LOADING

Type to search

ทำไมการยอมรับตรงๆ ว่า ‘ตัวเองผิด’ ถึงเป็นเรื่องยากสำหรับบางคน?
Share

ความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ในมนุษย์ทุกคน แต่ที่น่าแปลกก็คือ ‘การยอมรับว่าตัวเองผิด’ เป็นสิ่งที่หายาก พบได้แค่ในตัวบางคนเท่านั้น แถมบางเคสก็อาจจะหนักถึงขั้นที่แม้จะมีหลักฐานชี้ชัดแล้วว่า ผิดจริง แต่คนประเภทนี้ก็มักจะแก้ตัวน้ำขุ่นๆ หาเหตุผลร้อยแปดมารองรับการกระทำ โทษนู่น โทษนี่ตลอด

ทำไมคนเหล่านี้ถึงทำผิดแล้วไม่ยอมรับ เพราะอะไรการยอมรับผิด หรือพูดคำขอโทษสั้นๆ ถึงดูเป็นเรื่องยากสำหรับเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้าบางคนล่ะ?

เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว อิโลนา เจอราเบก (Ilona Jerabek) ประธาน และเดโบรา มอยด์เยว (Deborah Muoio) นักวิจัยบริษัทไซค์เทส เอม ไอเอ็นซี (PsychTests AIM Inc.) ได้ทำการศึกษาประเด็นดังกล่าวภายใต้งานวิจัยที่เรื่อง ‘It wasn’t my fault : New study looks at why people hate admitting mistakes’ ผ่านกลุ่มตัวอย่างจำนวน 4,727 คน โดยได้มีการแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ กลุ่มแรกคือ ‘กลุ่มที่ยอมรับว่าตัวเองผิด’ ส่วนกลุ่มที่สองคือ ‘กลุ่มที่ไม่ยอมรับว่าตัวเองผิด’ จากนั้น จึงให้ทั้ง 2 กลุ่มทำแบบทดสอบวัดคุณค่าในตัวเอง (Self-esteem) ผลปรากฏว่า มี 5 ประเด็นหลักที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ประเด็นแรก ‘การยอมความผิด ความรู้สึกอ่อนแอ’ กลุ่มที่ไม่ยอมรับว่าตัวเองผิด เชื่อว่าการพูดถึงความผิดจะทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อการถูกเยาะเย้ยจากคนอื่น เป็นเรื่องน่าอาย รู้สึกเหมือนว่า กำลังถูกลดขั้น ถูกดูถูก คำวิจารณ์เหล่านี้ทำลายพวกเขา และเกลียดที่จะยอมรับเมื่อทำผิด ในขณะที่กลุ่มที่ยอมรับว่าตัวเองผิดกลับรู้สึกเฉยๆ ไม่ได้มองว่า แสดงถึงความอ่อนแอแต่อย่างใด

ถัดมา ประเด็นที่ 2 ‘ความรู้สึกไม่มั่นคงลึกๆ’ กลุ่มที่ไม่ยอมรับว่าตัวเองผิดจะมีสมการแปลกๆ อย่างการเชื่อว่า หากยอมรับผิด ตนจะเสียความเคารพ คุณค่าจากคนอื่น กลายเป็นคนล้มเหลว แต่ถ้าไม่ยอมรับ นั่นแปลว่า ยังคงเป็นที่เคารพ มีคุณค่าอยู่

และลึกๆ แล้ว ก็ยังไม่กล้าเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงออกมาเพราะกลัวว่าคนอื่นจะไม่ชอบ และตัวเองก็ไม่ชอบตัวเอง สวนทางกับกลุ่มที่ยอมรับว่าตัวเองผิดที่ไม่ได้ตีกับความคิดในหัว การเอ่ยปากขอโทษเลยเป็นเรื่องจิ๊บๆ นั่นเอง

why-its-so-hard-to-admit-youre-wrong 1

ประเด็นที่ 3 ‘ความต้องการการยอมรับจากคนอื่น’ กลุ่มที่ไม่ยอมรับว่าตัวเองผิดบอกว่า ความฝันของตนคือการประสบความสำเร็จ ถูกยกย่อง หรือพูดง่ายๆ ว่า พวกเขาโหยหาความรัก อยากได้รับการยอมรับจากคนอื่นเป็นอย่างมาก จนบางครั้งก็ยอมเปลี่ยนบุคลิก ความคิดเห็น และรูปลักษณ์เลยทีเดียว

กลัวการถูกปฏิเสธ ชอบเลี่ยงการโต้แย้งเพราะกลัวว่าจะถูกเกลียด หากไม่ได้รับคำชมก็จะไม่มั่นใจว่า ทำงานออกมาได้ดี มักจะขอความเห็นจากคนอื่นก่อนตัดสินใจอะไรบางอย่าง โดยให้น้ำหนักที่ความเห็นคนอื่นมากกว่าตัวเอง ตรงกันข้ามกับกลุ่มที่ยอมรับว่าตัวเองผิด แต่ตลกร้ายที่หนักที่สุดก็คือ ยังมีความย้อนแย้งกับตัวเองว่า ไม่สมควรได้รับความรัก ความเคารพด้วย

ประเด็นที่ 4 ‘การเป็นคนที่นิยมในความสมบูรณ์แบบ’ กลุ่มที่ไม่ยอมรับว่าตัวเองผิดจะออกแนว ‘Perfectionist’ มีความคาดหวังกับตัวเองอยู่เรื่อยๆ เชื่อว่า จะได้รับความเคารพก็ต่อเมื่อประสบความสำเร็จ หากทำบางอย่างได้ไม่สมบูรณ์แบบ ขอเลือกจะไม่ทำซะดีกว่า

มองว่า หากล้มเหลวเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แม้ว่าอาจจะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม เท่ากับว่า ตนจะล้มเหลวเรื่องที่เหลือทั้งหมด ขณะเดียวกัน กลุ่มที่ยอมรับว่าตัวเองผิดจะไม่ได้เอาตัวเองไปยึดโยงกับอะไรพวกนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานว่า เราเป็นมนุษย์ที่ไม่มีวันสมบูรณ์แบบได้เหมือนหุ่นยนต์ และกำลังอยู่ในโลกที่ไม่สมบูรณ์แบบ แต่คาดหวังให้สมบูรณ์แบบต่างหาก

ประเด็นสุดท้าย ‘การเป็นฝ่ายรุก ความรู้สึกไม่พอใจเมื่อคนอื่นชี้ให้เห็นข้อผิดพลาด’ กลุ่มที่ไม่ยอมรับว่าตัวเองผิดมีท่าทีที่จะโต้ตอบ ปฏิเสธฟีดแบ็ก หรือคอมเมนต์ที่พวกเขาไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง อีกทั้ง ยังมีกลไกการปกป้องตัวเองด้วยว่า อีกฝ่ายวิจารณ์เพราะความอิจฉาริษยา ในทางกลับกัน กลุ่มที่ยอมรับว่าตัวเองผิดก็จะเข้าใจเจตนาดีเหล่านี้ พร้อมจะนำไปปรับปรุง แก้ไข เปลี่ยนตัวเองต่อไป 

อิโลนา ทิ้งท้ายงานวิจัยไว้อย่างน่าสนใจว่า “ความผิดพลาดเป็นเครื่องย้ำเตือนที่น่าอายว่า เราไม่ใช่คนที่ Perfect แต่ก็เป็นโอกาสในการเรียนรู้ที่มีค่าเช่นกัน การยอมรับผิดต้องใช้ความกล้า ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม ความผิดพลาดไม่ได้ทำให้เราอ่อนแอลง แต่ทำให้เราฉลาด และยืดหยุ่นขึ้น ทุกความผิดพลาด ทุกความล้มเหลว คือบทเรียนให้เรียนรู้ วิธีที่ดีที่สุดคือเรียนรู้แล้วปล่อยวางมันไป”

why-its-so-hard-to-admit-youre-wrong 2

นอกจากนี้ งานวิจัยเรื่อง ‘Refusing to apologize can have psychological benefits (and we issue no mea culpa for this research finding)’ ในวารสารจิตวิทยาสังคมยุโรป (European Journal of Social Psychology) ก็ชี้ให้เห็นเช่นกันว่า การไม่ยอมรับว่าตัวเองผิดส่งผลให้คนคนนั้นมี Self-esteem มากกว่าคนที่ยอมรับว่าตัวเองผิด รวมไปถึงยังทำให้รู้สึกเหนือกว่า มีอำนาจควบคุมมากกว่าด้วย

แครอล ทาฟริส (Carol Tavris) ผู้แต่งหนังสือ Mistakes Were Made (But Not by Me) ได้อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า “การยอมรับผิดเป็นเรื่องของความขัดแย้งทางความคิดหรือ ‘Cognitive dissonance’ ที่รู้สึกก็ต่อเมื่อเห็น เข้าใจภาพที่มองว่าเป็นตัวเอง มี Self-concept ว่า ฉันฉลาด ใจดี เชื่อว่าทั้งหมดนี้เป็นความจริง การถูกคุกคามด้วยหลักฐานว่า ทำอะไรบางอย่างที่ไม่ฉลาด ทำให้ทำร้ายคนอื่น และเชื่อว่า นั่นไม่ใช่ความจริง โดยการจะหยุดความขัดแย้งนี้ได้ ต้องปรับเปลี่ยน Self-concept หรือยอมรับในหลักฐานให้ได้ก่อน”

คาเรน ไฟร์สโตน (Karen Firestone) ประธานบริหารออเรียส แอดเซต เมเนจเมนต์ (Aureus Asset Management) ได้พูดถึงความผิดพลาดในบทความเรื่อง ‘Why Is It So Hard for Us to Admit Our Mistakes?’ บนเว็บไซต์ฮาร์วาร์ดบิสซิเนสรีวิว (Harvard Business Review) ว่า การยอมรับไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับหลายๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ความผิดพลาดที่มีราคาแพง’

ถึงที่สุดแล้ว แม้จะตั้งใจ ทุ่มเทอย่างเต็มที่เท่าไร แต่ความผิดพลาดก็ยังเล็ดลอดได้อยู่ดี เหมือนกับกระดาษสีขาวที่มีตำหนิจุดดำเล็กๆ เพียงจุดเดียว แต่หลายๆ คนกลับโฟกัสเป็นอย่างแรกด้วยซ้ำ ผิดก็แค่ ‘ยอมรับ เรียนรู้ แก้ไข’ ให้การเติบโตทำให้เราเป็นคนที่ดีขึ้น ไม่ใช่แย่ลงแบบผู้ใหญ่ที่เราเกลียด เคยบอกกับตัวเองตอนเด็กๆ ว่า โตขึ้นฉันจะไม่เป็นผู้ใหญ่แบบนั้นเด็ดขาด

รู้รึเปล่าว่า ความผิดพลาดไม่ใช่ตราบาปชีวิต

และก็ไม่ได้อยู่กับเราไปจนวันตายสักหน่อย

แล้วคุณล่ะคิดยังไงกับเรื่องนี้ เคยเจอคนที่ทำผิดแล้วไม่ยอมรับไหม รู้สึกยังไงบ้าง ใช้วิธีไหนรับมือพวกเขา หรือก็ปล่อยไปตามน้ำ? มาแชร์ในคอมเมนต์กัน!

Sources: https://bit.ly/3TIL3SV

https://bit.ly/3TB1Szc

https://nyti.ms/3THi9Tc

https://bit.ly/3QkU6qi

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1

You Might also Like