LOADING

Type to search

ทำไม ‘มาม่า’ ขึ้นราคาแค่ 2 บาท แต่กระทบชีวิตเรามหาศาล?
Share

มหากาพย์การยื้อยุดปรับขึ้นราคา ‘บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป’ ระหว่าง ‘กลุ่มผู้ผลิต’ และ ‘กระทรวงพาณิชย์’ กำลังเดินทางมาถึงจุดที่ตึงเครียดอย่างหนัก หลังจากที่กลุ่มผู้ผลิต 5 เจ้ารายใหญ่ของไทยยื่นคำขาดขอปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากห่อละ 6 บาท เป็น 8 บาท เหตุเพราะแบกรับต้นทุนที่พุ่งสูงต่อไปไม่ไหว

จริงๆ แล้ว ราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หรือที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า ‘มาม่า’ (ชื่อแบรนด์ที่เป็นเจ้าตลาดในไทย) ถูกตรึงไว้ที่ 6 บาท ตั้งแต่ปี 2008 นับเป็นเวลาราว 15 ปีที่สินค้าชนิดนี้ไม่มีการปรับขึ้นราคาเลย แต่ภัยร้ายทางเศรษฐกิจอย่าง ‘เงินเฟ้อ’ ที่ทวีความรุนแรงมากเป็นพิเศษในปีนี้ ทำให้การฝืนขายที่ราคาห่อละ 6 บาทต่อไป กลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่สำหรับผู้ผลิต

หลังจากที่มีข่าวการขอปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปออกมา ผู้คนบนโลกออนไลน์ต่างก็แสดงความเห็นในทิศทางที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ฝั่งของกลุ่มที่เห็นด้วยบอกว่า “ขึ้นราคาแค่ 2 บาท ให้เขาขึ้นไปเถอะ เพราะผู้ผลิตก็อั้นราคากันมานาน วัตถุดิบทุกอย่างขึ้นราคาหมดแล้ว ของอย่างอื่นขึ้นราคามากกว่านี้ยังซื้อกันได้ไม่มีบ่น ทำไมมาม่าขอขึ้นราคาแค่ 2 บาท ถึงมีปัญหากันเหลือเกิน”

และฝั่งของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยบอกว่า “จากราคา 6 บาท เป็น 8 บาท ถึงแม้จะเป็นการขึ้นราคาแค่ 2 บาทก็จริง แต่เมื่อคิดอย่างละเอียดแล้ว นี่คือการขึ้นราคาถึง 33 เปอร์เซ็นต์ เหมือนกับการซื้อของในราคา 133 บาท ทั้งๆ ที่ในอดีตเคยซื้อแค่ 100 บาท ทำให้กำลังซื้อลดลงยิ่งกว่าเดิม รวมถึงราคาอาหารทุกอย่างที่ใช้มาม่าเป็นวัตถุดิบต้องปรับตัวสูงขึ้นกว่านี้อีกแน่นอน”

ทำไมการขอปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถึงเป็นข้อถกเถียงมากกว่าการปรับขึ้นราคาของสินค้าชนิดอื่น? และทำไมคนบางกลุ่มถึงมีความเห็นว่า การขึ้นราคาครั้งนี้มีนัยแฝงมากกว่าการจ่ายเงินเพิ่ม 2 บาทแล้วจบกันไป? เราจะพาทุกคนไปหาคำตอบพร้อมๆ กัน

why-mama-price-hike-impact-our-life 1

วิกฤตต้นทุนที่ผู้ผลิต ‘บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป’ ต้องเผชิญ

อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่า ภาวะเงินเฟ้อในปีนี้รุนแรงกว่าปีก่อนๆ มาก จากที่ในภาวะเศรษฐกิจปกติ อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ราวๆ 3-5 เปอร์เซ็นต์ แต่ในปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อของไทยสูงไม่ต่ำกว่า 7 เปอร์เซ็นต์ ทำให้คนในประเทศมีกำลังซื้อน้อยลงจากเดิมมาก เงินสดที่ถืออยู่ในมือก็มีมูลค่าลดลงเรื่อยๆ

เงินเฟ้อภาคประชาชนว่าหนักแล้ว แต่เงินเฟ้อภาคธุรกิจหนักกว่าหลายเท่า เพราะดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index) หรือตัวเลขชี้วัดความกดดันจากเงินเฟ้อของผู้ผลิตอยู่ที่ 12 เปอร์เซ็นต์มาเป็นเวลานาน ถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก และการที่ตัวเลขเงินเฟ้อของฝั่งผู้ผลิตและผู้บริโภคต่างกันเช่นนี้ เป็นเพราะว่าที่ผ่านมา ผู้ผลิตยอมแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไว้กับตัวเอง แต่เมื่อแบกรับต่อไปไม่ไหวก็ถึงคราวที่ผู้บริโภคต้องรับภาระด้วย

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น นอกจากภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากปัญหาด้านซัพพลายเชน (Supply Chain) การส่งออก และการผลิตแล้ว ยังมีสาเหตุจาก ‘สงครามรัสเซีย-ยูเครน’ ด้วย เพราะทั้งสองประเทศถือเป็น ‘อู่ข้าวอู่น้ำ’ ของคนทั้งโลก และที่สำคัญยังเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก คิดเป็นสัดส่วนรวมกันถึง 28 เปอร์เซ็นต์ กล่าวคือข้าวสาลีที่บริโภคกัน 1 ใน 4 ของโลกล้วนมาจากรัสเซียและยูเครน

ข้าวสาลีเป็นวัตถุดิบสำคัญในการแปรรูปเป็นแป้งสาลี และแป้งสาลีก็เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอีกทีหนึ่ง การที่สองประเทศผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่อยู่ในภาวะสงคราม และไม่สามารถส่งออกสินค้าได้ จนกลไกตลาดเกิดความผันผวน ทำให้ราคาข้าวสาลีแพงขึ้นไปตามระเบียบ เมื่อต้นทุนของสินค้าต้นทางสูงขึ้น สินค้าแปรรูปในห่วงโซ่เดียวกันก็ย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย

แล้วต้นทุนการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปสูงขึ้นแค่ไหน?

ในปัจจุบัน ราคาของแป้งสาลีอยู่ที่ 500 บาทต่อถุง จากที่แต่เดิมมีราคาอยู่ที่ 250 บาทต่อถุง ถือเป็นราคาที่เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ส่วนน้ำมันปาล์มจากกิโลกรัมละ 18 บาท เพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 50 บาท ราคาสูงขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว ยังไม่นับรวมวัตถุดิบอื่นๆ ที่เป็นส่วนประกอบในเครื่องปรุงรส และราคาบรรจุภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น 20-30 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งสิ่งที่กลุ่มธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ถือเป็นหนึ่งในผลกระทบจาก ‘วิกฤตอาหาร’ (Food Crisis) ที่ถูกพูดถึงมาตั้งแต่ช่วงต้นปี และกำลังฉายภาพความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

why-mama-price-hike-impact-our-life 2

ทำไมการที่ ‘มาม่า’ ขึ้นราคาแค่ 2 บาท ถึงดูเป็นเรื่อง ‘คอขาดบาดตาย’ ที่กระทบกับชีวิตของเรา?

“ความซับซ้อนในการพิจารณาขึ้นราคา ไม่ต่างกับเกลียวเส้นมาม่าที่พันกัน”

เพราะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นสินค้าที่มีคุณค่ามากกว่าเป็นเพียงอาหารที่กินแล้วอิ่มท้อง เพราะวาทกรรม “สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ มาม่าคือที่พึ่งพิง” ทำให้ค่านิยมของการทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถูกผูกติดไว้กับความยากจน กลายเป็นอาหารเพื่อประทังชีวิต และเป็นอาหารราคาเลขตัวเดียวที่ให้ความอิ่มท้องและรสชาติได้อย่างครบครัน

อีกทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยังเป็น ‘สินค้าควบคุม’ หรือสินค้าที่มีการกำหนดราคาซื้อ-ขาย เพื่อป้องกันความไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค พูดกันอย่างตรงไปตรงมาก็คือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการเมืองมากที่สุดชนิดหนึ่ง ทำให้การตัดสินใจปรับขึ้นราคาบะหมี่สำเร็จรูปเป็นสิ่งที่ ‘กลืนไม่เข้า คายไม่ออก’ สำหรับรัฐบาลเป็นอย่างมาก เพราะนักวิชาการหลายๆ ท่านก็แสดงความเห็นว่า หากมีการปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากห่อละ 6 บาท เป็น 8 บาท หรือขึ้นราคาห่อละ 2 บาทอย่างฉับพลัน ย่อมส่งแรงสั่นสะเทือนในสนามการเลือกตั้งครั้งหน้าแน่นอน

แต่หากรัฐบาลตัดสินใจที่จะไม่ปรับขึ้นราคา และคงราคาขายไว้ที่ห่อละ 6 บาท ทางผู้ผลิตก็วางแผนแล้วว่า จะลดการจำหน่ายในประเทศ และเพิ่มการจำหน่ายในต่างประเทศแทน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบมากกว่าที่เราคิด

อย่างแรก เมื่อมีการจำหน่ายลดลง แต่ความต้องการของผู้บริโภคมีเท่าเดิม (หรืออาจจะเพิ่มขึ้นในอนาคต) สินค้าจะมีโอกาสขาดตลาดจากการกักตุน และเกิดความขาดแคลนมากขึ้น ถึงแม้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะไม่ใช่อาหารหลักของคนไทย แต่จากสถิติของ World Instant Noodles Association (WINA) ชี้ว่า คนไทยบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเฉลี่ยคนละ 51 ห่อต่อปี มากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกเลยทีเดียว

อย่างต่อมา หากมีการลดการจำหน่ายในประเทศจริง จะกระทบกับการจ้างงานของแรงงานไทยมากน้อยแค่ไหน เพราะการจำหน่ายที่ลดลง ย่อมสัมพันธ์กับจำนวนการผลิตที่ลดลงด้วย แล้วถ้าสถานการณ์ดำเนินมาถึงจุดที่เลวร้าย และผู้ผลิตไม่สามารถแบกรับต้นทุนได้อีกต่อไป จนเกิดการปลดพนักงาน อัตราการว่างงานในไทยคงเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

สุดท้ายแล้ว รัฐบาลก็ต้องเลือกหนทางที่ประนีประนอมกับทั้งสองฝ่ายมากที่สุด แต่หนทางนั้นจะเป็นอะไร เราคงต้องติดตามกันต่อไป

ใครจะไปคิดว่า ภายในห่อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะเต็มไปด้วยเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังมากมายขนาดนี้ แต่ก็มีคำถามที่ชวนคิดว่า ถ้าเราไม่เอาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไปผูกไว้กับความยากจนตั้งแต่แรก และมีการปรับอัตราค่าแรงให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมอย่างต่อเนื่อง การปรับขึ้นราคาก็คงไม่ประเด็นทางสังคมขนาดนี้หรือเปล่า?

Sources: https://bloom.bg/3whsXNP

https://bit.ly/3QPiFME

https://bit.ly/3dzT4sN

https://bit.ly/3wcu5CA

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like