LOADING

Type to search

‘Traffy Fondue’ คืออะไร แก้ปัญหาเส้นเลือดฝอยกรุงเทพฯ อย่างไรบ้าง? สำรวจปัญหาโครงสร้างเมืองแบบชัชชาติ สิทธิพันธุ์

‘Traffy Fondue’ คืออะไร แก้ปัญหาเส้นเลือดฝอยกรุงเทพฯ อย่างไรบ้าง? สำรวจปัญหาโครงสร้างเมืองแบบชัชชาติ สิทธิพันธุ์
Share

จากเมืองที่เต็มไปด้วย ‘ปัญหา’ สู่เมืองที่เต็มไปด้วย ‘ความน่าอยู่’

นี่คงเป็นประโยคที่สามารถสะท้อนภาพในฝันของ ‘กรุงเทพฯ’ ที่ทุกคนต้องการได้เป็นอย่างดี และความต้องการอันแรงกล้านี้ ได้ถูกเปลี่ยนเป็นความมุ่งมั่นในการจรดปลายปากกาลงบนบัตรเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เพื่อลงคะแนนเสียงให้ ‘ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร’ คนใหม่ และชาวกรุงเทพฯ กว่า 1.3 ล้านคน ก็ได้มอบความไว้วางใจให้กับ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ชายผู้มาพร้อมกับนโยบายกว่า 200 ข้อ ที่จะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน

หลังจากที่ผลการเลือกตั้งออกมาเป็นเอกฉันท์ เขาก็เริ่มลงพื้นที่สำรวจปัญหาต่างๆ ในกรุงเทพฯ รวมถึงผลักดันนโยบายบางส่วน จนรุดหน้าไปไกล และใกล้สำเร็จ ก่อนที่จะได้รับการรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสียอีก เรียกได้ว่า ‘แข็งแกร่ง’ สมกับฉายา ‘ชายที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี’ จริงๆ

และล่าสุด เมื่อวานนี้ (29 พฤษภาคม) ชัชชาติได้เปิดตัวระบบ ‘รายงานปัญหาเส้นเลือดฝอย’ ผ่านทางทวิตเตอร์ส่วนตัว ซึ่งเป็นระบบที่ต่อยอดมาจากแพลตฟอร์มสัญชาติไทยที่มีชื่อว่า ‘Traffy Fondue’ โดยนำมาออกแบบให้เข้ากับบริบทของกรุงเทพฯ มากขึ้น และเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าไปแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ได้ เพียงแค่แอดไลน์ (Line) (https://bit.ly/3wSBg2d) ถ่ายรูป แจ้งปัญหา ระบุตำแหน่ง และติดตามผลได้ที่ https://bit.ly/3wXBQvs

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่า ‘Traffy Fondue’ คือแพลตฟอร์มเกี่ยวกับอะไร? ทำไมทีมของชัชชาติจึงเลือกใช้เป็นระบบหลักในการรับร้องเรียนปัญหาจากชาวกรุงเทพฯ?

Traffy Fondue คือแพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาจากนักวิจัยไทยที่นำทีมโดย ‘วสันต์ ภัทรอธิคม’ นักวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่จะยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในอนาคต

จริงๆ แล้ว กรุงเทพฯ ในยุคของว่าที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ไม่ใช่ที่แรกที่มีการนำแพลตฟอร์มนี้มาใช้ เพราะก่อนหน้านั้น มีทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้นำระบบไปใช้ในหน่วยงานของตนก่อนแล้ว เช่น เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ สถานีรถไฟหัวลำโพง พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์
แห่งประเทศไทย เป็นต้น

หากพูดถึงการทำงานของแพลตฟอร์ม ก็ต้องบอกว่า ทีมนักวิจัยออกแบบให้ใช้งานง่ายมากๆ ใครๆ ก็สามารถใช้งานได้ เพียงแค่เชื่อมต่อกับบัญชีผู้ใช้งานไลน์ และทำการส่งปัญหาที่ต้องการร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อหน่วยงานเหล่านั้นรับเรื่อง ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการแก้ปัญหาต่อไป โดยจะมีการขึ้นสถานะอยู่ตลอดว่า ปัญหาที่เราทำการแจ้งไปถึงไหนแล้ว หรืออาจมีการเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบของ ‘Open Data’ ที่ใครๆ ก็สามารถติดตามผลการดำเนินงานได้

และการที่กรุงเทพฯ เริ่มใช้ระบบรายงานปัญหาเส้นเลือดฝอยมาเป็นแกนหลักเพื่อรับเรื่องร้องเรียนจากชาวกรุงเทพฯ เช่นนี้ จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกอย่างไรบ้าง?

ลดขั้นตอนการติดต่อกับส่วนราชการและหน่วยงานที่รับผิดชอบ

อย่างที่ทราบกันดีว่า การที่จะเข้าไปติดต่อกับหน่วยงานราชการในแต่ละครั้ง ต้องใช้เวลา ‘เยอะมาก’ เพราะมีขั้นตอนหลายอย่าง ยิ่งขั้นตอนเกี่ยวกับการร้องเรียนปัญหายิ่งไปกันใหญ่ เพราะในความเป็นจริง เราไม่สามารถเดินไปบอกหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ในทันทีว่า เกิดปัญหาเช่นนี้นะ คุณต้องเร่งแก้ไข ก่อนที่จะสายเกินไป ฯลฯ เนื่องจาก ต้องมีการเตรียมเอกสารปึกใหญ่ที่รวบรวมข้อมูลของปัญหานั้นๆ แล้วส่งมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งระบบเดิมนั้น มีช่องโหว่อยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น กว่าจะแก้ปัญหาได้เสร็จต้องใช้เวลาอีกนานแค่ไหนก็ไม่ทราบได้ รวมถึงปัญหาที่เราร้องเรียนไป ถึงขั้นตอนไหนแล้วก็ติดตามไม่ได้ แถมการที่ต้องส่งเอกสารปึกใหญ่ก็ทำให้เกิดการใช้กระดาษมากเกินความจำเป็น และมันอาจกลายเป็นขยะในอนาคตที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอีก

ดังนั้น การนำระบบรายงานปัญหาเส้นเลือดฝอยมาใช้ นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาช่องโหว่เดิมๆ อย่างการที่ไม่ต้องเสียเวลาไปกับขั้นตอนที่ไม่จำเป็น และลดการใช้กระดาษได้อย่างมหาศาลแล้ว ยังทำให้ขั้นตอนการทำงานสะดวกขึ้นด้วย เพราะทีมงานจะเห็นข้อมูลทางสถิติจากระบบหลังบ้านว่า ปัญหาที่คนแจ้งมามากที่สุดคืออะไร และปัญหาใด คือปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เรียกง่ายๆ ว่า เป็นการทำงานกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่หรือ ‘บิ๊กดาต้า’ (Big Data) เครื่องมือสำคัญที่ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกประสบความสำเร็จมานักต่อนักนั่นเอง

พัฒนาศักยภาพของ ‘เมือง’ โดยตรง พัฒนาศักยภาพของ ‘คน’ ในทางอ้อม

แน่นอนว่า ระบบนี้ เกิดมาเพื่อแก้ปัญหาของเมืองโดยเฉพาะ เมื่อประชาชนสามารถส่งเรื่องร้องเรียนให้กับผู้ว่าฯ ได้โดยตรงแบบที่ไม่ต้องผ่านตัวกลาง และขั้นตอนมากมาย การดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาก็เร็วขึ้นกว่าเดิม ยิ่งเร็วขึ้นเท่าไร เมืองก็จะยิ่งมีศักยภาพที่ส่งเสริมการใช้ชีวิตของผู้คนได้มากขึ้นเท่านั้น

ลองคิดภาพตามเล่นๆ ว่า เมื่อวันที่ปัญหารถติดในกรุงเทพฯ ได้รับการคลี่คลาย ผู้คนก็ไม่จำเป็นต้องตื่นเช้า เพื่อหนีรถติดอีกต่อไป ทำให้มีประสิทธิภาพในการเรียนรู้หรือการทำงานมากขึ้น และนี่คือการที่ศักยภาพของคน ได้ถูกพัฒนาไปพร้อมๆ กับศักยภาพของเมืองด้วย

ก้าวแรกของการทำให้คนมีส่วนร่วมกับเมือง จนเกิดเป็น ‘City Maker’ คนสร้างเมืองที่มีแต่ใช่กับใช่

หากจะกล่าวว่า ความเปลี่ยนแปลงในข้อนี้ เป็นผลพลอยได้จากการนำระบบมาใช้ และเป็นการสร้าง ‘การรับรู้ต่อแบรนด์’ (Brand Awareness) ที่มีต่อกรุงเทพฯ โฉมใหม่ก็คงไม่ผิดนัก เพราะลองมาคิดดูดีๆ แล้ว นี่เป็นวิธีการที่คล้ายกับกลยุทธ์ชวนชิมตามห้างอยู่ไม่น้อย ในขณะที่เราเดินผ่านบูธ พนักงานเรียกให้เราลองชิมสินค้า หากเราถูกใจในรสชาติ หรือองค์ประกอบอื่นๆ ก็จะตัดสินใจซื้อทันที

การที่เราแจ้งปัญหาผ่านระบบนี้ ก็เป็นเหมือนการชิมลางในฐานะ ‘คนสร้างเมือง’ (City Maker) ท่านหนึ่ง เมื่อปัญหาแรกที่แจ้งไปได้รับการแก้ไข เราจะเกิดความอินบางอย่างกับการสร้างเมืองที่น่าอยู่ ดังนั้น เมื่อมีครั้งแรก ครั้งที่สอง ครั้งที่สาม ก็จะตามมาเรื่อยๆ ทำให้ทีมบริหารมีข้อมูลในการพัฒนาเมืองอย่างตรงจุดมากขึ้น และในที่สุด กรุงเทพฯ ก็จะกลายเป็นเมืองที่มีแต่ใช่กับใช่

จริงๆ แล้ว ระบบรายงานปัญหาเส้นเลือดฝอยเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการพากรุงเทพฯ ไปสู่การเป็นเมืองที่น่าอยู่ ซึ่งความสำเร็จต่อจากนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากขาดความร่วมมือจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้งทีมบริหาร หน่วยงานที่รับผิดชอบทุกภาคส่วน และผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมือง

ดังนั้น เราจึงหวังว่า นอกจากที่ระบบรายงานปัญหาเส้นเลือดฝอย จะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่แล้ว ยังเป็นเครื่องมือที่สะท้อนให้เห็นว่า การพัฒนาเมืองเป็นเรื่องของทุกคน และคนคือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เมืองเติบโตได้นั่นเอง

Sources: https://bit.ly/3wW69Ee

https://bit.ly/3wOMgh2

https://bit.ly/3zazagO

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like