LOADING

Type to search

‘Tokenomics’ เข้าใจวงจรเงินคริปโตฯ สิ่งที่ควรรู้ไว้ก่อนลงทุน

‘Tokenomics’ เข้าใจวงจรเงินคริปโตฯ สิ่งที่ควรรู้ไว้ก่อนลงทุน
Share

“คริปโตฯก็แค่แชร์ลูกโซ่”

หนึ่งในคำปรามาสที่ถูกใช้กล่าวถึงคริปโตเคอร์เรนซี หรือสกุลเงินดิจิทัลบนระบบบล็อกเชนมาอย่างยาวนาน คำปรามาสนี้ยังรวมไปถึงบริการต่างๆ บนระบบของบล็อกเชนด้วย เช่น NFT Art, NFT Game ไปจนถึงบริการ DeFi ต่าง ๆ และในความเป็นจริงคริปโตฯ ก็ไม่ใช่ระบบการเงินแบบแชร์ลูกโซ่แต่อย่างใด เพราะเหรียญเช่น Bitcoin, Etherium และอื่นๆ มีการใช้งานของมันอย่างชัดเจน และทำให้มันมีมูลค่าจริง ไม่ใช่แค่ตัวเลขที่ถูกตั้งขึ้นมาเฉย ๆ

แต่การใช้งานของคริปโต NFT ไปจนถึง DeFi หลายกรณีกลับเป็น “แชร์ลูกโซ่” จริงๆ

ก่อนอื่นเราอาจต้องพูดถึงนิยามของ “แชร์ลูกโซ่”

ความหมายของคำว่าแชร์ลูกโซ่นั้นถูกกล่าวออกไปอย่างหลากหลาย เพราะส่วนมากแล้วแชร์ลูกโซ่แบบต้นตำรับที่เราน่าจะเคยเห็นผ่านตากันมา คือการระดมทุนโดยสัญญากับผู้ร่วมลงทุนว่าจะให้ผลตอบแทนจำนวนมากกับคนที่ลงเงิน และคนแรกๆ ที่เข้าร่วมกับธุรกิจแชร์ลูกโซ่เหล่านี้จะได้ผลตอบแทนตามที่ว่าไว้จริง แล้วพวกเขาก็จะนำเสนอโครงการระดมทุนนี้ให้ผู้อื่นเอาเงินมาลงอีก และในท้ายที่ผู้ร่วมลงทุนคนท้ายๆ ก็จะสูญเงินที่ลงทุนไป เพราะถูกนำไปจ่ายให้กับผู้ลงทุนก่อนหน้าไปหมดแล้ว

“แชร์ลูกโซ่” วันนี้ปรากฎมาในลักษณะที่หลากหลายขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่มีร่วมกันในธุรกิจแชร์ลูกโซ่เหล่านี้คือ พวกเขาไม่ได้สร้างมูลค่าใดเพิ่มขึ้นมาเลย (หรืออาจจะสร้างแต่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น) เช่นผมบอกคุณว่าให้คุณลงทุนเงิน 2,000 บาทในบัตรสมาชิก และทุก ๆ เดือนผมจะโอนเงินกลับไปให้คุณเดือนละ 500

ดูเหมือนเป็นข้อตกลงที่น่าเย้ายวน หรือหากใครเข้าใจการเงินจริงๆ ก็จะรู้ทันทีว่านี่คือขายฝัน เพราะแค่บัตรสมาชิกที่ว่านั้นไม่สามารถสร้างมูลค่าใดๆ ขึ้นมาได้เลย และนั่นหมายความว่าเงินที่นำมาจ่ายเป็นปันผลให้กับสมาชิกนั้นก็มาจากการเก็บเงินสมาชิกที่เข้ามาใหม่เท่านั้น

ในช่วงแรกแชร์ลูกโซ่เหล่านี้จึงสามารถจ่ายปันผลให้กับผู้เข้าร่วมได้ และทำให้มีคนเข้ามาสนใจที่จะจ่ายเงินเพื่อเข้าร่วมในห่วงโซ่นี้กันมากขึ้น แต่ในท้ายที่สุดไม่ว่าจะมีเงินหมุนเวียนแค่ไหน เมื่อไม่มีเงินที่เสริมเข้ามาจากภายนอก คือไม่มีคนจ่ายเงินลงทุนเข้ามาใหม่มากพอ ห่วงโซ่นี้ก็จะขาดลง และทั้งระบบก็จะล่ม แล้วสิ่งนี้มันเกี่ยวกับคริปโตฯ อย่างไร

หากเรามองคอนเซปของคริปโตฯ ที่วางตัวเป็นสกุลเงิน และคาดหวังที่จะถูกใช้งานจริงในอนาคต เราไม่สามารถปฏิเสธมูลค่าของมันได้ แต่ในหลายกรณีการใช้งานเราจะเห็นว่าคริปโตฯ และบริการบางอย่างบนบล็อกเชนไม่มีวิธีการในการสร้างมูลค่าให้กับตัวเองเลย เช่นเหรียญ ‘SQUID’ ที่ตั้งชื่อตามซีรีส์ดัง ‘Squid Game’ ซึ่งเป็นเหรียญที่ปรากฎขึ้น และได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วจากการเกาะกระแสซีรีส์ มูลค่าของเหรียญนี้พุ่งจาก 0.01 ดอลล่าร์ ไปสูงถึง 3,000 ดอลล่าร์ ในเวลาสุดสัปดาห์เดียว

แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือการเทขายจากเจ้าของแพลตฟอร์มเหรียญ ที่ทำให้เหรียญซึ่งอาจถูกบันทึกได้ว่าเป็นเหรียญซึ่งเติบโตในเชิงมูลค่าได้เร็วที่สุดเหรียญหนึ่งในประวัติศาสตร์ เหลือมูลค่า 0 ดอลล่าร์ในชั่วข้ามคืน

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้คือการหลอกลวงอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เราจะเห็นได้จากตัวอย่างนี้ว่าคริปโตฯ สามารถเป็น “แชร์ลูกโซ่” ได้อย่างไร

ถ้าเป็นเช่นนั้นทำไมทุกคริปโตฯไม่ใช่แชร์ลูกโซ่

นี่คือเหตุผลที่เราควรเข้าใจคอนเซปของ Tokenomics ตั้งแต่วันนี้

Tokenomics คือการรวมกันของคำว่า Token + Economics หรือสามารถแปลได้ว่ามันคือวงจรทางเศรษฐกิจของเหรียญโทเคน (คริปโตฯ) เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเหรียญใดไม่ใช่แชร์ลูกโซ่ ก็คือการดูว่าวงจรเศรษฐกิจของเหรียญนั้น หรือ Tokenomics ของมันเป็นอย่างไร

การประเมินอย่างง่ายของ Tokenomics สามารถทำได้จากการตั้งคำถามง่าย ๆ ว่า “เหรียญนี้มีไว้เพื่ออะไร” การตอบคำถามนี้เป็นการบอกเราว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้เหรียญนี้มีมูลค่า นอกเหนือจจากเม็ดเงินที่ถูกอัดเข้าของนักลงทุน

เหรียญแต่ละเหรียญสามารถมีวัตถุประสงค์ของตัวเองได้อย่างหลากหลาย ทั้งเหรียญที่ถูกวางไว้เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับบริการต่าง ๆ บนบล็อกเชนอย่าง Etherium หรือเหรียญที่มีไว้เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ เช่น BNB ซึ่งเป็นเหรียญของแพลตฟอร์ม Binance ที่สร้างรายได้จากการหัก % ในการแลกเปลี่ยนต่าง ๆ

ในขณะที่เหรียญอย่าง Bitcoin เองก็มีมูลค่าในตัวผ่านแนวทางที่ต่างออกไป นั่นคือการมีจำนวนที่จำกัด และหายากขึ้นเรื่อย ๆ ตามเวลา ซึ่งทำให้ต่อไปมูลค่าของ Bitcoin จะสูงขึ้นไป จากความต้องการ (Demand) ที่สวนทางกับสิ่งที่มี (Supply) มากขึ้นไปเรื่อย ๆ แม้ Bitcoin จะไม่ใช่เหรียญที่สร้างรายได้ให้กับตัวเอง แต่ Bitcoin ยังคงมีมูลค่าในฐานะคริปโตที่มีคุณสมบัติในการเป็นสกุลเงินที่ไม่มีตัวกลางได้ดี

สิ่งสำคัญในวันนี้ ขณะที่คริปโตฯ และบริการบนบล็อกเชนกำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก และมีมูลค่ามากขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งที่เราจะต้องมองให้ออกก่อนลงทุนในสิ่งใดก็ยังคงเป็นคำถามพื้นฐานง่าย ๆ

“สิ่งนี้มีมูลค่าขึ้นมาได้อย่างไร”

Tags::