LOADING

Type to search

“จงเรียนรู้อยู่ตลอด เพราะชีวิตคือการสะสมจุด” Connecting the dots แนวคิด ‘สร้างโอกาส’ ของชัชชาติ สิทธิพันธุ์

“จงเรียนรู้อยู่ตลอด เพราะชีวิตคือการสะสมจุด” Connecting the dots แนวคิด ‘สร้างโอกาส’ ของชัชชาติ สิทธิพันธุ์
Share

นาทีนี้คงจะไม่มีใครฮ็อตไปกว่าชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ คนล่าสุดอย่างแน่นอน ชายผู้ได้รับฉายาว่า แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี และขึ้นชื่อว่า เป็นหนึ่งในบุคคลที่เก่ง เพราะไม่ว่าจะทำอะไร ขยับไปทางไหน ชีวิตของเขาก็มีแต่โอกาสดีๆ เต็มหมด

ทั้งชีวิตในวัยเรียนที่ได้รับทุนการศึกษา การเป็นอาจารย์ นักการเมือง หรือแม้กระทั่งประธานบริหารก็ตาม สารพัดหมวกหลากใบที่สวม แต่ไม่ว่าจะต้องอยู่ในบทบาทไหน ชัชชาติก็ลื่นไหลไปได้ตลอด แถมยังทำได้ดีเสียด้วย

เมื่อประมาณ 1-2 ปีที่แล้ว ชัชชาติเคยพูดถึงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว และให้สัมภาษณ์ในรายการเดอะซีเคร็ตซอส (The Secret Sauce) ไว้ว่า ชีวิตของตนที่ดูเผินๆ ค่อนข้างโชคดี ประสบความสำเร็จทั้งเรื่องการเรียน และการทำงานนั้นไม่ใช่เพราะแต้มบุญดี การไปบนบานศาลกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์แต่อย่างใด แต่แท้จริงแล้ว กลับมีพื้นฐานมาจากการสร้างโอกาสผ่านแนวคิดการสะสมจุด (Connecting the dots) ต่างหาก

Connecting the dots นับเป็นหนึ่งในคำพูดของบุรุษก้องโลกอย่างสตีฟ จอบส์ (Steve Jobs) ที่เคยกล่าวสุนทรพจน์ในงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด (Stanford university) เมื่อปี 2005 ว่า “เราไม่สามารถต่อจุดในชีวิตโดยมองไปข้างหน้าได้ แต่เราสามารถต่อจุดโดยมองย้อนกลับไปข้างหลังได้เท่านั้น ดังนั้น เราต้องเชื่อมั่นว่าจุดต่างๆ ที่มีจะสามารถเชื่อมโยงกันได้ในอนาคต”

‘เพราะการ collect the dots ในวันนี้ จะช่วยให้เราสามารถ connect the dots ในวันหน้า’ กล่าวคือ ยิ่งเราเรียนรู้ให้เยอะ ก็ยิ่งทำให้มีจุดเยอะ สามารถแปรเปลี่ยนเป็นทางเลือก โอกาสที่มากมายในชีวิตได้สำเร็จ และในขณะเดียวกัน การคิดว่า จะไปเรียนรู้ในวันหน้าก็เป็นเรื่องที่อาจไม่ทันการ อีกทั้งเราก็ไม่สามารถนำจุดเหล่านั้นมาสร้างคำตอบในปัจจุบันได้

ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด การมีความรู้เดิมเป็นต้นทุนถือเป็นเรื่องที่ดี แต่หากไม่รู้จักเติมอย่างอื่นเข้าไป ยึดติดแต่กับวิธีคิดเส้นตรงเดิมๆ ก็อาจทำให้ตามโลกไม่ทัน และเดินถอยหลังโดยไม่รู้ตัว

ชัชชาติเผยว่า ความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity), ระเบียบวินัย (Discipline) และความพยายามมีกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth mindset) จะเป็น 3 กุญแจดอกสำคัญที่ทำให้เราสะสมจุดดีๆ นำไปสู่โอกาสดีๆ ในชีวิตได้สำเร็จ

เพราะถ้าไม่มีความอยากรู้อยากเห็น ก็จะไม่เกิดการสะสมจุด เพราะถ้าไม่มีวินัย ไม่สม่ำเสมอ ตกเป็นทาสของอารมณ์ และแพชชัน ก็จะไม่สามารถสะสมจุดได้ เพราะถ้าไม่พยายามมีกรอบความคิดแบบเติบโต ก็จะไม่อยากปรับปรุงตัวให้ดี และไม่อยากสะสมจุด

ดังนั้น หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป ก็อาจทำให้เป้าหมายที่วางไว้เป็นไปได้ยาก เช่นเดียวกัน หากเราเตรียมพร้อมอยู่เสมอ แน่นอนว่า เมื่อมีโอกาสดีๆ เข้ามาผสมโรง ก็ย่อมเกิดเป็น ‘ความโชคดีแบบทวีคูณ’

เขาบอกว่า หัวใจของผู้นำที่ดีนับจากนี้คือการ ‘รู้เยอะ รู้กว้าง’ มีประสบการณ์หลากหลายด้าน และจุดหลายจุด เพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในอนาคต แต่ว่ากันตามตรงแล้ว ตัวของชัชชาติที่ดูลื่นไหลไปกับงานทุกด้าน แต่ถ้าไล่เรียงประวัติดู การที่เขากระโดดจากการเป็นอาจารย์ไปสู่รัฐมนตรีที่เป็นตำนานความเก่งกาจในหน้าประวัติศาสตร์ไทยได้นั้นก็ล้วนมีพื้นฐานมาจาก ‘การสะสมจุดในอดีต’ เช่นกัน

ซึ่งที่ผ่านมา สมัยเป็นอาจารย์ เขาก็ได้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้รัฐมนตรีคนหนึ่งควบคู่ไปด้วย ทั้งนี้ ชัชชาติก็ได้ทุ่มเทเวลาไปกับการนั่งอ่าน และสรุปมติคณะรัฐมนตรีถึงเที่ยงคืนวันจันทร์เป็นเวลาถึง 2 ปีด้วยกัน โดยตอนนั้นตัวเขาก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ในอนาคต ตนจะได้ขึ้นมาเป็นรัฐมนตรี ความรู้เหล่านี้จะส่งผลดีในภายภาคหน้า ทำให้เมื่อขึ้นมารับตำแหน่ง จึงสามารถเข้าใจระบบต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ สมัยยังเป็นรัฐมนตรี เขารู้ว่าตัวเองอ่อนเรื่องการเงิน ทำให้มีการไปลงเรียนปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจเพิ่ม โดยที่ตอนนั้นเขาก็ไม่รู้ล่วงหน้าอีกเช่นกันว่า สิ่งนี้จะไปมีประโยชน์ต่อการเป็นประธานบริหารบริษัทควอลิตี้เฮ้าส์​ จำกัด (มหาชน) (Q House) ในอนาคต

อันที่จริงเรื่องนี้ก็คล้ายกับเรื่องราวในอดีตของสตีฟ จอบส์อยู่เหมือนกัน เพียงแค่ต่างสถานการณ์ก็เท่านั้น ในสมัยที่จอบส์เรียนที่มหาวิทยาลัยรีด (Reed College) เขาได้ลงเรียนวิชาประดิษฐ์ตัวอักษร (Calligraphy) โดยที่ไม่รู้ว่า สิ่งนี้จะมีประโยชน์ เป็นส่วนสำคัญในการออกแบบเครื่องแมคอินทอช (Macintosh) ให้เป็นที่กล่าวขานกันอย่างไม่รู้จบในทุกวันนี้…

ความรู้ สิ่งต่างๆ ในชีวิตคนเราก็เหมือนจุด จุดในวันนี้ที่เราอาจไม่เห็นค่า เป็นเหมือน ‘เส้นผมบังภูเขา’ แต่ก็ไม่แน่ว่า พอเอามาเรียงร้อยกันในอนาคต มันอาจกลายเป็นโอกาสทองที่มีค่าที่สุดในชีวิตไม่ต่างกับชัชชาติ และสตีฟ จอบส์ก็เป็นได้

ชัชชาติเคยให้สัมภาษณ์กับเวิร์คพอยท์ทูเดย์ (workpointTODAY) เกี่ยวกับการฝึกนิสัยไว้ว่า ให้ยอมรับก่อนว่า ในโลกใบนี้มีความรู้มหาศาล เราเป็นเพียงก้อนจุดแดงเล็กๆ หมั่นย้อนกลับมาประเมินตัวเองอยู่เสมอว่า เรารู้เยอะแค่ไหน จงอย่าทำตัวเป็นน้ำที่เต็มแก้ว และถึงแม้จะเป็นน้ำครึ่งแก้ว แต่ก็ต้องดูด้วยว่า น้ำที่มีหมดอายุหรือยัง น้ำเหล่านั้นยังมีคุณภาพอยู่ไหม?

ถ้าน้ำในแก้วเป็นน้ำเก่า ก็ต้องเททิ้งแล้วเติมลงไปใหม่ เหมือนกับคำพูดอันแสนคมคายของโยดา (Yoda) ตัวละครในภาพยนตร์สตาร์วอร์ (Star Wars) ที่ว่า “You must unlearn what you have learned.” คุณต้องหมั่นเรียนรู้ใหม่ในสิ่งที่เคยเรียนรู้ด้วย

ฉะนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมทุกวันนี้ชัชชาติจึงกลายเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่ประสำเร็จความสำเร็จ อยู่รอดได้ทุกสถานการณ์ หยิบจับอะไรก็ทำเป็นคล้ายกับ ‘เป็ด’ ที่ไม่ว่าจะวิ่ง บิน หรือว่ายน้ำก็ทำได้หมด

แต่ในที่นี้ ก็ไม่ได้ซัฟเฟอร์ครึ่งๆ กลางๆ แบบที่บางคนเข้าใจด้วย เพราะการไม่หยุดเรียนรู้ เป็นน้ำที่ไม่มีวันเต็มแก้วนั้นทำให้ชัชชาตินั้นเหนือกว่าสำนวน ‘Jack of all trades, master of none.’ แต่คือการเป็น Jack of all trades ที่แท้จริงนั่นเอง

การเรียนรู้ไม่ได้จบแค่ใบปริญญา หากแต่คือการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ ‘ไม่มีสิ้นสุด’ ในโลกใบนี้ แม้แต่หมอดูที่แม่นที่สุดก็ไม่อาจการันตีได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า โอกาสที่ดีที่สุดของแต่ละคนจะมาเมื่อไร?

เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทำได้คือการเปิดตา เปิดใจให้กว้าง ไม่หยุดเรียนรู้ โยนตัวเองไปสัมผัสกับสิ่งใหม่ๆ เพื่อหวังว่า วันหนึ่งเมื่อโอกาสมาถึง เราจะได้ไม่ทำให้ ‘โอกาส’ กลายเป็น ‘อากาศ’ ที่สูญเปล่าอย่างแน่นอน!

Sources: https://bit.ly/3xj8AAL

https://bit.ly/3xfwahU

https://bit.ly/3mckEO5

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1