LOADING

Type to search

ทำไม ‘Neuralink’ ของ ‘อีลอน มัสก์’ มีโอกาสไปไม่ถึงฝั่งฝัน?

ทำไม ‘Neuralink’ ของ ‘อีลอน มัสก์’ มีโอกาสไปไม่ถึงฝั่งฝัน?
Share

‘Future Trends: Forward’ ซีรีส์บทความรับปีใหม่ มองไปข้างหน้าในปี 2023 ทั้งทางธุรกิจ เทคโนโลยี การทำงาน และเหตุการณ์รอบโลก เพื่อคาดการณ์เทรนด์สำคัญที่รออยู่ในอนาคต

หลายคนคงได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘Brain-Machine Interface’ (BMI) หรือการสั่งการคอมพิวเตอร์ด้วยสมองกันมาสักพักแล้ว เพราะนอกจากจะเป็นแนวคิดที่ปรากฏในภาพยนตร์ไซไฟเรื่องดังอย่าง ‘The Matrix’ ยังเป็นนวัตกรรมที่นักวิจัยและนักพัฒนาต้องการสร้างให้สำเร็จ เพื่อเป็นประโยชน์สูงสุดแก่มวลมนุษยชาติ

ถึงแม้ BMI จะเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างแพร่หลายในสังคม แต่กระบวนการที่ซับซ้อน ทำให้หลายคนมองว่า BMI เป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจริงได้ยาก และกว่าจะนำมาใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ต้องรอไปอีกหลายสิบปี เพราะการทำงานของ BMI แบบ Inversion ต้องอาศัยการฝังชิปเข้าไปในสมอง ถือเป็นขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของชีวิตโดยตรง

แต่ชายที่ชื่อ ‘อีลอน มัสก์’ ทำให้มุมมองที่หลายคนมีต่อ BMI เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อเขาเปิดตัว ‘Neuralink’ สตาร์ตอัปที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับ BMI แบบ Inversion ในปี 2019 หลังจากเตรียมงานอย่างลับๆ มาเกือบ 3 ปี ด้วยความเชื่อที่ว่า มนุษย์ไม่มีทางเก่งกว่า AI นอกจากจะต้องอยู่รวมกันอย่างชาญฉลาดเท่านั้น

วิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นของมัสก์ ทำให้หลายคนเฝ้ารอความสำเร็จของ Neuralink และความเคลื่อนไหวครั้งสำคัญก็มาถึง เมื่อปลายปี 2022 มัสก์ประกาศผ่านงาน Neuralink Show and Tell ว่า Neuralink จะเริ่มทดลองกับมนุษย์คนแรกภายใน 6 เดือนข้างหน้า หรือภายในปี 2023 นั่นเอง

เมื่อการทดลองครั้งสำคัญของ Neuralink ที่มัสก์รอมาตลอดกำลังจะเกิดขึ้น เส้นทางในอนาคตของ Neuralink จะเป็นอย่างไร? Future Trends จะพาไปสำรวจพร้อมๆ กัน

ฝากชีวิตไว้กับ ‘การทดลองในมนุษย์คนแรก’

ก่อนหน้านี้ แผนการทดลองในมนุษย์คนแรกของ Neuralink ถูกเลื่อนมาเรื่อยๆ เพราะอยู่ระหว่างทำเรื่องขออนุญาตกับ FDA หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของสหรัฐฯ

Neuralink ย่อมฝากความหวังไว้กับการทดลองในมนุษย์มาก เพราะนอกจากจะเป็นสิ่งที่กำหนดชะตาชีวิตของบริษัทแล้ว ยังเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า สิ่งที่ทีมเชื่อมั่นสามารถเป็นจริงได้ และนวัตกรรมที่ทีมพัฒนาร่วมกันมีประสิทธิภาพต่อการใช้งานจริง ไม่ว่าจะเป็นเส้นด้ายส่งสัญญาณแบบยืดหยุ่น (threads) ที่รองรับการส่งข้อมูลจำนวนมาก และหุ่นยนต์ R1 ที่ทำหน้าที่ฝังเส้นด้ายส่งสัญญาณในสมอง

ดังนั้น หากการทดลองในมนุษย์ประสบความสำเร็จไปด้วยดี ก็คงถึงคราวที่ Neuralink จะเติบโตอย่างรวดเร็วตามเป้าหมายของมัสก์ เพราะเขาเคยบอกว่า Neuralink เติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้มาก และถึงเวลาที่บริษัทต้องเดินหน้าต่อเสียที

Neuralink

เส้นทางในอนาคตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

เส้นทางที่จะพา Neuralink ไปสู่การทดลองในมนุษย์คนแรกไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่คิด และเป็นเส้นทางที่ขรุขระด้วยซ้ำ เพราะการทดลองของ Neuralink เต็มไปด้วยคำถามที่สังคมต้องการคำตอบอย่างชัดเจน

คำถามที่ 1: Neuralink ทำการทดลองในสัตว์มากเกินจำเป็นหรือไม่?

ถึงแม้การทดลองในสัตว์จะเป็นขั้นตอนพื้นฐานของการพัฒนานวัตกรรมที่ใช้กับมนุษย์ แต่การทดลองของ Neuralink ตั้งแต่ปี 2018 ทำให้สัตว์ทดลองเสียชีวิตไปแล้วประมาณ 1,500 ตัว จากแรงกดดันที่ต้องสร้างนวัตกรรมให้สำเร็จอย่างรวดเร็ว ซึ่งรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ไม่สามารถปล่อยผ่านเรื่องนี้ได้ และต้องเข้ามาตรวจสอบว่า นี่คือการละเมิดสวัสดิภาพของสัตว์หรือไม่

คำถามที่ 2: Neuralink จะสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยอย่างไร?

ความปลอดภัยในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงความปลอดภัยทางร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์ด้วย

การฝังชิปในสมองเป็นการนำสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งร่างกายของแต่ละคนจะตอบสนองไม่เหมือนกัน หากร่างกายต่อต้านอย่างรุนแรง อาจเกิดผลข้างเคียงที่อันตรายได้ ประเด็นนี้จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ Neuralink ต้องกำหนดขอบเขตการรับผิดชอบของตัวเองให้ชัดเจน

นอกจากนี้ การเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์โดยอาศัยตัวกลางเป็นชิปประมวลผลและ database ขนาดใหญ่ ทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า ระบบการปกป้องข้อมูลผู้ใช้งานของ Neuralink มีประสิทธิภาพมากแค่ไหน เพราะ ‘ข้อมูล’ ถือเป็นขุมทรัพย์อันล้ำค่าของโลกดิจิทัลที่มีคนต้องการนำไปใช้ในทางไม่ดีเสมอ

นอกจากคำถาม 2 ข้อนี้ จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของ Neuralink แล้ว ยังมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจอนุมัติการทดลองในมนุษย์ของ FDA ไม่มากก็น้อยอีกด้วย

ถึงแม้เส้นทางในอนาคตของ Neuralink จะเต็มไปด้วยความท้าทาย และหากเดินเกมผิดเพียงนิดเดียว โอกาสที่จะไปไม่ถึงฝั่งฝันคงสูงลิบลิ่วน่าดู แต่ความไม่ธรรมดาของชายที่ชื่อ ‘อีลอน มัสก์’ อาจทำให้เราเห็นกลยุทธ์การเอาชนะความท้าทายในแบบที่ไม่คาดคิดมาก่อนก็เป็นได้

Sources: https://bit.ly/3X2zBDb

https://bit.ly/3X1prCx

https://bit.ly/3ZuYFEa

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1