยี คือหนึ่งในผู้บริหารหญิงที่ต้องฝ่าฟันบทพิสูจน์ในโลกการทำงานและการเป็น ‘ผู้หญิง’ ตามกรอบของสังคม ก่อนจะก้าวสู่การเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ‘หญิง’ คนแรกของบริษัทอาหารและเครื่องดื่มระดับโลกอย่าง ‘PepsiCo’

การเป็นผู้กุมบังเหียนของบริษัทระดับโลกไม่มีคำว่าง่าย แต่อินดราสามารถใช้ประสบการณ์ด้านการบริหารของตัวเองมากำหนดทิศทางการดำเนินกลยุทธ์ที่สร้างยอดขายในปี 2017 ให้ PepsiCo กว่า 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2 ล้านล้านบาท) ถือเป็นการสร้างตำนาน ‘หญิงเหล็ก’ แห่ง PepsiCo ก่อนจะลงจากตำแหน่งในปี 2018 อย่างสวยงาม

นอกจากกลยุทธ์การบริหารงานของอินดราจะเป็นที่ยอมรับในวงการธุรกิจแล้ว แนวคิดการเป็นผู้นำที่หลอมรวมทีมให้เป็นหนึ่งเดียวของเธอก็น่าประทับใจไม่แพ้กัน

แกนหลักในการนำทีมของ ‘อินดรา นูยี’ คืออะไร? Future Trends จะพาไปถอดแนวคิด ‘7 C’s of Leadership’ ที่ทำให้เธอเป็น ‘หญิงเหล็ก’ ของวงการธุรกิจในบทความนี้

Image on hbr.org

1. Competence: เข้าใจความสามารถของทีม และพัฒนาให้ ‘เก่ง’ รอบด้าน

นอกจากหัวหน้าจะต้องเข้าใจจุดแข็งของลูกทีมแต่ละคน เพื่อมอบหมายงานที่เหมาะสมให้กับพวกเขาแล้ว ยังต้องส่งเสริมให้ทีมเรียนรู้งานในศาสตร์อื่นๆ นอกเหนือจากความถนัดของตัวเอง เพราะการทำงานที่มีประสิทธิภาพต้องเกิดจากการเชื่อมโยงศาสตร์ที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกัน ทำให้แนวคิด ‘Put the right man on the right job’ ไม่เพียงพอสำหรับการทำงานอีกต่อไป

2. Creativity: คิดอย่างสร้างสรรค์ และนำทีมด้วยความ ‘สงสัย’

การคิดอย่างสร้างสรรค์ เป็นหัวใจสำคัญของการบริหารงาน เพราะจะช่วยเชื่อมโยงประเด็นต่างๆ เข้าด้วยกัน คล้ายกับแนวคิด ‘Connect the dots’ ที่เชื่อมต่อจุดแต่ละจุด จนเกิดเป็นไอเดียใหม่ๆ

นอกจากนี้ หัวหน้าควรนำทีมด้วยความ ‘สงสัย’ ที่ไม่ใช่ความสงสัยที่นำไปสู่การจับผิดทีม แต่เป็นการคิดแบบย้อนกลับไปเรื่อยๆ ว่า ‘สิ่งนี้เกิดจากอะไร’ หรือ ‘จาก A ไป B มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นระหว่างทางบ้าง’ เพราะจะช่วยให้หัวหน้าเข้าใจขั้นตอนการทำงานตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำมากขึ้น

3. Courage: นำทีมด้วยความกล้าและความมั่นใจ

การทำงานกับ ‘ทาเลนต์’ หรือคนมากความสามารถ ย่อมมีการโต้เถียงความเห็นกันเป็นปกติ ดังนั้น ความมั่นใจในการแสดงความเห็นจึงเป็นสิ่งสำคัญ คุณต้องยึดมั่นในจุดยืนของตัวเอง และพัฒนาทักษะการ ‘ดีเบต’ อย่างมีเหตุผลอยู่เสมอ

อีกทั้งหัวหน้ายังต้องนำทีมด้วยความมั่นใจ เพราะทำหน้าที่เป็นผู้กุมบังเหียนควบคุมการทำงานของทีมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเป็นแกนหลักในการประคับประคองทีมให้ทำงานอย่างมีระบบ

4. Communication: สื่อสารอย่างทรงพลัง และ ‘ฟัง’ มากกว่า ‘พูด’

การสื่อสารเป็นทักษะพื้นฐานในการทำงาน แต่ละคนควรออกแบบวิธีการสื่อสารที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและเพื่อนร่วมงาน

อินดรากล่าวถึงปัญหาด้านการสื่อสารของตัวเองในอดีต เธอเป็นคนพูดเร็ว ปากกับสมองทำงานไม่สัมพันธ์กัน รวมถึงคำพูดของเธอยังซับซ้อนและยากต่อการตีความ ปัญหาเหล่านี้ผลักดันให้เธอลงเรียนคอร์สพัฒนาการพูดและฝึกฝนตัวเอง จนสามารถจัดลำดับความคิดและสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

5. Coaching: หัวหน้าเก่งคนเดียวไม่ได้ ต้องปั้นให้ทีมเก่งด้วย

“หัวหน้าที่เก่งเพียงคนเดียว ไม่ใช่หัวหน้าที่แท้จริง”

การปั้นทีมให้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ถือเป็นหนึ่งในหน้าที่สำคัญของหัวหน้า เพราะการทำงานเป็นทีมต้องอาศัยความสามารถของทุกคน หัวหน้าควรฟีดแบ็กให้ลูกทีมเกิดการพัฒนาทักษะของตัวเอง อาจจะเริ่มจากการลิสต์ข้อดี-ข้อเสียของแต่ละคนออกมาเป็นข้อๆ และให้คำแนะนำในสิ่งพวกเขาต้องปรับปรุง

6. Compass: หัวหน้าควรเป็น ‘เข็มทิศ’ ที่นำทีมให้ถูกทาง

นอกจากหัวหน้าจะนำทีมด้วยความสามารถและความมั่นใจแล้ว ยังต้องนำทีมด้วย ‘ความซื่อสัตย์’ ตัดสินเหตุการณ์ตรงหน้าตามความเป็นจริง ผิดก็ว่าไปตามผิด ถูกก็ว่าไปตามถูก เพื่อส่งเสริมการทำงานที่วัดผลจากประสิทธิภาพ ไม่ใช่การเลือก ‘ที่รักมักที่ชัง’ ที่เกิดจากความรู้สึกส่วนตัว

7. Citizenship: เมื่อสังคมการทำงานแข็งแกร่ง ผลลัพธ์ที่แข็งแกร่งจะตามมา

ถ้าสังคมการทำงานดี ประสิทธิภาพการทำงานจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ หัวหน้าไม่จำเป็นต้องรีด output หรือสร้างความกดดันเลยแม้แต่น้อย ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการสร้างสังคมการทำงานที่ดี คือวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง และการส่งต่อค่านิยมการทำงานที่เอื้อต่อคนทำงานทุกคน

แนวคิดการเป็นผู้นำของ ‘อินดรา นูยี’ สะท้อนให้เห็นว่า เธอเป็นหนึ่งในผู้นำที่ ‘ครบเครื่อง’ สมดุลทั้งการบริหาร ‘งาน’ และการดูแล ‘คน’ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เธอจะเป็นผู้ทรงอิทธิพลของวงการธุรกิจ และเป็นต้นแบบในการทำงานของใครหลายๆ คน

Sources: http://bit.ly/3ZMBe8S

บทเรียน 7 C’s of Leadership: Creating A Better World โดย ‘อินดรา นูยี’ บนเว็บไซต์ masterclass.com

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like