LOADING

Type to search

เราจะรับมืออนาคตอย่างไร? ในโลกที่ทุกคนอาจตกงาน

เราจะรับมืออนาคตอย่างไร? ในโลกที่ทุกคนอาจตกงาน
Share

คอลัมน์ WTF! : What The Future!
เขียนโดย S.siravich


จากทิศทางความเปลี่ยนแปลง และอิทธิพลที่เทคโนโลยีมีต่อสังคมปัจจุบัน อนาคตที่ว่าวันหนึ่งปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติจะมาทำงานแทนที่เรานั้น ดูเหมือนไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้

และเมื่อวันนั้นมาถึง มันอาจไม่ใช่แค่เรื่องของคนตกงาน แต่เป็นปัญหาระยะยาวอย่างเช่น การเกิดขึ้นของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ใช่แค่หางานได้ยาก แต่ไม่มีวันที่จะหางานได้ เพราะทักษะต่างๆถูกเทคโนโลยีทำแทนไปหมดแล้ว ทำให้พวกเขาไม่มีเหตุผลที่จะต้องสร้างทักษะใดๆให้กับตัวเอง นี่คือสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ Yuval Noah Harari ทำนายไว้ การเกิดขึ้นของ Useless Class

ไปจนถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่จะตามมา เมื่อเทคโนโลยีช่วยให้ธุรกิจเติบโต และส้รางผลกำไรได้โดยไม่ต้องพึ่งแรงงานมนุษย์ และทำให้ไม่เกิดการกระจายรายได้สู่คนในสังคม

เราจะรับมือกับอนาคตเหล่านี้ได้อย่างไร

ภาษีหุ่นยนต์

แนวคิดที่มีเพื่อรับมือกับความเหลื่อมล้ำที่จะเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ เมื่อระบบอัตโนมัติทำให้ผู้ครอบครองเทคโนโลยีสามารถสร้างผลกำไรและเติบโตขึ้นได้ โดยอาศัยแค่การลงทุนกับเทคโนโลยี แต่ไม่มีการสร้างตำแหน่งงานใหม่ให้เกิดขึ้น และไม่เกิดการกระจายรายได้

ซึ่งภาษีนี้จะเรียกเก็บจากผู้ที่ใช้แรงงานหุ่นยนต์ หรือใช้ระบบอัตโนมัติ ตามสัดส่วนของแรงงานที่ถูกแทนที่ เพื่อจะนำเงินเหล่านี้มาจัดสรร และช่วยเหลือคนที่ไม่ใช้ผูครอบครองเทคโนโลยี ไม่ได้ใช้หุ่นยนต์ทำงาน และคนที่ตกงานจากสภาวะใหม่นี้ 

หนึ่งในเหตุผลที่พยายามสนับสนุนแนวคิดนี้ คือการบอกว่าคนทำงานล้วนต้องเสียภาษีเงินได้ ซึ่งเป็นภาษีจากรายได้จากการทำงาน เมื่อหุ่นยนต์เข้ามาทำงานในตำแหน่งเดียวกันนั้น หุ่นยนต์ก็สมควรที่จะเสียภาษีเช่นเดียวกับคนทำงาน ซึ่งแน่นอนเมื่อหุ่นยนต์ไม่ได้มีกระเป๋าเงินของตัวเอง ผู้เป็นเจ้าของหุ่นยนต์ หรือระบบอัตโนมัตินั้นเองที่จะต้องจ่ายภาษีก้อนนั้น

และนั่นอาจเป็นเรื่องดี เพราะมันสามารถทำให้การเติบโตของที่ดำเนินกิจการด้วยระบบอัตโนมัติ กระจายความเจริญมาสู่สังคมโดยรวม หรืออาจทำให้ถึงขั้นที่คนทั่วไปไม่จำเป็นต้องทำงานอีกต่อไป แต่มีรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ

Universal Basics Income

สิ่งหนึ่งที่อาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่องานต่างๆที่เราทำถูกระบบอัตโนมัติเข้ามาแทนที่ คือปัญหาเรื่องของการกระจายรายได้

แนวคิดอย่าง Universal Basic Inceom คือการกำหนดในประชาชนมีรายได้พื้นฐานถ้วนหน้าเหมือนกัน เป็นรายได้ที่จะถูกโอนเข้ากระเป๋าของผู้ที่อยู่ในสำมะโนประชากรทุกเดือน เหมือนเงินเดือนให้เปล่า

การทำเช่นนี้ได้มีเงื่อนไขอยู่หลายปัจจัยเช่นการเติบโตของธุรกิจต่างๆ การเก็บภาษี และการจัดการของภาครัฐ แต่หากทำได้สำเร็จ สิ่งนี้อาจเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนไปโดยปริยาย

แต่ก็ยังคงมีคนที่ไม่สนับสนุนให้แนวคิด Universal Basics Income นำมาใช้จริงอยู่ เพราะพวกเขามองว่าหากขาดเงินที่เป็นแรงจูงใจหลักไป ผู้คนจะไม่ทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันกับชีวิต 

และยังมีการเสนอให้ผู้คนหันมาทำ “งานหลอก” งานที่ไม่ได้ก่อให้เกิดอะไรจริงๆ แต่เป็นวิธีบังคับให้คนออกมาทำงานเพื่อให้มีเงินใช้ ซึ่งแนวคิดนี้อาจช่วยหยุดยั้งการเกิดขึ้นของ Useless Class คนที่เติบโตมาในยุคที่หุ่นยนต์ทำงานแทนมนุษย์แล้ว และไม่สร้างทักษะติดตัว เพราะไม่รู้ว่ามันจะนำไปทำอะไรต่อได้ “งานหลอก” อาจเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนยังพัฒนาทักษะต่อไป แม้หุ่นยนต์มาทำงานแทนเราแล้ว

อย่างไรก็ดี หากทั่วโลกสามารถสำเร็จ Universal Basics Income ได้ สิ่งนี้อาจไม่ใช่แค่การรับประกันรายได้ของผู้คน แต่เป็นการปลดเเอกมนุษย์จากการเป็นแรงงาน เมื่อหุ่นยนต์กลายเป็นชนชั้นแรงงานให้กับเราแทน นั่นอาจไม่ได้ความอย่างเดียวว่าเราถูกแย่งงาน แต่มันอาจเป็นการทำให้มนุษย์ได้ใช้เวลากับสิ่งที่ควรค่ากับเวลาของเราจริงๆ

ความเปลี่ยนแปลงนี้อาจเปลี่ยนสถานะเราจากแรงงาน สู่การเป็นผู้รังสรรค์ งานศิลปะจะเฟื่องฟูขึ้น เพราะแม้หุ่นยนต์จะวาดภาพได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าหุ่นยนต์จะแย่งงานศิลปะไปจากเราได้ ศิลปะเป็นเรื่องของมุมมองและรสนิยม งานศิลป์ของมนุษย์ และหุ่นยนต์จึงอยู่ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด บทเพลง หรือวรรณกรรม

เมื่อมนุษย์ทุกคนไม่จำเป็นต้องทำงานอีกต่อไป เราสามารถใช้เวลากับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ขึ้นมา ไม่ใช่แค่ศิลปะ แต่อาจเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ หลักคิดปรัชญา ไปจนถึงความเชื่อและศาสนา

แต่ในความจริงก็เป็นเรื่องยากมากที่งานทั้งหลายจะหมดไปได้จริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากในวันหนึ่งอารายธรรมของมนุษย์ได้ขยายขอบเขตออกไป

การขยายขอบเขตอารายธรรมมนุษย์

ความเชื่อหนึ่งของ Elon Musk ที่ทำให้เขามุ่งมั่นในการพัฒนา SpaceX และโครงการสร้างอาณานิคมบนดาวอังคาร คือความเชื่อที่ว่า

หากเราจะทำให้อารายธรรมธรรมมนุษย์ดำรงอยู่อยย่างมั่นคง เราจำเป็นจะต้องขยายอาณาเขตของเราออกไป

Elon Musk เชื่อตามแนวคิดที่นำเสนอในนิยายวิทยาศาสตร์ชุด “สถานบันสถาปณา” (Foundation) ของ Issac Asimov ว่าทางที่จะทำให้อารายธรรมเติบโตได้อย่างมั่นคงแท้จริงนั้น มนุษย์จะต้องสร้างอาณานิคมบนอวกาศได้

หากวันนั้นมาถึงอย่างแท้จริง แม้เราจะมีหุ่นยนต์ที่ทำงานทุกอย่างได้อย่างเหนือชั้น แต่ความต้องการในแรงงานมนุษย์ก็จะไม่มีวันหมดไป ตราบใดที่เรายังคงออกไปค้นหา และก่อตั้งอาณานิคมใหม่ๆ แผ่ขยายพื้นที่ของเราออกไป เพราะฉะนั้นแล้วการรับมืออนาคตที่หุ่นยนต์แทนที่คน อาจเป็นการออกไปค้นหาถิ่นฐานใหม่ในอวกาศก็เป็นได้


ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของทฤษฎีมากมายที่ถูกคาดเดาไว้ สำหรับวันที่หุ่นยนต์ทำงานต่างๆแทนคน และเราอยู่ในจจุดที่ไม่มีงานทำ หรือไม่มีทักษะที่จำเป็นใดๆอยู่แล้ว

แต่ในความจริงแล้ว อนาคตไม่เคยถูกสลักไว้บนศิลา ความเปลี่ยนแปลงเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา อนาคตที่ว่าอาจมาถึงเร็วกว่าที่คิด ที่อาจมีอนาคตอื่นมาแทนที่ เราก็ไม่อาจคาดเดาได้