LOADING

Type to search

รีด Output ตลอดเวลา ต้องมี Top Performance ดีขึ้นเรื่อยๆ ‘Greedy Work’ วัฒนธรรมที่ดันคนทำงานแบบไร้เพดาน

รีด Output ตลอดเวลา ต้องมี Top Performance ดีขึ้นเรื่อยๆ ‘Greedy Work’ วัฒนธรรมที่ดันคนทำงานแบบไร้เพดาน
Share

“Greed is good. ความโลภเป็นสิ่งที่ดี” นี่คือหนึ่งในวรรคทองอันทรงพลังของกอร์ดอน เก็กโก (Gordon Gekko) ตัวละครในภาพยนตร์ระดับตำนานอย่าง ‘Wallstreet (1987)’ ที่พยายามนำเสนอแง่คิดจุดจบของความโลภ

ความโลภ ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น เป็นสิ่งที่พบได้ในตัวมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นคนธรรมดาเดินดิน หรือพระสงฆ์องคเจ้าก็ตาม เช่นเดียวกับบรรดาองค์กรจำนวนไม่น้อยเลย ที่ลึกๆ แล้ว ก็ใช้ความโลภเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนา ก้าวไปกับกระแสของทุนนิยมที่กำลังซ้ำเติมคนทำงานภายใต้ ‘Greedy Work’ วัฒนธรรมที่ดัน Performance แบบไร้เพดาน

แคลร์ เคน มิลเลอร์ (Claire Cain Miller) นักเศรษฐศาสตร์ของฮาร์วาร์ด (Harvard) ได้พูดถึงประเด็นนี้ในบทความเรื่อง ‘Women Did Everything Right: Then Work got Greedy’ บนเว็บไซต์สำนักข่าวเดอะนิวยอร์กไทม์ส (The New York Times) ไว้ว่า งานต่างๆ ได้กลายเป็นเหมือนปลาหมึกยักษ์ที่บีบคั้นชีวิตครอบครัว และเวลาว่างของคนทำงาน อย่างเช่น การเลี้ยงลูก เป็นต้น

เลสลี เพอร์โลว์ (Leslie Perlow) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Sleep With Your Smartphone: How to Break the 24/7 Habit and Change the Way, คณบดี และศาสตราจารย์ของโรงเรียนธุรกิจฮาร์วาร์ด (Harvard Business School) อธิบายว่า Greedy Work เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างขององค์กร

กล่าวคือ เป็นเรื่องสุดคลาสสิกที่หลายองค์กรพยายามรีด Output ใช้ KPI หรือ OKR เป็นตัวชี้วัดมากกว่าประสิทธิภาพ และกระบวนการ คาดหวังว่า จะมี Top Performance ดีขึ้นเรื่อยๆ แบบไร้เพดาน จากนั้น ตอบแทนด้วยเงินเดือนที่สูงลิ่ว ส่งผลให้เมื่อผู้คนยิ่งปีนป่ายสูงเท่าไร ระดับของ Greedy Work ก็ยิ่งเพิ่มขึ้นนั่นเอง

สอดคล้องกับรายงานเรื่อง ‘Long Work Hours, Part-Time Work, and Trends in the Gender Gap in Pay, the Motherhood Wage Penalty, and the Fatherhood Wage Premium’ ของคิม เอ วีเดน (Kim A. Weeden) ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล (Cornell University), ยังจู ชา (Youngjoo Cha) ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยอินเดียนา (Indiana University) และเมาริซิโอ บูคคา (Mauricio Bucca) ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาแห่งสถาบันมหาวิทยาลัยยุโรป (European University Institute) ชี้ให้เห็นถึงการเชิดชูคุณค่าของการทำงานหนักว่า

greedy-work 1

ตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พนักงานได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากการทำงานหนักหลายชั่วโมง ทุกวันนี้ คนที่ทำงาน 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไป จะได้รายได้มากกว่าคนที่ทำงานเพียง 35-40 เปอร์เซ็นต์มากถึง 8 เปอร์เซ็นต์ต่อชั่วโมงด้วย ซึ่งนั่นแปลว่า ยิ่งเราทำงานมากเท่าไร เงินเดือนก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น

นักวิจัยอธิบายว่า ‘เทคโนโลยี’ เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันผู้คนเข้าถึงได้ง่าย ทำงานจากระยะไกลได้มากขึ้น ธุรกิจต่างๆ เริ่มกระจายไปทั่วโลก เพราะฉะนั้น นี่เลยทำให้หลายๆ คนทำงานข้าม Time Zone ได้ 

อีกทั้ง ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญอย่าง ‘Gap ที่กว้างระหว่างผู้มีรายได้สูงที่สุดกับต่ำที่สุด และการเพิ่มจำนวนของงานที่ไม่มั่นคง’ ก็เข้ามาเกี่ยวด้วย งานเริ่มมีการแข่งขันกันมากขึ้น และชั่วโมงการทำงานหนักได้กลายเป็น ‘Status Symbol’ ไปโดยปริยาย

ชไนด์ (Schneid) มนุษย์ออฟฟิศสายอสังหาริมทรัพย์ วัย 35 ปี บอกว่า “การเต็มใจจะทำงานมากขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้หมายความว่าเราจะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ตาม แต่จริงๆ แล้วอาจจะได้มากกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ การ Trade-off ระหว่างเงินกับเวลาไม่ใช่เส้นตรง มันต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะได้รับการยอมรับ”

ในถนนแห่งความก้าวหน้า ทุกเส้นทางของการเติบโตในหน้าที่การงานมีราคาที่ต้องจ่ายเสมอ แม้จะได้รับเงินทองมากมายก็ตาม แต่อย่าลืมว่า ถึงที่สุดแล้ว ก็ต้องแลกไปกับบางอย่างอยู่ดี หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เต็มใจอยู่ภายใต้ Greedy Work วัฒนธรรมที่ดันคนทำงานแบบไร้เพดาน บางทีหลังจากอ่านบทความนี้จบ ก็อาจถึงเวลากลับมาทบทวนกับตัวเองก็ได้นะ

งานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่อย่าให้ทั้งชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของงาน เราทำงานเพื่อเอาเงินไปใช้ชีวิต ไม่ได้ใช้ชีวิตเพื่อทำงาน

Sources: https://bit.ly/3B986PE

https://nyti.ms/3AH84Nu

https://bit.ly/3QeZCL4

https://bit.ly/3TDfB8z

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1