LOADING

Type to search

คิดว่าตัวเองไม่เก่ง ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด หยุดมี 5 ‘Mindset’ ที่บั่นทอนกับความเป็นหัวหน้าของคุณ

คิดว่าตัวเองไม่เก่ง ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด หยุดมี 5 ‘Mindset’ ที่บั่นทอนกับความเป็นหัวหน้าของคุณ
Share

สภาวะทางสังคมที่กดดันบีบบังคับให้คนเราต้องมีความเก่งกาจตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในวัยเรียนหรือวัยทำงาน ค่านิยมของการเป็น ‘คนเก่ง’ ที่ได้รับการเชิดหน้าชูตา วนเวียนอยู่ในทุกช่วงเวลาของชีวิต ตามติดไปทุกที่ไม่ต่างจากเงาตามตัว

แต่ภายใต้คำว่า ‘เก่ง’ กลับมีความซับซ้อนและการแบ่งประเภทที่ชวนให้ฉงนสงสัย เนื่องจาก ความเก่งมีมากมายหลายรูปแบบ เก่งมาก เก่งน้อย เก่งทุกอย่าง เก่งจนเชี่ยวชาญ และอีกสารพัดความเก่งเท่าที่จะสรรหาคำมาขยายเพิ่มได้

เมื่อมาตรฐานชี้วัดความเก่งมีมากมายขนาดนี้ การเป็น ‘คนเก่ง’ ที่ไม่มีคำขยายต่อท้ายคงไม่พอ…

และต่อให้จะพัฒนาความสามารถจนเก่งกาจมากแค่ไหน ก็ยังมีวาทกรรม “เหนือฟ้ายังมีฟ้า” ที่คอยบีบคั้นให้เป็นคนเก่งแบบไร้เพดานอยู่ดี สำหรับบางคนก็ดูจะเป็นการปลุกใจที่ช่วยพัฒนาตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สำหรับหลายๆ คนกลับเป็นการกดทับจนสูญเสียความมั่นใจไปเลย

‘ความมั่นใจ’ เป็นสิ่งที่สร้างได้ยากแต่สูญเสียได้ง่าย

stress-and-depress
Image by nakaridore on Freepik

“ความมั่นใจก็เหมือนกับกล้ามเนื้อ” (Confidence is like a muscle.) – สก็อต ลิตช์ฟิลด์ (Scott Litchfield)

ถึงแม้ว่า ความมั่นใจกับกล้ามเนื้อจะดูเป็นสิ่งที่ไม่เข้ากัน แต่ทั้งสองสิ่งกลับมีบางอย่างที่คล้ายกันอย่างน่าประหลาด เพราะความมั่นใจกับกล้ามเนื้อต่างก็เป็นสิ่งที่สร้างได้ยากแต่สูญเสียได้ง่ายทั้งคู่

การที่พยายามประกอบร่างความคิดและสั่งสมประสบการณ์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง ไม่ต่างกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ซึ่งทั้งสองสิ่งต้องใช้เวลาและความอดทนเป็นอย่างมาก แต่เมื่อมีความกดดันหรือความเครียดเข้ามาแทรก จนไม่มีเวลาดูแลสุขภาพกายและใจของตัวเอง ก็จะสูญเสียทั้งสองสิ่งไปอย่างง่ายดาย

การสูญเสียความมั่นใจส่งผลร้ายมากกว่าที่คิด เพราะเป็นเหมือนม่านบังตาที่ทำให้ไม่รู้จักตัวเอง ระแวงสายตาของคนอื่นไปหมด คิดว่าตัวเองไม่เก่งพอ ทั้งที่มีความสามารถเหมาะสม และยิ่งมีความคิดเช่นนี้มากเท่าไร ก็จะยิ่งบั่นทอนตัวเองมากขึ้นเท่านั้น

‘ความไม่มั่นใจ’ เป็นสิ่งอันตรายสำหรับการเป็นหัวหน้า

บ๊อบบี้ เซเรดิช (Bobi Seredich) นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาภาวะผู้นำ ได้เขียนบทความลงบนเว็บไซต์ Achievers เกี่ยวกับ ‘ความมั่นใจ’ ของคนเป็นหัวหน้า โดยมีใจความสำคัญว่า ความมั่นใจเป็นกุญแจดอกสำคัญที่พาไปสู่ประตูแห่งความสำเร็จ หากหัวหน้านำทีมด้วยความไม่มั่นใจแล้ว ก็จะไม่มีลูกทีมคนใดที่เชื่อมั่นในตัวหัวหน้าเลย และต่อให้หัวหน้าจะเก็บงำความไม่มั่นใจได้เก่งแค่ไหน ลูกทีมทุกคนก็รู้สึกได้อยู่ดี

และที่สำคัญงานวิจัยจาก Foundation University ประเทศปากีสถานเกี่ยวกับการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence หรือ EQ) กับความมั่นใจในตัวเอง ผลปรากฏว่า ทั้งสองสิ่งสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญ ถ้าเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเองก็จะมีพลังงานบวกอยู่รอบตัว ส่วนใครที่เต็มไปด้วยความไม่มั่นใจก็จะมีแต่ความเครียดและความรู้สึกหดหู่อยู่ภายใน

ดังนั้น ความไม่มั่นใจของหัวหน้าไม่ได้เป็นแค่ปัญหาที่ตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลกระทบไปยังการทำงานและความสัมพันธ์ภายในทีมด้วย

5 ทัศนคติอันตรายที่บั่นทอนความมั่นใจและความเป็นหัวหน้าของคุณ

change-your-mindset
Image by rawpixel.com on Freepik

หลังจากที่ทุกคนเข้าใจแล้วว่า ความไม่มั่นใจในตัวเองของหัวหน้าส่งผลเสียต่อทีมอย่างไรบ้าง เราจึงนำ 5 ทัศนคติอันตรายที่เป็นสาเหตุของความไม่มั่นใจมาฝากกัน เพื่อป้องกันไม่ให้ทุกคนตกลงไปในกับดักเหล่านี้

1. “ฉันทำอะไรไม่ดีสักอย่าง”

การที่รู้สึกว่าตัวเองทำอะไรไม่ดีสักอย่าง ถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายอยู่แล้วในยามที่ต้องเผชิญกับปัญหาที่ถาโถมเข้ามามากมาย โดยเฉพาะคนเป็นหัวหน้าที่ต้องจัดการกับงานหรือปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด และการที่จะพาตัวเองออกจากห้วงความคิดนี้ ต้องยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมก้าวข้ามความผิดพลาดอยู่เสมอ

2. “ถ้าทำอย่างนี้ จะถูกใจคนอื่นหรือเปล่า?”

ด้วยค่านิยมที่ถูกตีกรอบขึ้นมาในสังคม โดยเฉพาะการแสดงความสามารถหรือความเก่งกาจ คือการอวดภูมิความรู้ ทำให้หลายๆ คนไม่กล้าแสดงออก และกลายเป็นคนไม่มั่นใจในตัวเอง เพราะกลัวคำวิจารณ์ที่เกิดจากมาตรฐานของคนอื่น

3. “ฉันรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่ทำลงไป”

ความรู้สึกเสียใจที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาด ถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขได้ ต่อให้เสียใจหรือนึกคร่ำครวญไปก็เปล่าประโยชน์ ดังนั้น วิธีที่จะหลุดพ้นจากห้วงความคิดนี้ได้เร็วที่สุด คือจดจำผลของการตัดสินใจมาเป็นบทเรียนในการทำงานต่อไป

4. “ฉันไม่แน่ใจว่า ฉันคือคนที่เหมาะสมจริงๆ หรือเปล่า?”

การเป็นหัวหน้าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีบทพิสูจน์ความสามารถมากมายระหว่างทาง ซึ่งความยากลำบากของบทพิสูจน์ ทำให้หลายๆ คนนึกย้อนไปในอดีต และไม่สามารถก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซน (Comfort Zone) จนเกิดความไม่มั่นใจ และหลงลืมเป้าหมายในการเริ่มต้นใหม่ของตัวเอง

5. “ฉันเอาชนะอุปสรรคตรงหน้าต่อไปไม่ไหว”

ไม่ว่าจะเป็นอุปสรรคในการทำงาน หรือความผิดพลาดที่เกิดจากการตัดสินใจ ล้วนแต่เป็นประสบการณ์และบทเรียนที่ทำให้เติบโตขึ้นในการทำงาน ถึงแม้จะมีอุปสรรคเข้ามาบ่อยๆ จนรู้สึกท้อและหมดไฟ แต่การหยุดพักและค่อยๆ คิดอย่างเป็นขั้นเป็นตอน จะช่วยให้ออกจากห้วงความคิดเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น

จริงๆ แล้ว การแก้ปัญหาความไม่มั่นใจในตัวเองสามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการปรับมุมมองและเชื่อว่า “ฉันทำได้” เพราะทุกคนมีความเก่งเป็นของตัวเอง อยู่ที่ว่า จะดึงความเก่งมาใช้ประโยชน์ และทำให้ตัวเองเปล่งประกายได้อย่างไร?

Sources: https://bit.ly/3KQWSCH

https://bit.ly/3KRJnm0

https://bit.ly/3ATsQcY

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like