-->
“คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก”
สำนวนนี้ยังคงเป็นจริงเสมอ แม้เวลาจะผ่านไปนานเท่าใดก็ตาม โดยเฉพาะในโลกของการทำงานที่ชาวออฟฟิศต้องรับมือกับปัญหา 2 ส่วนใหญ่ๆ ก็คือเรื่องของ ‘งาน’ และ ‘คน’ อยู่เสมอ
หากจะมองว่า ปัญหาเรื่องงานเป็นความคับที่ และปัญหาเรื่องคนเป็นความคับใจก็คงไม่ผิดนัก งานยากๆ ที่ผ่านเข้ามา พอทำเสร็จก็จบกันไป แต่เวลาทำงานกับคนที่รับมือยาก นอกจากจะเปลี่ยนนิสัยของเขาไม่ได้แล้ว ตัวเราเองต้องเป็นฝ่ายที่อดทนเสียด้วยซ้ำ
จนบางคนถึงกับมีคติในการทำงานว่า “ปัญหาเรื่องงานเข้ามาไม่หวั่น แต่ปัญหาเรื่องคนขอลาก่อน” และบางทีปัญหาเรื่องคนที่เจอได้บ่อยในที่ทำงาน ก็คือการทำงานกับ ‘คนหลงตัวเอง’ (Narcissist) ที่ยึดติดกับความคิดและความสำเร็จของตัวเองจนไม่ฟังใคร
ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) บิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ได้นิยามลักษณะของ ‘คนหลงตัวเอง’ ไว้ว่า “คนกลุ่มนี้ต้องการได้รับการเยินยอจากผู้อื่นเป็นนิสัย”
จริงๆ แล้ว ความหลงตัวเองเป็นพฤติกรรมพื้นฐานของมนุษย์ ถือเป็นแรงขับตามธรรมชาติที่มีอยู่ในตัว แต่ถ้าแรงขับนี้มีอิทธิพลกับชีวิตมากเกินไป นอกจากจะส่งผลเสียกับตัวเอง (แม้จะไม่รู้ตัว) ก็ยังกลายเป็นเสี้ยนหนามที่ทิ่มแทงชีวิตคนรอบข้างอีกด้วย
จากผลสำรวจความเห็นของพนักงานชาวจีนจำนวน 118 คน พบว่า พนักงานที่เข้าข่ายลักษณะของคนหลงตัวเอง ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเขาหรือเธอจะสนใจเพียงความคิดของตัวเอง และทำงานด้วยความเชื่อเช่นนั้นจนไม่สนใจใครเลย
ซึ่งบทความบนเว็บไซต์ Harvard Business Review ก็มีใจความตอนหนึ่งที่สอดคล้องกับผลของงานวิจัย ยิ่งพนักงานหลงตัวเองคนนั้นมีตำแหน่งเป็นหัวหน้า ก็ยิ่งทำให้ลูกทีมของตัวเองรู้สึกหมดไฟกับการทำงานได้ง่ายกว่าเดิม เพราะหัวหน้าของพวกเขาไม่ใช่นักฟังที่ดี และไม่ได้มีความเข้าอกเข้าใจมากขนาดนั้น
แต่เหรียญมีสองด้านฉันใด ความเป็นหัวหน้าหลงตัวเองก็มีสองด้านฉันนั้น
หัวหน้าหลงตัวเองไม่ใช่คนไม่ดี เพราะเขาหรือเธอก็มีจุดเด่นที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของทีม ความทะเยอทะยานในการรับคำชมที่มีมากกว่าคนอื่น และการมองเห็นความสำเร็จเป็นภาพใหญ่ ทำให้หัวหน้าประเภทนี้มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ถ้านำทีมได้อย่างถูกต้อง ความสำเร็จจะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน
ในเมื่อหลีกเลี่ยงการทำงานกับคนหลงตัวเองไม่ได้ และการเปลี่ยนนิสัยของคนอื่นก็ทำได้ยากยิ่งกว่า บางทีการเตรียมตัว เตรียมใจให้พร้อมรับมือทำงานกับคนประเภทนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้ว
Future Trends จึงนำวิธีการรับมือกับคนทำงานที่หลงตัวเองจาก ‘เอมี่ มอริน’ (Amy Morin) นักจิตบำบัดและนักจัดพอดแคสต์รายการ The Verywell Mind Podcast มาฝากทุกคนให้ได้ลองนำไปปรับใช้ตามความเหมาะสมกันดู
วิถีแห่งการสู้มาสู้กลับ หรือตอบโต้ด้วยไม้แข็ง ไม่ใช่วิธีการต่อกรกับคนหลงตัวเองที่ถูกต้อง แต่จะกลายเป็นการสุมไฟให้คนประเภทนี้ได้ใจมากขึ้น เพราะพวกเขาคิดว่า ตัวเองสามารถสร้างการเป็นจุดสนใจได้สำเร็จแล้ว
เอมี่แนะนำว่า ความเงียบและการนิ่งเฉย จะทำให้คุณรับมือกับคนหลงตัวเองได้ดีขึ้น เพราะนอกจากจะไม่สุมไฟเข้าไปเพิ่มแล้ว คุณจะมีสมาธิในการทำงานมากขึ้นด้วย
ขอบเขตที่ชัดเจน จะเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ทำให้คุณไม่ต้องฝืนใจจนเกินไป เวลาที่ต้องทำงานกับคนหลงตัวเอง คุณอาจจะเริ่มจากการตั้งเกณฑ์ว่า ถ้าเจอสถานการณ์แบบ A คุณพอรับมือและปล่อยผ่านได้ แต่ถ้าเจอสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นแบบ B คุณจะส่งสัญญาณให้อีกฝ่ายรับรู้อย่างไร
หัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานที่หลงตัวเอง เป็นเพียงบุคคลที่ผ่านเข้ามาในชีวิต และที่สำคัญการทำงานก็เป็นเพียงหนึ่งในบทบาทเล็กๆ ที่ต้องรับผิดชอบ
ดังนั้น คุณไม่จำเป็นต้องเอาสิ่งที่คนเหล่านั้นพูดมาใส่ใจ แต่ขอให้โฟกัสกับงานที่คุณรับผิดชอบให้ดีที่สุด เพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คุณภาพของงานก็ยังคงเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานอยู่ดี
การเปลี่ยนแปลงนิสัยของคนอื่นไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่าย มิหนำซ้ำ ความพยายามจะเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานเปล่าๆ ไม่ต่างกับการเอากำปั้นทุบดิน นอกจากจะไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงใดๆ แล้ว คนทุบก็ยังเจ็บมือเองด้วย
คนหลงตัวเองอยู่ได้ด้วย ‘แสง’ ที่สาดส่องมา บางทีการที่พฤติกรรมของพวกเขาเป็นเช่นนั้น อาจจะเกิดจากความสนใจที่ทุกคนมอบให้พวกเขาก็เป็นได้
ดังนั้น การแสดงออกด้วยความเงียบ ไม่สนใจ และเบี่ยงประเด็นอย่างเนียนๆ ก็ถือเป็นการส่งสัญญาณ เพื่อปฏิเสธการกระทำที่ไม่ถูกต้องของหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานที่หลงตัวเองได้แล้ว
การทำงานกับคนหลงตัวเองยังคงเป็นสิ่งที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก และเป็นปัญหาเชิงระบบที่เกิดจากการไม่จัดการปัญหาเกี่ยวกับ ‘คน’ อย่างเด็ดขาด
ถึงแม้ว่า วิธีการที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ จะช่วยให้คนทำงานไม่ทุกข์ใจมากกว่าเดิม แต่การแก้ปัญหาอย่างตรงจุดต้องแก้จากต้นเหตุหรือเปล่า?
Sources: https://bit.ly/3S5EN6u