LOADING

Type to search

‘Transkriptor’ AI ถอดเสียงที่รองรับได้กว่า 100 ภาษา ตัวช่วยแก้ปัญหา ‘ถอดเทป’ จนหัวหมุน

‘Transkriptor’ AI ถอดเสียงที่รองรับได้กว่า 100 ภาษา ตัวช่วยแก้ปัญหา ‘ถอดเทป’ จนหัวหมุน
Share

“สนุกตอนอัด แต่นั่งร้องไห้ตอนถอด”

‘การถอดเทป’ เป็นประสบการณ์ที่หลายคนต้องเผชิญมาตั้งแต่อยู่ในวัยเรียนจนถึงวัยทำงาน ยิ่งบางคนทำงานในวงการสื่อ ยิ่งหลีกเลี่ยงการถอดเทปไม่ได้ จนกลายเป็น ‘Love-Hate Relationship’ ของการทำงาน และต้องรับมือกับปัญหาเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมาอยู่เสมอ เช่น

– ถอดเทปมาหลายชั่วโมง แต่ยังไม่เสร็จสักที
– จับคำในประโยคก่อนหน้าไม่ทัน ต้องกรอกลับไปฟังอีกรอบ
– มีจังหวะพูดแทรกกัน ไม่รู้ว่าคำที่ได้ยินคืออะไร

ถ้าปัญหาเหล่านี้ ทำให้การทำงานสะดุดและสิ้นเปลืองเวลาโดยใช่เหตุ จะมี ‘เครื่องมือ’ ใดบ้างที่ช่วยให้การถอดเทปกลายเป็นเรื่องง่าย? Future Trends  จะพาไปทำความรู้จักกับ ‘Transkriptor’ ตัวช่วยถอดเสียงที่รองรับการแปลงเสียงเป็นข้อความได้มากกว่า 100 ภาษา

‘Transkriptor’ คืออะไร?

Transkriptor คือตัวช่วยแปลงเสียงเป็นข้อความที่ประมวลผลผ่านการทำงานของ AI รองรับมากกว่า 100 ภาษา รวมถึงภาษาถิ่นของบางประเทศด้วย สามารถแปลงเสียงได้จากไฟล์ที่มีอยู่แล้ว หรืออัดเสียงด้วย Transkiptor และให้ AI ประมวลผลหลังจากอัดเสร็จได้เช่นกัน โดยระยะเวลาที่ใช้ในการแปลงเสียงเป็นข้อความขึ้นอยู่กับความยาวของไฟล์เสียงหรือวิดีโอต้นทาง

ทุกคนสามารถใช้งาน Transkriptor ได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ transkriptor.com (ใช้งานบน Chrome เพื่อประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด), ติดตั้งเป็น Chrome Extension หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชันบน App Store และ Google Play Store

Transkriptor

3 คุณสมบัติเด่นของ ‘Transkriptor’

(เนื่องจากผู้เขียนใช้งาน Transkriptor บนเว็บไซต์เป็นหลัก จึงเขียนจากประสบการณ์การใช้งานบนเว็บไซต์เท่านั้น)

1. User Interface (UI) เป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน

User Interface ของ Transkriptor ค่อนข้างสะอาดตา ถูกออกแบบให้ใช้งานง่าย โดยผู้ใช้งานสามารถเรียนรู้เครื่องมือต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง และใช้งานได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งอธิบายขั้นตอนการทำงานอย่างละเอียด หากเป็นการใช้งานฟีเจอร์ที่ซับซ้อนกว่าปกติ เช่น การบันทึกเสียงบนเว็บไซต์อื่นๆ ด้วย Transkriptor เป็นต้น

2. ครอบคลุมการทำงานกับ ‘ไฟล์เสียง’ หลายรูปแบบ

ความน่าสนใจอย่างหนึ่งของ Transkriptor คือการออกแบบระบบให้รองรับการแปลงไฟล์เสียงหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นไฟล์ที่อัดจากอุปกรณ์อื่น, ไฟล์ที่อัดบน Transkriptor แบบเรียลไทม์ และไฟล์วีดิโอบนเว็บไซต์ต่างๆ ที่สามารถแปลงเสียงเป็นข้อความได้โดยใช้แค่ URL ของวีดิโอนั้นๆ

3. จัดการ ‘ข้อความ’ หลังแปลงเสียงต่อได้ง่าย

จุดเด่นของ Transkriptor คือข้อความที่ได้หลังแปลงเสียงจะมีการแบ่งสัดส่วนของผู้พูดแต่ละคน เป็นประโยชน์กับการถอดเทปบทสัมภาษณ์หรืองานสัมมนาที่มีการสื่อสารเกิดขึ้นตลอดเวลา อีกทั้งยังสามารถแก้ไขข้อความที่ผ่านการประมวลผลได้ทันที หรือจะดาวน์โหลดเป็นไฟล์ .doc มาใช้งานต่อบนโปรแกรม Microsoft Word ที่คุ้นเคยก็ได้เช่นกัน

ค่าใช้จ่ายในการใช้งาน ‘Transkriptor’

Transkriptor มีบริการทดลองใช้ฟรี แต่สามารถแปลงเสียงเป็นข้อความได้เพียง 5 นาทีแรกเท่านั้น หากต้องการใช้งาน Transkriptor อย่างเต็มประสิทธิภาพ ต้องสมัครเป็นสมาชิกรายเดือนจาก 3 แพ็กเกจ ดังนี้

1. แพ็กเกจแบบ ‘Lite’ ค่าบริการ 9.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน (ประมาณ 350 บาทต่อเดือน) สามารถแปลงไฟล์เสียงได้สูงสุด 5 ชั่วโมง

2. แพ็กเกจแบบ ‘Standard’ ค่าบริการ 14.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน (ประมาณ 525 บาทต่อเดือน) สามารถแปลงไฟล์เสียงได้สูงสุด 20 ชั่วโมง

3. แพ็กเกจแบบ ‘Premium’ ค่าบริการ 24.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน (ประมาณ 875 บาทต่อเดือน) สามารถแปลงไฟล์เสียงได้สูงสุด 40 ชั่วโมง

นอกจาก Transkriptor จะมีแพ็กเกจรายบุคคลที่มีตัวเลือกตามความเหมาะสมในการใช้งานแล้ว ยังมีแพ็กเกจประเภท ‘Business’ ที่เหมาะกับการทำงานในองค์กร ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับองค์กรที่ต้องทำงานกับการแปลงเสียงเป็นข้อความอยู่ตลอด

แม้หลังจากใช้งานมาได้สักพัก จะพบว่า ความสามารถในการแปลงเสียงเป็นข้อความของ Transkriptor ยังไม่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นตัวช่วยที่ทำให้ประหยัดเวลาในการทำงานมากขึ้น

Sources: https://bit.ly/3GXvuSF

https://bit.ly/40mGdx5

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like