‘ฟังจนหูชา แต่ไม่กล้าลุกหนี’ 10 วิธีที่จะช่วยให้เราออกจากบทสนทนาได้โดยไม่รู้สึกอึดอัด
เคยไหมที่ต้องทนนั่ง ไม่ก็ยืนฟังใครสักคนพูดเรื่องๆ หนึ่งเป็นเวลานาน จนบางทีหูของเราก็เริ่มจะรู้สึก ‘ชา’ ไปตามระเบียบ จะให้เฟดตัวออกมาก็ไม่กล้า ทั้งเกรงใจ ทั้งกลัวว่าจะกระทบต่อความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ หรือบางครั้งก็คิดมาก เพราะกลัวจะถูกมองว่า เราเป็นผู้ฟังที่ไม่ดีเอาซะเลย
คนไทยส่วนใหญ่มักมีนิสัย ‘ขี้เกรงใจ’ ไม่กล้าปฏิเสธ ไม่กล้าโต้แย้ง จนต้องยอมเสียเปรียบเพื่อให้เรื่องต่างๆ ผ่านไปด้วยดี ทั้งอยากอาจช่วยเพิ่มระดับความสัมพันธ์ได้ด้วยนะ
แต่บางครั้งความขี้เกรงใจนี้ก็นำผลเสียมาผู้กระทำเสียมากกว่า เพราะมัวแต่เกรงใจ เลยอาจทำให้เราเสียเวลา เสียโอกาสเลยก็ว่าได้ เช่นเดียวกับการทนฟังใครก็ตามพูดนู่นพูดนี่ เพราะไม่กล้าที่จะเฟดตัวออกมาจากบทสนทนานั้นๆ นอกจากจะเสียเวลา เสียโอกาสแล้ว ก็อาจทำให้เสียสุขภาพจิตด้วย
ครั้นจะให้เดินหนีหรือลุกออกมาดื้อๆ ก็ไม่ใช่แนวของคนไทยเสียด้วยสิ เพราะฉะนั้น ลองเอา ‘10 วิธีที่จะช่วยให้เราออกจากบทสนทนาได้โดยไม่รู้สึกอึดอัด’ ที่ Future Trends นำมาฝากในวันนี้ไปปรับใช้ดูมั้ยล่ะ
1. ใช้ประโยคคลาสสิก
‘เป็นการคุยที่สนุกมากเลย แต่ฉันต้องไปแล้ว’ การบอกไปเลยตรงๆ นั้นเป็นสิ่งที่ดีและชัดเจนอย่างมาก ทั้งสุภาพและตรงประเด็น แต่หากจะใช้ก็อย่าลืมนึกถึงเวลาด้วย เพราะเราไม่ควรพูดขัดการสนทนาโดยทันที ควรรอให้อีกฝ่ายพูดจบประเด็นแล้วค่อยขอตัวออกมา
2. มีธุระต้องไปทำต่อ
การโกหกเป็นสิ่งไม่ดี แต่บางทีใช้บ้างก็ไม่เสียหาย หากรู้สึกว่าบทสนทนามันช่างยืดยาดและยาวนาน ก็ลองหาธุระสักอย่างมาพูดดู เช่น ‘เรื่องแมวออกลูกเป็นเป็ดตลกมากอะเธอ แต่เรามีนัดถอนฟันตอนบ่ายโมง ขอตัวก่อนน้า’
การมีธุระจะทำให้เราดูเหมือนผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ อีกทั้งยังช่วยหยุดให้อีกฝ่ายคิดว่าเราไม่สนใจสิ่งที่เขากำลังพูดได้ด้วยนะ เพราะเรามีเหตุและความจำเป็นที่จะต้องออกมาจากบทสนทนานั่นเอง
3. ยื่นข้อเสนอ
บางครั้งเราก็อาจจะสนใจในสิ่งที่อีกฝ่ายกำลังพูดอยู่จริงๆ แต่เวลาก็มีอย่างจำกัดซะอย่างงั้น เพราะฉะนั้นลองยื่นข้อเสนอไปว่า ‘เรื่องที่แกเล่าน่าสนใจนะ อยากฟังต่อเลย แต่เราต้องไปแล้ว เดี๋ยวโทรหาไปฟังใหม่’ ก็ได้นะ
4. แนะนำอีกฝ่ายให้คนอื่นรู้จัก
หากอยู่ในงานสังสรรค์แล้วเจอใครสักคนที่พูดไม่หยุด ให้ลองคว้าคนที่อยู่ใกล้เราที่สุดและแนะนําเขาให้รู้จักกับคนที่เรากําลังคุยด้วย การใช้เทคนิคนี้จะทําให้อีกฝ่ายที่คุยด้วยในตอนแรกเสียสมาธิ และทำให้บทสนทนาเปลี่ยนเรื่องได้โดยที่ไม่ทำให้ใครอึดอัดใจ (บางทีเราก็อาจจะได้เป็นกามเทพโดยไม่รู้ตัวด้วยก็ได้นะ)
5. ดื่มน้ำ
เป็นวิธีที่นักแสดงในภาพยนต์มักใช้ในเรื่อง ซึ่งสามารถเอามาใช้ได้ในชีวิตจริง และเป็นวิธีที่ง่ายแบบสุดๆ โดยไม่ต้องมีใครอึดอัดใจเลยล่ะ
6. แป๊บหนึ่งนะ มีคนโทรมา
หากไม่รู้ว่าต้องทำยังไงถึงจะออกมาจากบทสนทนาได้ ลองใช้เทคนิค ‘มีคนโทรมา’ ดู ซึ่งวิธีนี้แอบสุ่มเสี่ยงเพราะอาจจะไม่ค่อย ‘เนียน’ สักเท่าไหร่ ดังนั้นการเอามาใช้ต้องดูบริบทกันสักนิด
7. นึกขึ้นได้ว่ามีอะไรต้องทำ
สำหรับเทคนิคนี้ ค่อนข้างคล้ายคลึงกับการมีธุระกะทันหัน โดยให้เราดูเวลาและจังหวะที่เหมาะสมก่อนจะขอตัวออกมาจากบทสนทนาด้วยเหตุผลอย่าง ‘ลืมไปเลยว่าต้องส่งเมลให้บริษัท ขอตัวก่อนนะ’ง่ายและได้ผลอย่างแน่นอน
8. ขอเข้าห้องน้ำก่อนนะ
เทคนิคที่เนียนในระดับหนึ่งอย่างการขอตัวไปเข้าห้องน้ำก็ใช้ได้นะ เพราะไม่ว่าใครก็มีความรู้สึกอยากเข้าห้องน้ำได้ทุกเวลาอยู่แล้ว อีกทั้งยังเป็นวิธีที่ช่วยให้หัวข้อของบทสนทนาเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว
9. พูดความจริง แต่ใช้ไหวพริบด้วย
ถ้าไปร่วมงานสักงาน แล้วเจอคนที่ชวนเราพูดไม่หยุด แม้ว่าเราจะแสดงท่าทีว่าอยากจะออกจากบทสนทนานี้ไปหลายแบบแล้วก็ตาม การพูดความจริงอาจจะเป็นเทคนิคที่เราควรใช้ เช่น ‘ฉันสัญญากับตัวเองว่าคืนนี้ฉันจะคุยกับคนอย่างน้อย 3 คน ดีใจที่ได้คุยกับเธอนะ ขอตัวก่อน’
เทคนิคนี้ต้องใช้อย่างมีไหวพริบด้วยนะ อย่าลืมที่จะสังเกตบริบทและความเหมาะสมด้วย ถ้าพิจารณาแล้วว่ามันไม่น่าเวิร์ค การขอตัวไปเข้าห้องน้ำน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า
10. ผู้ช่วยต้องมา
จบบทสนาแบบคนจิตใจดีด้วยการเสนอตัวเองเป็น ‘ผู้ช่วย’ ใครสักคน เคล็บลับคือมองไปรอบๆ ตัวเพื่อหาคนที่กำลังตกที่นั่งลำบาก และดูเหมือนต้องการความช่วยเหลือ จากนั้นก็ขอตัวออกไปจากบทสนาเลย!
การจบหรือออกมาจากบทสนทนากับใครสักคน มักจะดูเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและน่าลำบากใจ อยู่เสมอ เนื่องด้วยอุปนิสัย ‘ขี้เกรงใจ’ ที่อาจทชทำให้เราเสียเวลาและเสียโอกาสหลายๆ อย่างไประหว่างทาง ซึ่งแน่นอนว่าเราแก้นิสัยนี้ด้ เพียงเราสามารถทำให้มันเป็นเรื่องที่ง่ายและสบายใจที่จะทำผ่าน 10 วิธีข้างต้นนี้นั่นเอง
เขียนโดย ชนัญชิดา พลอยพลาย
Sources: