LOADING

Type to search

ครั้งหนึ่ง ‘ไก่ทอด’ คือของกินสำหรับคนรวย : เกาหลีทำยังไงถึงดันไก่ทอดเป็น pop culture ไปทั่วโลก

ครั้งหนึ่ง ‘ไก่ทอด’ คือของกินสำหรับคนรวย : เกาหลีทำยังไงถึงดันไก่ทอดเป็น pop culture ไปทั่วโลก
Share

ช่วงนี้ซีรีส์เกาหลีในสตรีมมิงยักษ์ใหญ่อย่างเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) กลับมาครองแชมป์ซีรีส์ยอดฮิตบนแพลตฟอร์มอีกครั้ง ซึ่งนอกจากการดำเนินเรื่อง บท และนักแสดงที่ส่งอารมณ์มาถึงคนดูได้แล้ว สังเกตว่าในซีรีส์เกาหลีแทบทุกเรื่องมักจะแทรกสิ่งที่เรียกว่า ‘soft power’ ไว้ด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่นการแต่งกาย ทรงผม เครื่องสำอางค์ เพลง ไปจนถึงวัฒนธรรมการกินที่ฉายภาพให้เราเห็นและอินไปกับอาหารเกาหลี ตั้งอาหารพื้นเมืองต้นตำรับไปจนถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรือ ‘รามยอน’ ที่เกาหลีก็สามารถดันจนกลายเป็น ‘soft power’ ได้

แต่ถ้าให้นึกถึงอาหารเกาหลีในซีรีส์ที่เราเห็นบ่อยๆ นอกจากการกินปิ้งย่างริมทางก โซจูสักขวด หรือกิมจิที่เป็นอาหารประจำชาติแล้ว ‘ไก่ทอด’ ก็เป็นอีกหนึ่งเมนูที่ซีรีส์แต่ละเรื่องโชว์ให้เห็นถึงความกรอบ อร่อย จนกลิ่นหอมๆ ของไก่ทอดสะเด็ดน้ำมันแทบจะลอยมาติดจมูกนอกจอกันเลยทีเดียว ซึ่งปาร์ตี้ไก่ทอดของนักแสดงในเรื่องก็มักจะมาคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเบียร์เสมอ

ดูแล้วก็น่าจะเป็นอาหารทานเล่นที่หาทานง่ายและราคาไม่แพงด้วยใช่ไหมคะ แต่ถ้าย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์เกาหลีจะพบว่า อันที่จริงแล้วไก่ทอดเคยเป็นอาหารที่หากินยาก มีเฉพาะโอกาสพิเศษหรือวันสำคัญๆ เท่านั้น หรือพูดง่ายๆ ก็คือในอดีตไก่ทอดเป็นอาหารของคนรวยก็ได้ จากวันนั้นจนถึงวันนี้เกาหลีทำอย่างไรให้ไก่ทอดกลายเป็นอาหารแมส และถูกส่งต่อเป็น ‘pop culture’ กันได้นะ วันนี้คอลัมน์ ‘Business Cracker’ จะมาเล่าให้ทุกคนฟังกันค่ะ

ในอดีต เมนูไก่ที่คนเกาหลีนิยมรับประทานกันมักจะเป็นการนำไปตุ๋นหรือต้มเท่านั้น ส่วนการทอดเริ่มต้นขึ้นเมื่อช่วงทศวรรษ 1950 นี้เอง โดยเกาหลีได้รับอิทธิพลการกินไก่ในช่วงเทศกาลสำคัญๆ ในช่วงสงครามเกาหลีที่ทหารสหรัฐฯ นิยมรับประทานไก่งวง คนเกาหลีจึงนำมาดัดแปลงเป็นไก่ชนิดอื่นๆ และเปลี่ยนจากการอบเป็นกรรมวิธีการทอดแทน

ย้อนกลับไปในยุคนั้นคนเกาหลียังไม่ได้มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวมากนัก ราคาของไก่ทอดถือว่ามีราคาสูง ดังนั้น ไก่ทอดจึงถูกจัดวางให้เป็นอาหารที่มีเฉพาะโอกาสพิเศษๆ เท่านั้น อย่างวันเกิด วันครบรอบ หรือวันเงินเดือนออก เป็นต้น แม้ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจของเกาหลีจะเติบโตจนเมนูไก่ทอดไม่ได้เอื้อมถึงยากอีกต่อไป แต่จะสังเกตเห็นการหยิบมาสอดแทรกในซีรีส์เกาหลีได้ว่า การชวนกันไปกินไก่ทอดกับเบียร์มักจะถูกพูดถึงในโอกาสพิเศษๆ ตามประวัติศาสตร์การกินที่มีมาตั้งแต่อดีตนั่นเอง

แต่ไม่นานหลังจากนั้น ราคาของไก่ทอดก็เริ่มถูกลงด้วยค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงไป บวกกับร้านอาหารเชนใหญ่จากตะวันตกเริ่มเข้ามาทำตลาดในประเทศด้วย เมื่อมีผู้ขายมากขึ้นกลไกตลาดจึงปรับตัวตาม และทำให้ราคาของไก่ทอดไม่ได้สูงลิ่วเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว

การกินไก่ทอดคู่กับเบียร์กลายเป็นการสร้าง ‘trendsetter’ ผ่านการส่งออก ‘soft power’ ของเกาหลีที่แม้จะดูเป็นเมนูธรรมดาๆ หากินได้ทั่วไป แต่เพราะการหยิบวัฒนธรรมการกินที่เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันของคนเกาหลีมาสอดแทรกเรื่อยๆ ทำให้ผู้ชมต่างชาติสนใจและอยากจะเข้าไปสัมผัสลิ้มลองไก่ทอดกับเบียร์ที่เกาหลีมากขึ้น

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลียังทำให้มูลค่าการส่งออกอาหารแตะ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเป็นครั้งแรกในปี 2021 สะท้อนให้เห็นถึงกลยุทธ์ที่ชาญฉลาดของภาครัฐและภาคเอกชนที่ดำเนินงานสอดคล้องต้องกัน จนทำให้ ‘soft power’ เป็นสินทรัพย์ทางการทูตที่มีคุณค่า ผลักดันวัฒนธรรมการกินที่พบเห็นในชีวิตประจำวันง่ายๆ ดึงเม็ดเงินกลับเข้าประเทศได้อย่างมหาศาล

Sources: https://cnb.cx/3Lf66rC

https://bit.ly/3LdP2Ci

https://bit.ly/38fxhEc

Tags::

You Might also Like