Type to search

โฟกัสแต่เป้าหมาย จนละเลยใจทีม 3 เทคนิคบริหารให้ Win ทั้งเรื่อง ‘คน’ และ ‘งาน’

October 15, 2022 By Witchayaporn Wongsa
work-and-people

‘คน’ กับ ‘งาน’ หัวหน้าควรโฟกัสอะไรมากกว่ากัน?

คำถามโลกแตกที่ไม่ต่างกับปัญหาเชาว์สุดคลาสสิกอย่าง ‘ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน?’ สำหรับคนเป็นหัวหน้า

ถึงแม้จะเป็นคำถามที่มีคำตอบสวยหรูว่า “ไม่เห็นต้องโฟกัสที่อย่างใดอย่างหนึ่งเลย เพราะหัวหน้าต้องดูแลคนและบริหารงานให้สมดุลกันอยู่แล้ว” แต่ในความเป็นจริง หัวหน้าบางคนยังไม่สามารถโฟกัสเรื่อง ‘คน’ กับ ‘งาน’ ได้อย่างสมดุล ทำให้ต้องเลือกที่จะโฟกัสอย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่าอยู่ดี

และทุกการตัดสินใจก็มีราคาที่ต้องจ่าย เมื่อเลือกที่จะเก็บสิ่งหนึ่งไว้ ก็ต้องยอมเสียอีกสิ่งไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากหัวหน้าเลือกที่จะโฟกัสเรื่อง ‘คน’ และให้ความสำคัญกับการดูแลทีมมากกว่า ก็อาจจะเจอปัญหาการทำงานล่าช้า หรือคุณภาพของงานไม่เป็นไปตามต้องการ เพราะความใจดีที่ตัวเองมีมากเกินไป ทำให้ทีมรู้สึกว่าการทำงานเป็นเรื่องสบายๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใส่ใจก็ได้

แต่ถ้าหัวหน้าเลือกที่จะโฟกัสเรื่อง ‘งาน’ และมุ่งมั่นในการพิชิตเป้าหมาย จนพยายามรีด Output จากลูกทีมมากเกินไป ทีมจะยิ่งทำงานภายใต้ความกดดัน และไม่มีความสุขในการทำงาน ทำให้ความสัมพันธ์ของทีมพลอยแย่ลงเรื่อยๆ

ถึงแม้การเลือกโฟกัสอย่างใดอย่างหนึ่ง จะทำให้หัวหน้าทำงานง่ายขึ้น แต่ในมุมของลูกทีมหรือพนักงานระดับปฏิบัติการกลับมีความคิดเห็นที่ต่างออกไป

เจมส์ เซนเจอร์ (James Zenger) ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับนิยามของคำว่า ‘หัวหน้าที่ดี’ จากพนักงานจำนวน 60,000 คน โดยเขาแบ่งตัวเลือกออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ หัวหน้าที่บริหารงานเก่ง และหัวหน้าที่ดูแลทีมได้เป็นอย่างดี

ซึ่งผลการสำรวจค่อนข้างน่าสนใจเลยทีเดียว เพราะพนักงานถึง 72 เปอร์เซ็นต์ คิดว่า หัวหน้าที่ดีต้องทำทั้งสองอย่างได้สมบูรณ์ และมีพนักงานเพียง 26 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่คิดว่า หัวหน้าที่ดีทำแค่อย่างใดอย่างหนึ่งก็พอแล้ว

Goal and Teamwork
Image by Waewkidja on Freepik

ในเมื่อความสมดุลระหว่างการดูแลทีมกับการบริหารงาน ก็เป็นสิ่งที่พนักงานส่วนใหญ่ต้องการ คงถึงเวลาที่หัวหน้าต้องปรับวิธีการทำงานให้สมดุลมากขึ้นแล้ว

Future Trends จึงนำ 3 เทคนิคการบริหารให้ประสบความสำเร็จทั้งเรื่องคนและงานจากผู้ก่อตั้ง Fast Company สื่อธุรกิจชื่อดังในสหรัฐฯ อย่าง ‘บิล เทย์เลอร์’ (Bill Taylor) มาฝากทุกคนที่ยังหาสมดุลการบริหารงานของตัวเองไม่ได้ให้ลองนำไปปรับใช้กันดู

1. ตั้งคำถามเกี่ยวกับ ‘การจัดสรรเวลา’ ของตัวเอง

การจัดสรรเวลาในทีนี้ หมายถึงการจัดสรรเวลาการทำงานของทีม บางทีหัวหน้าพยายามอัดทุกอย่างให้ทีมทำในเวลาอันสั้น เพราะต้องการให้งานเสร็จตามเป้าหมายอย่างรวดเร็ว หรือบางทีหัวหน้าก็ขยายเดดไลน์ไปเรื่อยๆ จนงานไม่เสร็จเสียที

ดังนั้น หัวหน้าต้องกำหนดเวลาการทำงานแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจน และเป็นเวลาที่เหมาะสม ไม่มากไม่น้อยเกินไป เพื่อดึงศักยภาพการทำงานของลูกทีมแต่ละคนออกมาให้ได้มากที่สุด โดยที่ไม่จำเป็นต้องใส่ความกดดันลงไปในการทำงาน

2. ตั้งคำถามเกี่ยวกับ ‘ความเครียด’ ของตัวเอง

ด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบมากมาย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หัวหน้าจะรู้สึกเครียดกับการทำงาน ซึ่งความเครียดส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการตัดสินใจลดลง สื่อสารไม่รู้เรื่อง หรือแม้แต่การควบคุมอารมณ์ก็ตาม

หากความเครียดที่เกิดขึ้นมาจากเป้าหมายที่ยังไม่สำเร็จ บิลแนะนำว่า ให้หัวหน้าโฟกัสแค่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำงานที่ต้องรับผิดชอบในแต่ละวันด้วยความตั้งใจ ค่อยๆ แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นไปทีละขั้นตอน และมองเป้าหมายให้เป็นเพียงแรงจูงใจในการทำงานเท่านั้น

3. ตั้งคำถามเกี่ยวกับ ‘ลูกทีม’ ของตัวเอง

วิธีการทำงานที่เหมาะสม = วิธีการทำงานที่ดึงประสิทธิภาพของทีมได้มากที่สุด

ซึ่งการที่หัวหน้าจะบริหารงานได้อย่างสมดุลทั้งเรื่องคนและงาน ต้องทำความเข้าใจข้อจำกัดของทีมตัวเองให้ดีเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลาการทำงาน สไตล์การทำงานของแต่ละคน สิ่งที่เป็นแรงจูงใจของทีม และอื่นๆ อีกมากมาย

หากหัวหน้าไม่สามารถทำความเข้าใจในประเด็นเหล่านี้ได้ การบริหารงานให้สมดุลคงไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

จริงๆ แล้วคำว่า ‘สมดุล’ ในการบริหารงานไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ไม่จำเป็นต้องแบ่งการโฟกัสเรื่องคนและงานเป็น 50 เปอร์เซ็นต์เท่ากัน อาจจะมีการปรับเพิ่มหรือลดในสัดส่วนที่เหมาะสมตามความสบายใจของหัวหน้า หรือสถานการณ์ในช่วงเวลานั้นๆ และที่สำคัญต้องไม่โฟกัสที่อย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไป

Sources: https://bit.ly/3rtH4wI

https://bit.ly/3RuheDj

Trending

Witchayaporn Wongsa

Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)