LOADING

Type to search

‘The Quiet Era’ กับการมาของ 5 แนวคิดการทำงานแห่งความเงียบ
Share

ตลอดช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา คำศัพท์สุดคลาสสิกอย่าง “Quiet” หรือ “ความเงียบ” ถูกหยิบยกมาพูดถึงในแง่มุมของการทำงานกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น Quiet Quitting การลาออกของพนักงานแบบเงียบๆ ,Quiet Firing การบีบให้พนักงานลาออกแบบเงียบๆ ,Quiet Hiring การรัดเข็มขัด ลดต้นทุนแบบเงียบๆ ของบริษัท, Quiet Promotion การมอบหมายงานเพิ่ม แต่ยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิม และ Quiet Thriving การปรับเปลี่ยนวิธีการเพื่อให้อยู่ร่วมกับงานอย่างมีความสุข

จนนาทีนี้ อาจเรียกได้ว่า นี่คือยุคสมัยแห่งความเงียบ หรือ The Quiet Era เลยก็ว่าได้ เพราะไม่ว่าจะไถฟีดไปทางไหน ก็มักจะเจอคำศัพท์ตระกูลนี้อยู่บ่อยๆ รวมไปถึงถ้าลองประเมินความน่าจะเป็นแล้ว ก็น่าจะมีคำศัพท์ที่ขึ้นต้นด้วย “Quiet” ออกมาอีกเรื่อยๆ ด้วย

แล้วแต่ละคำคืออะไร และมีแนวคิดอย่างไรบ้าง? บทความนี้ Future Trends จะพาไปดูกัน

‘Quiet Quitting’ เมื่อการทำงานหนักไม่ใช่คำตอบที่ใช่

the-quiet-era 1

แม้มนุษย์เงินเดือนกับการลาออกจะเป็นของคู่กัน เพราะต่อให้จะดีต่อกันมากสักเท่าไร แต่ท้ายที่สุดแล้ว ยังไงซะในวันใดวันหนึ่ง พวกเขาก็ต้องเดินจากไปตามเส้นทางใหม่ๆ อยู่ดี

ตามปกติแล้ว เรามักจะคุ้นเคยกับการลาออกที่แท้จริง หรือการเดินไปยื่นซองขาวใบลาออกด้วยตัวเองทันที แต่จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งโควิด-19 ที่เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิต และกระแสการ Layoff พนักงานครั้งใหญ่ ส่งผลให้หลายๆ คนเริ่มกลับมาตั้งคำถามถึงการทำงานหนักอีกครั้งว่า สุดท้ายปลายทางแล้ว การทำงานหนักแบบถวายวิญญาณเช่นนี้ยังคงเป็นหัวใจสำคัญจริงหรือไม่?

Quiet Quitting คือแนวคิดการลาออกแบบเงียบๆ หรือการลาออกทิพย์ของพนักงานที่ทำงานแค่เท่าที่จำเป็น ตามหน้าที่ ตามเงินเดือนที่ได้รับ ไม่ทุ่มเททำงานเกินหน้าที่อีกต่อไป โดยลึกๆ แล้ว พวกเขาก็รู้สึกเหนื่อย และเครียด แต่ที่ไม่ลาออกจริงๆ สักที เนื่องจาก สถานการณ์ต่างๆ ไม่ค่อยสู้ดีทำให้ต้องอดทนก้มหน้าก้มตาทำต่อไป หรือสรุปง่ายๆ ว่า ถึงจะเห็นกายหยาบทำงานอยู่ แต่ใจนั้นลอยออกไปนอกออฟฟิศแล้วนั่นเอง

‘Quiet Firing’ แอบบีบออกอยู่นะจ๊ะ แต่เธอไม่รู้บ้างเลย

the-quiet-era 2

นอกเหนือจาก Quiet Quitting แล้ว อีกแนวคิดที่เกิดขึ้นในฟากฝั่งของบริษัทก็คือ ‘Quiet Firing’ หรือการบีบให้ลาออกอย่างเงียบๆ

Quiet Firing คือคำศัพท์ที่ใช้อธิบายพฤติกรรมของหัวหน้าหรือบริษัทที่พยายามทำให้พนักงานรู้สึกไร้ค่า ไร้ตัวตน จนเลือกลาออกไปเอง โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยในการ Layoff ผ่านวิธีการกดดันทางอ้อมต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นการลดบทบาท ลดหน้าที่ หรือแม้กระทั่งการไม่เชิญให้เข้าร่วมงานในโปรเจกต์สำคัญก็ด้วย

แน่นอนว่า หากพนักงานที่ถูกบีบให้ออกคนนั้นเป็นคนที่ตั้งใจทำงาน ทำผลงานได้ดีมาตลอด แต่เพิ่งจะมาตกม้าตายช่วงหลัง จริงๆ แล้ว แนวคิดนี้ก็อาจจะไม่แฟร์สักเท่าไร ดังนั้น ถ้าไม่ตอบโจทย์กันแล้ว ก็ควรบอกกันดีๆ เคารพ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่ใช้ความเงียบแก้ปัญหา เพราะเราไม่มีทางล่วงรู้ได้เลยว่า โลกจะเหวี่ยงให้กลับมาทำงานด้วยกันอีกทีเมื่อไร

‘Quiet Hiring’ รัดเข็มขัด ลดต้นทุน ลดการจ้างงาน

the-quiet-era 3

ในวันที่โลกเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอด นี่จึงทำให้หลายๆ บริษัทเริ่มหันกลับมาทบทวนถึงกลยุทธ์ที่ใช้อีกครั้งผ่านการ Quiet Hiring

Quiet Hiring คือการจ้างงานแบบเงียบๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ความคล่องตัวของบริษัท ซึ่งช่วยประหยัดทั้งเงิน และเวลาในการสรรหาท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย แถมยังเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานได้ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ตามความสนใจด้วย โดยหลักๆ แล้ว เราแบ่งออกเป็น 2 แบบ ดังนี้

1. Internal Quiet Hiring

การโยกย้ายพนักงานเก่าไปทำอีกตำแหน่งในบริษัท เช่น สายการบินควอนตัส (Qantas) ที่ผู้บริหารแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานปี 2022 ด้วยการ Rotate พนักงานไปเป็นคนจัดสัมภาระของผู้โดยสาร เพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินต่อไปได้ และช่วยให้พนักงานรู้สึกถึงคุณค่า ลดโอกาสในการย้ายงานไปพร้อมๆ กัน

2. External Quiet Hiring

การจ้างพนักงานแบบสัญญาจ้างชั่วคราวในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพื่อทำหน้าที่ดูแลในส่วนงานที่มีความสำคัญที่สุดหรือเร่งด่วนที่สุด

‘Quiet Promotion’ อ้าวเฮ้ยไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่หน่า!

the-quiet-era 4

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ทุกวันนี้ข่าวการ Layoff พนักงานที่เป็นเรื่องไม่ปกติแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติที่หลายๆ คนเห็นตามฟีดโลกโซเชียลกันเป็นประจำด้วยซ้ำ แต่พอจำนวนคนทำงานลด Workload งานยังคงเท่าเดิมอยู่ แน่นอนว่า Survivor ที่เหลืออยู่ก็ต้องเป็นผู้รับชะตากรรมดังกล่าว

Quiet Promotion คือการมอบหมายงาน หน้าที่รับผิดชอบที่มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน พนักงานคนนั้นก็ยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิม ได้รับเงินเดือนที่เท่าเดิม ไม่ได้ถูกโปรโมตหรือให้ค่าชดเชยไปพร้อมปริมาณงานอย่างสมเหตุสมผล โดยทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เป็นอะไรที่ไม่ได้มีการบอกกล่าวเป็นกิจจะลักษณะ

ตรงกันข้ามกับเนื้องานที่เคยตกลงในตอนแรกที่สมัคร เรียกได้ว่า แม้จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของบริษัท แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง ก็ยังเป็นการบ่อนทำลายสุขภาพจิต จนอาจทำให้บริษัทสูญเสียพนักงานฝีมือดีได้ด้วย

‘Quiet Thriving’ อยู่กับงานอย่างแฮปปี้ แค่ปรับเปลี่ยนวิธีการ

the-quiet-era 5

ถึง Quiet Quitting จะเป็นวิธีที่น่าสนใจที่ใช้เอาชีวิตรอดในโลกของการทำงาน แต่นอกเหนือจากแนวคิดนี้แล้ว ก็ยังมีอีกหนึ่งแนวคิดสุดคลาสสิกอย่าง Quiet Thriving ด้วย

Quiet Thriving คือการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน และวิธีคิดให้รู้สึกดี มีส่วนร่วมมากขึ้น หรือพูดง่ายๆ ว่า เป็นแนวคิดที่ทำให้เราค่อยๆ เจริญเติบโตไปพร้อมกับงานอย่างมีความสุข ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาสิ่งที่ชอบ, การ Craft งาน, การเก็บเกี่ยวมิตรภาพ หาเพื่อนสนิทในออฟฟิศ, การตั้งเป้าหมายเล็กๆ , การหากลุ่มคนที่มีความสนใจเรื่องเดียวกัน, การพักเบรกสั้นๆ หรือแม้กระทั่งการลิสต์รายการสิ่งที่ทำสำเร็จก็เช่นกัน

Sources: https://wapo.st/3vfCxA1

https://on.wsj.com/3Vkw7Kk

https://bit.ly/3HkTKPf

https://bit.ly/3S1FtJS

https://cnb.cx/3J9KrmM

https://bit.ly/3J9Iqa2

https://bit.ly/3woKa7C

https://wapo.st/3Wtgf9a

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1

You Might also Like