LOADING

Type to search

ตาวิเศษเห็นนะ! เมื่อจับโป๊ะได้ว่าลูกน้องกำลังหางานใหม่ หัวหน้าควรทำยังไงดี?
Share

ปลายปีมักเป็นช่วงเวลาที่มนุษย์ออฟฟิศกลับมาคิดทบทวนถึงการลาออก ซึ่งก็ไม่ใช่แค่เพียงคนที่เป็นหัวหน้าอย่างเราๆ เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงลูกน้องในทีมด้วย

ในที่นี้ ถ้าเรายังคิดจะอยู่ต่อ แต่บังเอิญไปจับโป๊ะได้ว่าลูกน้องกำลังหางานใหม่ ก็น่าจะรู้สึกใจหายพอสมควรใช่ไหมล่ะ? แถมถ้าเกิดว่า ลูกน้องคนนั้นเป็นคนที่เราอุตส่าห์ปลุกปั้นขึ้นมาอย่างดี หวังว่าวันหนึ่งพอเขาเก่งขึ้นแล้วจะมาช่วยงาน เพื่อที่เราจะได้เหนื่อยน้อยลง ขยับไปทำอย่างอื่นแทน ก็คงจะรู้สึกเฟลมากกว่าเดิมแน่ๆ

โดยผลสำรวจหนึ่งของมอนสเตอร์​ (Monster) เว็บไซต์จัดหางานระบุว่า 28 เปอร์เซ็นต์ของคนทำงานบอกว่าใช้เวลาหางานใหม่ 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ รองลงมาคือ มากกว่า 5 ชั่วโมง และอันดับสุดท้ายคือ มากกว่า 10 ชั่วโมง

อีกทั้ง 1 ใน 4 ยังบอกอีกด้วยว่า เคยสัมภาษณ์งานผ่านการโทรคุยในเวลางาน, ครึ่งหนึ่งยอมรับว่า ได้แอบอัปเดต CVs ในเวลางาน และ 23 เปอร์เซ็นต์บอกเช่นกันว่า เคยใช้ข้ออ้างการป่วยเพื่อขอลางานไปสัมภาษณ์งานใหม่ด้วย

แล้วถ้าเราจับโป๊ะลูกน้องได้ว่า กำลังหางานใหม่ ไม่อยากให้บริษัทกลายเป็นโรงเรียนอนุบาลที่อยู่ได้แป๊บๆ ก็ย้ายหนีกันหมด จะรับมือกับปัญหาคลาสสิกนี้ยังไง? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปดูกัน!

4-things-leader-should-do-when-employee-is-looking-for-new-job 1

1. ประเมินคุณค่า เตรียมแผนฉุกเฉิน

“เรามักจะเห็นค่าของบางอย่างก็ต่อเมื่อเสียมันไปแล้ว”

อย่ารอให้หมดเวลาจนสุดท้ายต้องใช้ประโยคนี้กับตัวเอง เมื่อจับสัญญาณอ่อนๆ ได้แล้วว่า ลูกน้องกำลังจะจากไปเร็วๆ นี้ ให้ย้อนกลับมาทบทวนว่า พวกเขามีค่ากับทีม หรือเราแค่ไหน การลาออกของพวกเขาจะกระทบเรื่องสำคัญอะไรบ้าง?

อย่างเช่น ถ้าลูกน้องคนนี้ตบเท้าก้าวออกมาอาจจะมีคนที่สอง คนที่สาม คนที่สี่ตามติดๆ จะเกิด Turnover Contagion โรคติดต่อของการลาออกหรือไม่? ประเมินความเสี่ยง หาทางหนีทีไล่ก่อน เพื่อที่ว่าสมมติพวกเขาไปขึ้นมาจริงๆ เราจะได้กอบกู้สถานการณ์ได้ถูก และแพจะได้ไม่แตกไปมากกว่านี้นั่นเอง

2. หาว่า ‘มีอะไรที่ลูกน้องคนนั้นไม่พอใจกับงานรึเปล่า?’

นอกเหนือจากการลาออกไปเติบโต ก้าวไปสู่บทใหม่ๆ ของชีวิตแล้ว ว่ากันว่า อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้หลายๆ คนตัดสินใจแบบปุบปับรับโชค ขอลาออกไปตายเอาดาบหน้าก็หนีไม่พ้นเรื่องความไม่พอใจกับงาน อย่างเช่น ปัญหาเรื่องคน

ลองกลับมาถามตัวเองว่า ทำไมพวกเขาถึงอยากจะเปลี่ยนงาน งานตรงนี้มีส่วนไหนที่พวกเขาน่าจะไม่โอเคไหม ใช้พวกเขาถูกที่ ถูกทางรึเปล่า ที่ผ่านมาเรามอบ Recognition ให้พวกเขาเพียงพอหรือไม่? จากนั้น ให้รีบแก้ให้ถูกจุด ทำเท่าที่ทำได้ แต่ก็อย่าลืมด้วยว่า บางอย่างก็อยู่นอกเหนือการควบคุม คนจะไปก็ต้องไปอยู่ดี

4-things-leader-should-do-when-employee-is-looking-for-new-job 2
Image by katemangostar on Freepik

3. โฟกัสที่สภาพแวดล้อมกับ Career Path

โทมัส มิเนอรี (Thomas Minieri) เจ้าของมิเนอรีแอนด์คอมปะนี (Minieri & Company) อธิบายว่า แม้กระทั่งพนักงานที่จงรักภักดีกับบริษัทที่สุดก็ยังคิดเลยว่า บริษัทที่กำลังทำงานอยู่เป็นที่ที่ใช่จริงๆ สำหรับพวกเขาในวันนี้หรือไม่? แทนที่จะมัวนั่งเฟล ปล่อยเวลาทิ้งไปเปล่าๆ ในฐานะหัวหน้า ให้หันไปโฟกัสว่า เราพอจะสนับสนุนพวกเขายังไงได้บ้างแทน

อย่าเพิ่งแหวกหญ้าให้ลูกน้องตื่น หรือเดินไปบอกว่า “พี่รู้แล้วนะว่าเธอกำลังหางานใหม่” คุยกันตรงๆ ว่า พวกเขาวางแผนการเติบโตไปในทิศทางไหน Career Path กับเป้าหมายของบริษัทตอนนี้สอดคล้องกันรึเปล่า มีพื้นที่เพียงพอให้พวกเขาโตต่อไปไหม? รวมไปถึงสภาพแวดล้อมในการทำงานก็เช่นกัน เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เพื่อนร่วมงานที่ดี หัวหน้าที่ดี และสังคมการทำงานที่ดีต่างก็มีความสำคัญพอๆ กับเงินเดือนที่ใช้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องสำหรับหลายๆ คนด้วย

4. ทำตัวเป็นกองเชียร์ ‘อย่า Force ให้ลูกน้องอยู่ต่อ’

การลาออกของลูกน้องก็ไม่ต่างอะไรกับบทเรียนในหลักสูตรภาคบังคับที่หัวหน้าทุกคนต้องเจอ แม้เราจะให้ความรัก อุ้มชูพวกเขามากเท่าไร แต่ถึงที่สุดแล้ว ก็บังคับจิตใจกันไม่ได้อยู่ดี หากพวกเขาเดินมาบอกตรงๆ ว่า กำลังหางานใหม่ ให้เปิดใจให้กว้าง การลาออกเป็นเรื่องธรรมดาในโลกการทำงาน ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ยังไงวันนี้ก็ต้องมาถึง

คุยกันด้วยความเข้าใจ สนับสนุนซึ่งกันและกัน เพราะพวกเขาก็ได้เติบโตต่อ ไปใช้ชีวิตบทใหม่ๆ ในทางกลับกัน องค์กรเองก็จะได้เลือดใหม่ๆ คนใหม่ๆ เข้ามาขับเคลื่อนด้วย

วันนี้งานนี้ใช่ พอตื่นมาวันพรุ่งนี้อาจจะไม่ใช่ ความรู้สึก ความสุข เป้าหมายของคนเราแปรเปลี่ยนได้เสมอ และถ้าเอาปัญหานี้มาจับเข่าคุยกันตรงๆ แล้ว ก็น่าจะมีเหตุผลอีกร้อยแปดข้อ ทั้งเงื่อนไขชีวิต ความจำเป็น หรือแม้กระทั่งความรู้สึกไม่ Secure จากสถานการณ์บริษัทว่า ตัวเองจะกลายเป็นคิวต่อไปเมื่อไรเข้ามาเกี่ยวเช่นกัน

จริงๆ แล้ว การลาออกก็คล้ายกับการ Recycle ชีวิต หรือการเติบโตรูปแบบหนึ่งด้วย ไม่ว่าวันนี้คุณจะเป็นหัวหน้าที่กำลังนั่งเฟลอยู่ หรือลูกน้องที่กำลังคิดจะลาออก ก็ขอให้โชคดีกับทุกเส้นทางที่เลือกเดินนะ 🙂

Sources: https://bit.ly/3eNIpLX

https://bit.ly/3BenM31

https://bit.ly/3qRYRxz

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1

You Might also Like