Type to search

เปิดเคล็ดลับ 10 ข้อ สู่การส่งเสริมแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการในตัวเด็ก

September 09, 2023 By Thanapon Hussakornrus

ในปัจจุบันเราอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา พัฒนาเรื่องราวต่างๆ ไปจนบางทีก็ไม่สามารถตามทันได้ ในกลุ่มพ่อแม่ยุคใหม่ที่ต้องการวางแผนชีวิตให้ลูกของพวกเขา ความคิดเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการได้รับความสนใจมากขึ้น มีการสร้างกรอบความคิดในการเป็นผู้ประกอบการให้กับลูกตั้งแต่ยังเด็ก

ความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ การรับความเสี่ยง และสร้างมูลค่าจึงกลายเป็นทักษะพื้นฐาน ในการปลูกฝังกรอบความคิดนี้ตั้งแต่อายุยังน้อยช่วยให้เด็กๆ ไม่เพียงเพื่อเป็นเลิศในอาชีพการงานเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสนับสนุนสังคมเชิงบวกในฐานะผู้นำในอนาคต นักแก้ปัญหา และผู้บุกเบิกอีกด้วย

ด้วยเหตุผลเช่นนี้เราจึงอยากจะแนะนำ 10 เคล็ดลับ เพื่อการปลูกฝังแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการในตัวเด็กตั้งแต่พวกเขายังอายุน้อยๆ เพื่อทำให้พวกเขาอยู่บนเส้นทางแห่งนวัตกรรม และความสำเร็จ 

[ เคล็ดลับ 10 ข้อ ในการปลูกฝังแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการในตัวเด็ก ]

1. ส่งเสริมความอยากรู้อยากเห็นและการสำรวจ

เป็นเรื่องปกติที่เด็กๆ จะมีความอยากรู้อยากเห็น และกระตือรือร้นที่จะสำรวจโลกธรรมชาติรอบๆ ตัว ส่งเสริมและสนับสนุนความอยากรู้อยากเห็นนี้โดยให้พวกเขาได้สัมผัสประสบการณ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ การเข้าร่วมการทดลองจริง หรือการอ่านหนังสือเกี่ยวกับหัวข้อต่างๆ

การปลูกฝังความรักในการเรียนรู้และการสำรวจจะวางรากฐานสำหรับกรอบความคิดแบบผู้ประกอบการ เนื่องจากจะสอนเด็กๆ ให้เปิดรับแนวคิดใหม่ๆ และตั้งคำถามกับสภาพที่เป็นอยู่

2. ยอมรับความล้มเหลวเป็นโอกาสในการเรียนรู้

ความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และการสอนให้เด็กๆ มองความล้มเหลวเป็น หนึ่งก้าวสู่ความสำเร็จนั้นสิ่งสำคัญ แบ่งปันเรื่องราวของบุคคลที่ประสบความสำเร็จซึ่งเผชิญกับความพ่ายแพ้แต่ใช้สิ่งเหล่านั้นเป็นประสบการณ์การเรียนรู้อันมีค่า

กระตุ้นให้พวกเขากล้าเสี่ยง และลองสิ่งใหม่ๆ ทำให้พวกเขามั่นใจว่าความล้มเหลวไม่ได้บ่งชี้ถึงคุณค่าของพวกเขา แต่เป็นโอกาสในการเรียนรู้และเติบโต

3. ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์

ความสำเร็จของผู้ประกอบการมักขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ และการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ส่งเสริมให้เด็กๆ คิดนอกกรอบโดยมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ เช่น ศิลปะ ดนตรี การเล่าเรื่อง หรือแม้แต่การเล่มเกมก็สามารถเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ได้

มอบความท้าทายปลายเปิดให้พวกเขาต้องระดมความคิด และสำรวจวิธีแก้ปัญหาต่างๆ สิ่งนี้จะบ่มเพาะความสามารถในการแก้ไขปัญหาจากหลายมุม ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับนักสร้างสรรค์ทุกคนในปัจจุบัน

4. สอนให้เห็นถึงความสำคัญของความยืดหยุ่นและความพยายาม

เส้นทางสู่ความสำเร็จนั้นไม่ค่อยราบรื่น และการปลูกฝังความยืดหยุ่นให้กับเด็กๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ มันสอนให้พวกเขาเห็นถึงความสำคัญของความพากเพียรในการเผชิญกับความท้าทาย

แบ่งปันเรื่องราวของบุคคลที่เอาชนะความยากลำบากด้วยความมุ่งมั่น เพื่อพัฒนาทัศนคติ ‘ไม่ยอมแพ้’ ในตัวเด็ก พวกเขาจะความพร้อมมากขึ้นในการรับมือกับอุปสรรคที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ บนเส้นทางการเป็นผู้ประกอบการ

5. ปลูกฝังทัศนคติการเติบโต 

ทัศนคติการเติบโต หรือ ‘Growth Mindset’ คือ ความเชื่อที่ว่าความสามารถ และสติปัญญาสามารถพัฒนาได้ผ่านความพยายาม และการเรียนรู้ ส่งเสริมให้เด็กๆ ยอมรับความท้าทายและมองว่ามันคือโอกาสในการพัฒนา มากกว่าที่จะเป็นอุปสรรคต่อความสามารถของพวกเขา

ชื่นชมความพยายามและกลยุทธ์ของพวกเขาแทนที่จะมุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์เพียงอย่างเดียว กรอบความคิดนี้ส่งเสริมความรักในการเรียนรู้ และความเต็มใจที่จะเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้เป็นคุณลักษณะที่สำคัญของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ

6. ส่งเสริมความรู้ทางการเงิน

การทำความเข้าใจพื้นฐานของการเงิน คือสิ่งสำคัญของการเป็นผู้ประกอบการ ควรสอนเด็กๆ เรื่องการออม การจัดสรรงบประมาณ และการลงทุนให้เหมาะสมตามวัย

กระตุ้นให้พวกเขาก่อตั้งธุรกิจง่ายๆ เช่น การขนมหน้าบ้าน เพื่อแนะนำให้พวกเขารู้จักแนวคิดต่างๆ อย่าง กำไร ค่าใช้จ่าย และความพึงพอใจของลูกค้า การเปิดรับความรู้ทางการเงินตั้งแต่เนิ่นๆ ทำให้พวกเขามีทักษะที่จำเป็นในการจัดการทรัพยากรในอนาคต

7. ให้โอกาสในการเป็นผู้นำ

ผู้ประกอบการมีบทบาทเป็นผู้นำร่วมด้วย โดยต้องตัดสินใจในเรื่องที่ซึ่งสามารถกำหนดทิศทางของกิจการได้ ส่งเสริมให้เด็กๆ รับผิดชอบในการเป็นผู้นำในโรงเรียน ชมรม หรือโครงการในชุมชน ประสบการณ์เหล่านี้ช่วยให้พวกเขาพัฒนาทักษะในการสื่อสาร เรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่น และตัดสินใจในเรื่องที่ส่งผลต่อความสำเร็จของกลุ่ม

8. Role Model แบบอย่างที่ดี

แบบอย่างที่ดีส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการกำหนดแรงบันดาลใจและทัศนคติของเด็ก แนะนำให้เด็กๆ รู้จักเรื่องราวของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นนักสร้างสรรค์เทคโนโลยีอย่างสตีฟ จ็อบส์ หรือผู้ประกอบการทางสังคมอย่างมะลาละห์ ยูซัฟซัย เรื่องราวเหล่านี้สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ฝันใหญ่และเชื่อในศักยภาพของตนเองในการสร้างการเปลี่ยนแปลง

9. ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์

การเป็นผู้ประกอบการมักเกี่ยวข้องกับการสร้างเครือข่ายและการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น สอนเด็กๆ ถึงคุณค่าของการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การฟังอย่างกระตือรือร้น และการสร้างความสัมพันธ์ที่แท้จริง ให้พวกเขามีส่วนร่วมในกิจกรรมกลุ่ม และโครงการที่ต้องมีการทำงานร่วมกัน ส่งเสริมความสามารถในการทำงานกับบุคลิกและมุมมองที่หลากหลาย

10. เป็นตัวอย่าง

วิธีที่ทรงพลังที่สุดในการปลูกฝังแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการในเด็ก ก็คือการทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง แสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติต่างๆ เช่น ความยืดหยุ่น ความคิดสร้างสรรค์ และความเต็มใจที่จะเรียนรู้ในชีวิตของคุณเอง 

แบ่งปันประสบการณ์ความท้าทายและความสำเร็จของคุณ โดยเน้นบทเรียนที่คุณได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน แบบอย่างของคุณสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ นำคุณลักษณะเหล่านี้มาใช้และประยุกต์ใช้กับความพยายามของพวกเขา

[ สรุปส่งท้าย]

การปลูกฝังแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการในเด็กถือเป็นการลงทุนเพื่อความสำเร็จในอนาคต และการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้น ด้วยการส่งเสริมความอยากรู้อยากเห็น การเปิดรับความล้มเหลว การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และการสอนให้มีความยืดหยุ่น เราจึงสามารถเสริมศักยภาพให้กับนักสร้างสรรค์และผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงรุ่นต่อไปได้

ในฐานะผู้ปกครอง ถือเป็นความรับผิดชอบของคุณในการให้คำแนะนำและการสนับสนุนที่จำเป็นเพื่อช่วยให้เด็กๆ พัฒนาทักษะและกรอบความคิดที่จำเป็นต่อการเติบโตในโลกที่พัฒนาอยู่ตลอดเวลา

“คุณไม่จำเป็นต้องคาดหวังให้ลูกๆ เป็นผู้ประกอบการ คุณเพียงแค่คาดหวังว่าทักษะของผู้ประกอบการสามารถทำให้เด็กๆ ใช้ชีวิตได้ดีขึ้นในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วก็พอ”

เขียนโดย ธนพนธ์ หัสกรรัตน์

Source: https://www.indiatoday.in/education-today/featurephilia/story/10-essential-tips-for-cultivating-entrepreneurial-mindset-in-children-2430654-2023-09-04?fbclid=IwAR0BhQBVYrcQZAmi6C0estAO2Nhbin2-holM5WIvUBdeUimjOzW29UFtc6o