LOADING

Type to search

ทยอยลาออกกันไป รู้ตัวอีกทีก็เหลือเราแค่ ‘คนเดียว’ แล้ว! เมื่อออฟฟิศเปลี่ยนไป จะรับมือยังไงให้ไม่ช็อกน้ำ

ทยอยลาออกกันไป รู้ตัวอีกทีก็เหลือเราแค่ ‘คนเดียว’ แล้ว! เมื่อออฟฟิศเปลี่ยนไป จะรับมือยังไงให้ไม่ช็อกน้ำ
Share

แม้ความเปลี่ยนแปลงจะเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโต ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ยังไงซะก็ต้องเกิดขึ้นกับชีวิตแน่ๆ แต่สำหรับมนุษย์ออฟฟิศอย่างเราๆ แล้ว บางครั้งเมื่อเจอหลายระลอกกันติดๆ ก็เกินกำลังจะรับไหว

อย่างเช่น เวลาที่เห็นใครสักคนในทีมเดินไปยื่นซองขาวใบลาออก สักพัก ก็มีคนที่สอง คนที่สาม คนที่สี่ และคนที่…ตามมา จนในที่สุดก็เหลือเราแค่คนเดียว แถมถ้าคนเหล่านั้นเป็นที่พึ่งทางใจหรือคนที่สนิทด้วย ก็คงจะรู้สึกใจหายอยู่ไม่น้อย

จากออฟฟิศเดิมที่เต็มไปด้วยบรรยากาศที่รู้สึกอยากตื่นไปเจอเพื่อนร่วมงานในทุกวัน กลับกลายเป็นบรรยากาศของความเคว้งคว้าง เมื่อต้องรายล้อมไปด้วยเพื่อนร่วมงานหน้าใหม่ที่ไม่คุ้นเคย จะเดินไปตบมุกโบ๊ะบ๊ะด้วยก็ไม่กล้า จะเดินไปหยิกตัวเหมือนที่เคยทำกับเพื่อนร่วมงานเก่าก็คงไม่เวิร์ก รวมไปถึง จู่ๆ ความคิด ‘อยากลาออกตามเพื่อน’ ก็อาจแว็บขึ้นมาในหัวด้วย

แล้วเราจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงยังไงให้ไม่ช็อกน้ำ จะจัดการกับความรู้สึกซัฟเฟอร์อย่างไร? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปดูเทคนิคของนีฮาร์ ชายา (Nihar Chhaya) โค้ชผู้บริหารที่ให้คำปรึกษาบริษัทชั้นนำระดับโลกกัน

1. ใจร่มๆ ‘ให้เวลาตัวเอง’ สักนิด

when-everyones-quitting-except-you 1
Image by benzoix on Freepik

มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีความรู้สึกนึกคิด นี่จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากการลาออกของเพื่อนจะสะเทือนมาถึงความรู้สึกของเรา สอดคล้องกับผลสำรวจเรื่อง Global Workforce of the Future Unravelling the Talent Conundrum ของอเด็คโก้ไทยแลนด์ (Adecco Thailand) จากการสำรวจกลุ่มตัวเองมนุษย์ออฟฟิศกว่า 34,200 คน ใน 25 ประเทศทั่วโลก ที่พบว่า ความรู้สึกอยากลาออกเป็นมวลหรือพลังงานอย่างหนึ่งที่ส่งไปยังเพื่อนร่วมงานได้จริง

แต่สำหรับคนไหนที่กำลังรู้สึกแบบนี้อยู่ อย่าเพิ่งกระต่ายตื่นตูมไป อย่าเพิ่งคิดว่าเราถูกทิ้ง หรือรีบยื่นซองขาวทันที ใจเย็นๆ ก่อน ลองให้เวลาตัวเองกลับไปชั่งน้ำหนักเหตุผลว่า จะไปต่อหรือพอแค่นี้ อะไรคือสิ่งสำคัญสำหรับชีวิตตอนนี้ และอนาคต เป้าหมายของเราคืออะไร และที่นี่ยังตอบโจทย์อยู่หรือไม่?

2. วางแผน Re-Onboarding ‘90 วัน’

ตามปกติ เรามักคุ้นเคยกับการ Onboarding หรือการอบรม ดูแลเอาใจใส่พนักงานใหม่ให้ปรับตัวเข้ากับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า และวัฒนธรรมองค์กรได้ แต่ถึงจะเป็นพนักงานหน้าเก่า อยู่มานานจนขึ้นแท่นเป็นตำนานของออฟฟิศ จริงๆ แล้ว เราก็ควร Re-Onboarding ตัวเอง เพื่อให้กลับมารู้สึกดีเหมือนช่วงทำงานแรกๆ เช่นกัน

เพราะการ Re-Onboarding ไม่ได้แค่ปลุกไฟให้ลุกโชนอีกครั้งเท่านั้น แต่ลึกๆ แล้วยังช่วยให้เรามีไอเดียใหม่ๆ และหลุดออกจากกรอบความเคยชินซ้ำๆ เดิมๆ ด้วย ซึ่งก็ไม่แน่ว่า มันอาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เหนือชั้นกว่าเดิมก็ได้

โดยนีฮาร์เล่าว่า ตนเคยให้คำปรึกษากับหัวหน้าคนหนึ่งที่ทำงานที่เดิมนานกว่า 25 ปีว่า ให้วางแผน Re-Onboarding ตัวเองภายใน 90 วัน จากนั้น ให้โฟกัสไปที่ปัจจัยสู่ความสำเร็จ ทั้งเป้าหมาย กลยุทธ์ และการพัฒนาพนักงาน ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) และแรงจูงใจในการทำงานก็ด้วย

3. เธอกับฉัน เราเป็นทั้ง ‘ครู’ และ ‘นักเรียน’ กันก็ได้

when-everyones-quitting-except-you 2
Image by pressfoto on Freepik

ต่อให้เพื่อนร่วมงานใหม่จะมีอายุอานามที่มากกว่า หรือการสอนงานพวกเขาจะทำให้เรารู้สึกเบื่อหน่าย และใช้พลังงานเยอะสักเท่าไร แต่ในความเป็นจริง นี่ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เราเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงในออฟฟิศได้ดีขึ้นต่างหาก

เนื่องจาก ช่วงเวลาสอน จะทำให้ต่างฝ่ายต่างทำความรู้จัก และปรับจูนกัน อีกทั้ง ยังเป็นการทบทวนขั้นตอนการทำงานแบบละเอียดที่ก่อนหน้าอาจเผลอมองข้ามปัญหาโดยไม่รู้ตัว ประกอบกับยังเป็นการหาวิธีการทำงานที่มีประสิทธิภาพใหม่ๆ ไปพร้อมๆ กัน

4. ใช้ไพ่ที่มีให้เป็น ‘ไม่ต้องฟันธงว่า จะไม่ออกแน่ๆ’

หลังจากที่คุยกับตัวเองแล้วรู้สึกว่า การลาออกยังไม่ใช่คำตอบที่ใช่ ก็ไม่ต้องฟันธงว่า จะไม่ลาออกแน่ๆ ในความเป็นจริง การไปต่อหรือพอแค่นี้ต่างก็มีข้อดีกับข้อเสียพอกันทั้งคู่ อย่างการไปต่อกับองค์กรเดิมที่นานเกินไปก็อาจทำให้บางคนได้เรตเงินเดือนที่น้อยกว่าการย้ายงานใหม่ และไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร

ทุกอย่างมีราคาที่ต้องจ่าย ทางเลือกอย่างการอยู่ต่อก็เช่นกัน สมมติว่า ในอนาคตมีโอกาสดีๆ ประตูบานใหม่ที่น่าสนใจเปิดขึ้น การแยกย้ายกันไปเติบโตตามเส้นทางที่อยากไปก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร

การจากลาเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น ความฝันของแต่ละคนต่างกัน และไม่มีวันเหมือนกันเป๊ะๆ ในวันใดวันหนึ่งแน่ๆ ไม่มีอะไรเหมือนเดิมไปตลอดหรอก อย่ายึดติดว่าต้องเป็นคนนั้นคนนี้เท่านั้นเลย สุดท้ายแล้ว เราไม่ได้ตายจากกันไปสักหน่อย ก็แค่แยกย้ายกันไปเติบโตก็เท่านั้นเอง 🙂

Sources: https://bit.ly/3N0oVke

https://bit.ly/3Jgcm4t

https://bit.ly/3WBFoys

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1

You Might also Like