‘Work from Anywhere’ จุดเริ่มต้นการปะทะระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง ‘หัวกะทิ’ ที่ไม่อยากเข้าออฟฟิศ
‘Future Trends: Forward’ ซีรีส์บทความรับปีใหม่ มองไปข้างหน้าในปี 2023 ทั้งทางธุรกิจ เทคโนโลยี การทำงาน และเหตุการณ์รอบโลก เพื่อคาดการณ์เทรนด์สำคัญที่รออยู่ในอนาคต
นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 วิถีชีวิตของเราก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ไม่ใช่แค่การเว้นระยะห่าง การสวมหน้ากากอนามัย หรือการทำธุรกรรมต่างๆ ออนไลน์ แต่ยังรวมถึงการถูกล้างรูปแบบการทำงานเดิมๆ เปลี่ยนไปเป็น Work from Home และ Work from Anywhere
ปี 2023 รูปแบบการทำงานจากที่ไหนก็ได้ หรือ Work from Anywhere จะไม่ได้เป็นเพียงเทรนด์การทำงานที่มนุษย์ออฟฟิศใฝ่ฝันถึงอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นจริงในหลายองค์กร และอาจเป็นชนวนความขัดแย้งครั้งใหม่ระหว่างหัวหน้ากับพนักงานระดับ ‘หัวกะทิ’ของบริษัท
อะไรทำให้ Work from Anywhere กลายเป็นประเด็นร้อนในปีนี้? Future Trends จะพาไปดูกัน
จาก Hybrid Working สู่ Work from Anywhere
บรูซ เดสลีย์ (Bruce Daisley) ผู้ให้คำปรึกษาด้านวัฒนธรรมการทำงาน และเจ้าของหนังสือ Fortitude กับ The Joy of Work ระบุในนิตยสาร The WIRED World in 2023 ไว้อย่างน่าสนใจว่า Work from Anywhere จะกลายเป็นเทรนด์การทำงานรูปแบบใหม่ที่มาแรงในปีนี้ เนื่องจากเป็นวิถีการทำงานที่ได้รับความนิยมในหมู่พนักงานระดับหัวกะทิ (Top Talent)
เขาอ้างอิงข้อมูลจาก ราจ เชาดูรี (Raj Choudhury) นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งอธิบายถึงประวัติศาสตร์การทำงาน ที่ชี้ให้เห็นถึงอำนาจต่อรองที่แท้จริงว่า ไม่ใช่อยู่ในมือของหัวหน้า หรือผู้จัดการบริษัท แต่อยู่กับบรรดา Top Talent ที่หลายบริษัทอยากได้ตัวไปร่วมงาน
ข้อมูลนี้เท้าความไปถึงช่วงทศวรรษ 1990s ซึ่งการใช้อีเมลบนโทรศัพท์มือถือยังเป็นสิทธิพิเศษที่สงวนไว้ให้กับซีอีโอของบริษัทเท่านั้น แต่หลังจากนั้น บรรดา Top Talent มีการเรียกร้องต้องการบ้าง ต่อมาอีเมลจึงกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับทุกคน
ในมิติของการทำงานก็เช่นกัน ทุกวันนี้ Top Talent ไม่ได้ต้องการแค่ทำงานแบบไฮบริด (Hybrid Working) แต่ปรารถนาความยืดหยุ่นที่มากขึ้นอย่าง Work from Anywhere โดยเชาดูรี เสริมว่า ทุกวันนี้มีบริษัทอยู่ 2 ประเภท คือ ประเภทที่ยอมรับ และไม่ยอมรับเทรนด์การทำงานรูปแบบใหม่นี้
เขาแสดงความคิดเห็นว่า บริษัทประเภทหลังจะสูญเสีย Top Talent บางส่วนไป และความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะบังคับให้บริษัทต้องปรับตัวตามในที่สุด
ข้อมูลของนิค บลูม (Nick Bloom) นักเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Standford University) ยังชี้ให้เห็นว่า ในเดือนมิถุนายน 2020 บริษัทส่วนใหญ่คาดหวังให้พนักงาน Work from Home ประมาณ 1 วันครึ่งต่อสัปดาห์ แต่สองปีต่อมา ความคาดหวังนี้ค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดบริษัทคาดหวังให้พนักงาน Work from Home นานกว่าครึ่งของสัปดาห์แล้ว
แม้ไม่ง่าย แต่ก็ควรเปลี่ยน
บริษัทที่ปรับตัวรับวัฒนธรรมการทำงานรูปแบบใหม่แบบ Work from Anywhere ได้ดีที่สุด ส่วนใหญ่เป็นบริษัทสตาร์ทอัป โดยบรูซ ระบุว่า ปี 2023 จะมีสตาร์ทอัปจำนวนมากขึ้นที่หันไปใช้นโยบายให้พนักงานทำงานทางไกลเป็นหลัก (remote-first)
ส่วนบริษัทรุ่นเก่าจะเริ่มหันมาคิดชั่งน้ำหนักกันมากขึ้นว่า จะยังคงยึดรูปแบบการทำงานในออฟฟิศ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงด้านอสังหาฯ และรักษาผู้จัดการหัวเก่าที่ปรับตัวได้ช้าเอาไว้ต่อไป หรือหันไปตามเทรนด์ใหม่ ให้พนักงานทำงานที่ไหนก็ได้เพื่อความคล่องตัว
จากรายงานวิจัยสถานที่ทำงานของบริษัทลีสแมน (Leesman) ชี้ให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว การทำงานที่ออฟฟิศได้รับความนิยมเฉพาะในหมู่ผู้บริหารที่มีห้องทำงาน หรือพื้นที่ประชุมส่วนตัวเป็นของตนเอง ด้วยเหตุนี้ ในปี 2023 ผู้จัดการบางบริษัทจะใช้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเป็นข้ออ้าง เรียกให้พนักงานกลับออฟฟิศอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม นี่อาจสายเกินไป เพราะเหล่าพนักงาน Top Talent ได้ตัดสินใจเป็นที่เรียบร้อยแล้วว่า พวกเขาต้องการ Work from Anywhere และจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามครั้งใหม่ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องหัวกะทิ ซึ่งพร้อมจะลาออกไปหางานใหม่ เพื่อให้ได้ทำงานจากที่ไหนก็ได้ตามต้องการ
ถึงเวลาแล้วสินะที่ฉันต้องโยกย้าย
นิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) เผยผลสำรวจของนักเศรษฐศาสตร์ และเหล่าคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กับไอทีเอเอ็ม (ITAM) ในเม็กซิโก จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 2,000 คน พบว่า การ Work from Anywhere หรือ Work from Home เปิดโอกาสให้พนักงานแอบไปสัมภาษณ์งานใหม่ได้ง่ายขึ้น
แอนโตนิโอ เนฟส์ (Antonio Nevers) ผู้แนะนำแนวทางการสมัครงานสำหรับกลุ่มทำงานวัยกลางคนยังบอกด้วยว่า ไม่ใช่แค่พนักงานที่อาศัยโอกาสนี้ไปสัมภาษณ์งานใหม่ แม้แต่นายจ้างเองก็ใช้ระยะเวลาที่พนักงานไม่เข้าออฟฟิศ มองหาลูกจ้างใหม่ด้วย เนื่องจากลึกๆ แล้ว บริษัทก็อยากรู้เช่นกันว่า โลกภายนอกมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง?
แม้โควิด-19 จะเข้ามาสร้างความบอบช้ำ ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ แต่อย่างน้อยที่สุด มันก็พิสูจน์ให้เห็นว่า ระยะทางไม่ใช่ปัญหาของการทำงานแต่อย่างใด ดังนั้น อาจถึงเวลาแล้วที่บริษัทจะกลับมาทบทวนถึงความต้องการของพนักงานเพื่อสร้างสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายเป็นผู้ชนะ (Win-win situation) ให้เกิดขึ้นนั่นเอง
Sources: นิตยสาร The WIRED World In 2023