LOADING

Type to search

เมษาที่ผ่านมาคนโซเชียลสนใจอะไรกัน? รวม 10 ข่าวฮอตเดือนเม.ย. ที่ถูกพูดถึงมากที่สุด! โดย ZOCIAL EYE

เมษาที่ผ่านมาคนโซเชียลสนใจอะไรกัน? รวม 10 ข่าวฮอตเดือนเม.ย. ที่ถูกพูดถึงมากที่สุด! โดย ZOCIAL EYE
Share

เข้าสู่เดือนพฤษภาคมกันมาแล้ว แต่ก่อนหน้านี้ในเดือนเมษายนมีประเด็นข่าวร้อนและดราม่าบนโลกโซเชียลเกิดขึ้นมากมาย หลายๆ คนก็สงสัยกันว่าแล้วเรื่องไหนล่ะที่ร้อนทะลุปรอทบ้าง วันนี้เราเลยมาสรุปข่าวเด่นในเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่ามีเรื่องอะไรบ้าง และเรื่องไหนมียอดเอ็นเกจเมนต์สูงสุด 

ตลอดเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา ZOCIAL EYE พบข่าวฮอตที่ได้รับความสนใจจากชาวโซเชียลมากที่สุุด  10 อันดับ ซึ่งทั้ง 10 ข่าวนี้มีจำนวนข้อความรวมกันทั้งหมดถึง 173,925 ข้อความ และมียอดเอ็นเกจเมนต์ทั้งหมดถึง 9,501,867 เอ็นเกจเมนต์ โดยข่าวที่มียอดเอ็นเกจเมนต์สูงสุดในเดือนเม.ย. 63  ได้แก่ 

อันดับ 1: “ยานเกราะ” ที่พูดถึงการจัดซื้อยานเกราะ โดยพบว่าได้รับความสนใจสูงสุดในวันที่วันที่ 22 เม.ย. 63 มียอดเอ็นเกจเมนต์สูงสุดอยู่ที่ 1,512,843 เอ็นเกจเมนต์ 

อันดับ2: #CPTPP ประเด็นข่าวที่ได้รับความสนใจรองลงมาครับ เมื่อไทยต้องการเข้าร่วมการตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือที่รู้จักกันว่า CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership) ซึ่งการเข้าร่วมนี้ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงและพูดถึงเป็นอย่างมากในโลกโซเชียล ซึ่งพบยอดเอ็นเกจเมนต์พุ่งขึ้นสูงในวันที่ 27 เม.ย. 63 โดยมียอดเอ็นเกจเมนต์ 964,915 เอ็นเกจเมนต์ 

อันดับที่ 3: “ค่าไฟแพง” อยู่ดีๆ ค่าไฟแทบจะทุกบ้านก็สูงขึ้นแบบผิดหูผิดตา จนผู้คนต่างออกมาโพสต์บนโซเชียลว่าเกิดอะไรขึ้นกับค่าไฟที่แพงขึ้นแบบนี้ จนวันที่ 20 เม.ย. ประเด็นนี้มีค่าเอ็นเกจเมนต์สูงถึง 928,998 เอ็นเกจเมนต์เลยทีเดียวครับ 

อันดับ 4: #ชานมข้นกว่าเลือด ดราม่าที่เริ่มต้นขึ้นจากทวิตเตอร์ ที่ชาวโซเชียลและแฟนคลับต่างพูดถึงประเด็นดาราไทยคนหนึ่งที่ดังในประเทศจีนด้วย ตามมาด้วยการที่แฟนคลับหยิบเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับไทยและจีน มาถกเถียงกัน จนเกิดเป็นกระแสดราม่ามาแรงข้ามประเทศในโลกออนไลน์ พบยอดเอ็นเกจเมนต์สูงสุดวันที่ 14 เม.ย. โดยมีจำนวน 439,066 เอ็นเกจเมนต์

อันดับ 5: “กรุงเทพฯ ประกาศงดขายเหล้า” เมื่อยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในไทยเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มมีมาตรการของรัฐออกมาเพื่อหยุดการระบาดของโรคนี้ ตั้งแต่กักตัวอยู่บ้าน ปิดสถานที่บางแห่ง จนมาถึงประกาศงดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่สร้างความแปลกใจให้กับประชาชนไม่น้อย โดยประเก็นนี้มียอดเอ็นเกจเมนต์สูงสุดวันที่ 9 เม.ย. โดยมีจำนวน 178,184 เอ็นเกจเมนต์ 

อันดับ 6: #โจนูโว ประเด็นดราม่าของนักร้องชื่อดังที่ออกมาแสดงความคิดเห็นบนโลกโซเชียลในแก้ปัญหา COVID-19 ที่ออกจะดุเดือดไปสักหน่อย จนเกิดเป็นประเด็นร้อนที่ชาวโซเชียลต่างพูดถึง ส่งผลให้มียอดเอ็นเกจเมนต์สูงสุดวันที่ 16 เม.ย. โดยมี 173,326 เอ็นเกจเมนต์ 

อันดับ 7: “ไฟป่าภาคเหนือ” นับว่าเป็นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมไทยที่น่าเป็นห่วงอยู่เช่นกัน จนทำให้เกิดกระแสโซเชียลโพสต์ถึงสถานการณ์ไฟป่าที่เกิดขึ้น พร้อมเสนอแนะแนวทางแก้ไข ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเรื่องฮอตที่พบยอดเอ็นเกจเมนต์สูงสุดวันที่ 3 เม.ย. โดยมี 161,966 เอ็นเกจเมนต์ 

อันดับ 8: “ผู้ป่วยรายใหม่เหลือเลขตัวเดียว” หลังจากที่คนไทยต่อสู้กับ COVID-19 มาเป็นเวลาหลายเดือน ในที่สุดจากการร่วมมือร่วมใจกัน ทำให้ยอดผู้ป่วยลดลงจนเหลือแค่เลขหลักเดียว นับว่าเป็นเรื่องดีๆ ในสังคมไทยในช่วงนี้ ซึ่งพบยอดเอ็นเกจเมนต์สูงสุดวันที่ 27 เม.ย. โดยมี 70,198 เอ็นเกจเมนต์

อันดับ 9: “หนีกักตัวสุวรรณภูมิ” ก่อนที่ไทยจะคุมสถานการณ์ให้เหลือผู้ป่วยรายใหม่เหลือเลขตัวเดียว ก็ต้องเจอกับดราม่าเหตุการณ์คนไทยที่กลับมาจากต่างประเทศหนีการกักตัว ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้คนวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก พร้อมกับความกังวลว่า จะมียอดผู้ป่วย COVID-19 เพิ่มอีกระลอกหรือเปล่า ซึ่งเรื่องนี้พบยอดเอ็นเกจเมนต์สูงสุดวันที่ 4 เม.ย. โดยมี 54,103 เอ็นเกจเมนต์

อันดับ 10: “เปิดผนึกจดหมาย 20 เศรษฐี” เพื่อขอความช่วยเหลือให้กู้วิกฤต COVID-19 นี้ โดยตามการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes มีรายชื่ออดีตนายกฯ ที่ไม่ได้อยู่ที่ในไทยแล้วอยู่ด้วย เลยเป็นประเด็นร้อนที่ชาวโซเชียลให้ความสนใจและพูดถึง พบยอดเอ็นเกจเมนต์สูงสุดวันที่ 21 เม.ย โดยมี 36,930 เอ็นเกจเมนต์

นี่ก็คือข่าวและดราม่าที่ได้รับความสนใจในโลกออนไลน์ตลอดเดือนเมษายน 2563 ช่วยให้เราเห็นว่าเกิดประเด็นสำคัญอะไรในสังคมไทยบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นข่าวที่มีความเกี่ยวข้องกับ COVID-19 ที่อาจจะพูดได้ว่าวิกฤตการนี้ก็ส่งผลกระทบต่อสังคมไทยในด้านต่างๆ พอสมควร แต่อย่างน้อยก่อนจะหมดเดือนไปก็ถือว่ามีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นกับยอดผู้ป่วยที่เริ่มลดน้อยลง หวังว่าในเดือนพฤษภาคมนี้จะมีข่าวดีมาให้ชาวไทยได้ดีใจกัน

ข่าวประชาสัมพันธ์จาก Wisesight