LOADING

Type to search

สินค้าที่ดีต้องเริ่มจาก ‘องค์กร’ ที่แข็งแกร่ง ‘ทิปโก้’ เจ้าตลาดน้ำผลไม้ที่ครองส่วนแบ่งกว่า 40%

สินค้าที่ดีต้องเริ่มจาก ‘องค์กร’ ที่แข็งแกร่ง ‘ทิปโก้’ เจ้าตลาดน้ำผลไม้ที่ครองส่วนแบ่งกว่า 40%
Share

หากพูดถึงเครื่องดื่มที่เด็กดื่มได้ ผู้ใหญ่ดื่มดี หลายๆ คนคงนึกถึง ‘น้ำผลไม้’ สีสันสดใส ที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์ของสารสกัดจากผลไม้ อีกทั้งรสชาติเปรี้ยวๆ หวานๆ ยังช่วยให้ทานง่าย ยิ่งดื่มแบบเย็นยิ่งชื่นใจ จนกลายเป็นเครื่องดื่มที่บางครอบครัวต้องมีติดตู้เย็นไว้เสมอ

เมื่อน้ำผลไม้เป็นเครื่องดื่มที่ใครๆ ก็ดื่มได้ เท่ากับว่า กลุ่มลูกค้าของตลาดน้ำผลไม้จะมีจำนวนมหาศาล และกลายเป็นเค้กก้อนโตแสนหอมหวานที่ผู้เล่นหลายรายต้องการเข้ามาตักตวงชิ้นเค้กให้ได้มากที่สุด

ปัจจุบัน การแข่งขันของตลาดน้ำผลไม้ในไทยค่อนข้างดุเดือด เพราะนอกจากจะมีผู้เล่นหลายรายแล้ว ยังมีสินค้าหลากหลายประเภทให้เลือกสรร ไม่ว่าจะเป็นน้ำผลไม้แบบพรีเมียม น้ำผลไม้น้ำตาลน้อย น้ำผลไม้ผสมวิตามินซี และอื่นๆ อีกมากมาย

แต่อุปสรรคของผู้เล่นในตลาดน้ำผลไม้ไม่ได้มีแค่การต่อสู้กับผู้เล่นด้วยกัน เมื่อความนิยมในการดื่มน้ำผลไม้ลดลง เหล่าผู้เล่นต่างก็ต้องปรับตัวด้วยกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อเอาชนะใจผู้บริโภค และหนึ่งในผู้เล่นที่ปรับตัวได้อย่างน่าสนใจก็คือ ‘ทิปโก้’ (Tipco) แบรนด์รุ่นใหญ่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาถึง 46 ปี

ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมา 40 กว่าปี ทำให้ทิปโก้ครองตำแหน่งเจ้าตลาดน้ำผลไม้ที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ มาอย่างยาวนาน และที่สำคัญรายได้ของปี พ.ศ. 2565 ในครึ่งปีแรกก็ทะลุ 1 พันล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

กลยุทธ์ที่ทำให้ ‘ทิปโก้’ สามารถยืนหยัดท่ามกลางคู่แข่ง และความซบเซาของตลาดน้ำผลไม้คืออะไร? Future Trends จะพาทุกคนไปร่วมถอดกลยุทธ์ของทิปโก้พร้อมๆ กัน

ไม่ใช่แค่การปรับตัว แต่ต้องใส่ ‘ความสร้างสรรค์’ เข้าไปในสินค้าด้วย

กว่าจะมาเป็นชื่อ ‘ทิปโก้’ แบรนด์น้ำผลไม้ที่รู้จักกันอย่างทุกวันนี้ จริงๆ มีจุดเริ่มต้นจากการเป็นบริษัทแปรรูปสับปะรดมาก่อน ในขณะนั้นดำเนินงานภายใต้ บริษัท สับปะรดไทย จำกัด ที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2519 ซึ่งบริษัทก็เติบโตเรื่อยมา และสามารถเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยชื่อ ’TIPCO’ ในปี พ.ศ. 2532 ได้สำเร็จ

ถึงแม้ว่า เส้นทางการดำเนินธุรกิจของทิปโก้ดูจะโรยไปด้วยกลีบกุหลาบ แต่จริงๆ แล้วมีช่วงเวลาที่แบรนด์ต้องพบกับอุปสรรคอยู่มากมายเช่นกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ‘โควิด-19’ มหันตภัยร้ายที่เป็นเหมือนฤดูหนาวอันหนาวเหน็บของโลกธุรกิจ

Tipco

การมาของโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่การชะลอตัวของภาคธุรกิจเท่านั้น แต่ยังทำให้เทรนด์การบริโภคเปลี่ยนไปด้วย ผู้บริโภคหลายคนหันมาให้ความสนใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ยอดขายของน้ำผลไม้แบบกล่องลดลง ทำให้แบรนด์ต้องออกสินค้าไลน์ใหม่ เพื่อเอาใจคนรักสุขภาพโดยเฉพาะ และผลักดัน ‘Squeeze’ ร้านสมูททีของแบรนด์ให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีสินค้าไลน์ใหม่ที่ฉีกกรอบจุดยืนของแบรนด์ (Brand Positioning) นั่นก็คือ ‘ทิปโก้ อิซซี่และทิปโก้ โซซ่าน้ำโซดากลิ่นผลไม้ที่ผสมผสานความเป็นน้ำโซดาและผลไม้ได้อย่างน่าสนใจ ถือเป็นการพาตัวเองไปสู่น่านน้ำใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องท้าชนกับผู้เล่นรายใหญ่ที่อยู่มานานกว่า และยังเป็นกลยุทธ์ที่สะท้อนถึงการใส่ความสร้างสรรค์เข้าไปในสินค้า ทำให้เกิดสินค้าใหม่ๆ ที่เข้ามาเติมเต็มให้แบรนด์แข็งแกร่งกว่าเดิม

สินค้าที่ดีต้องเริ่มจาก ‘องค์กร’ ที่แข็งแกร่ง

ถึงแม้ว่า ทิปโก้จะมีกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่แข็งแกร่ง และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้บริษัทผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤตมาได้ แต่กลยุทธ์เหล่านั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากวิธีการทำงานภายในองค์กรไม่เอื้อต่อคนทำงาน

ออซ แอลอน (Oz Alon) ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ HoneyBook ได้พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ความสร้างสรรค์’ และ ‘องค์กร’ ไว้อย่างน่าสนใจ เขาบอกว่า “องค์กรเป็นพื้นฐานของความสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเล็กหรือใหญ่ มีเงินทุนมากหรือน้อย หากไม่สร้างวัฒนธรรมองค์กร (Company Culture) ให้ดี ความสร้างสรรค์จะไม่มีทางเกิดขึ้นเลย”

และปัจจัยที่ส่งเสริมให้ทิปโก้ประสบความสำเร็จ ก็มาจากการที่บริษัทมีค่านิยมองค์กร (Core Value) ที่ส่งเสริมให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข โดยแนวคิดการบริหารงานของบริษัทยังแฝงอยู่ในตัวอักษรที่ประกอบกันเป็นชื่อแบรนด์ด้วย ได้แก่

T – Teamwork = ความร่วมมือร่วมใจ

I – Integrity = ความจริงใจ

P – Prudence = ความรอบคอบ

C – Commitment = ความเชื่อมั่น

O – Open-mind = การเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ

แนวคิดทั้งห้าข้อเป็นหัวใจสำคัญของการทำงาน การผสมผสานแนวคิดทั้งหมดอย่างลงตัว ย่อมก่อให้เกิดวิธีการทำงานที่สามารถดึงศักยภาพของพนักงานได้เต็มที่ และที่สำคัญยังช่วยส่งเสริมบรรยากาศการทำงานให้เป็นไปในทางที่ดี ถือเป็นแรงกระตุ้นเชิงบวกที่ช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน

บทเรียนความสำเร็จของ ‘ทิปโก้’ สะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้จะมีเวลา เงินทุน และทรัพยากรที่มากมายขนาดไหน แต่ถ้ารากฐานของธุรกิจอย่าง ‘องค์กร’ ไม่แข็งแกร่งพอ กลยุทธ์ที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จคงไม่มีทางเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

Sources: https://bit.ly/3RO8TL2

https://bit.ly/3VmXUv6

https://bit.ly/3CoawcJ

https://bit.ly/3CNZ6jU

https://bit.ly/3MnJdne

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like