LOADING

Type to search

คิดงานไม่ออก ไอเดียไม่สดใหม่ ลองใช้ ‘The Braintrust’ สูตรลับระดมสมองเบื้องหลังความสำเร็จของ ‘Pixar’

คิดงานไม่ออก ไอเดียไม่สดใหม่ ลองใช้ ‘The Braintrust’ สูตรลับระดมสมองเบื้องหลังความสำเร็จของ ‘Pixar’
Share

“ใครมีไอเดียอะไรมานำเสนอบ้าง?”

แม้จะเป็นคำถามทั่วไปที่เกิดขึ้นได้ขณะประชุม เพื่อหาไอเดียใหม่ๆ มาปั้นแต่ง ‘ผลงาน’ ที่เป็นหน้าตาของบริษัท แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นคำถามสายฟ้าฟาดจากหัวหน้าผู้เป็นที่รักที่ผ่าลงกลางใจลูกทีม และทำให้บรรยากาศการประชุมเต็มไปด้วย ‘ความเงียบ’

หลายคนคงเคยเจอเหตุการณ์ที่ต้องระดมสมองท่ามกลางการประชุมที่จริงจัง แต่ไม่ได้ไอเดียอะไรกลับมาต่อยอดเป็นงานสักชิ้นเดียว เพราะความตึงเครียดและความกดดัน คืออุปสรรคสำคัญของการได้มาซึ่งไอเดียอันล้ำค่า นี่จึงเป็นปัญหาสามัญประจำออฟฟิศที่พบได้บ่อยๆ และเป็นโจทย์ปัญหาสุดซับซ้อนที่หัวหน้าต้องพยายามแก้ให้ได้

แล้วจะมีวิธีใดบ้างที่ช่วยให้การระดมสมองมีประสิทธิภาพ และได้ไอเดียสดใหม่พร้อมต่อยอดเป็นผลงานสุดสร้างสรรค์เสมอ? Future Trends จะพาไปทำความรู้จักกับ ‘The Braintrust’ เทคนิคระดมสมองที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของบริษัทแอนิเมชันระดับโลกอย่าง ‘Pixar’

‘The Braintrust’ เทคนิคระดมสมองต้นกำเนิดของแอนิเมชันในดวงใจ

Pixar

‘The Braintrust’ หรือ ‘The Pixar Braintrust’ เป็นเทคนิคที่พัฒนาจากวิธีการทำงานของทีมผู้สร้างแอนิเมชันคู่บุญของ Pixar อย่าง ‘Toy Story’ ได้แก่ จอห์น แลสเซเตอร์ (John Lasseter), แอนดรูว์ สแตนตัน (Andrew Stanton), พีต ด็อกเตอร์ (Pete Docter), ลี อันกริช (Lee Unkrich) และโจ แรนฟต์ (Joe Ranft)

เอ็ดวิน แค็ตมัล (Edwin Catmull) ผู้ร่วมก่อตั้ง Pixar กล่าวว่า พวกเขาทั้งห้าคนเป็นคนตลก มีสมาธิ ฉลาด แต่ชอบโต้เถียงกันอย่างไม่ลดละ ซึ่งความพิเศษของการโต้เถียงแต่ละครั้ง คือการคุยเฉพาะเรื่องงานโดยไม่มีเรื่องส่วนตัวมาปะปน ทำให้บทสรุปของการโต้เถียงเกิดจากการโน้มน้าวด้วยเหตุผลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานเท่านั้น

แน่นอนว่า วิธีการทำงานของทีมผู้สร้าง Toy Story ได้กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร (Company Culture) ที่ฝังรากลึกใน Pixar มาอย่างยาวนาน และเป็นวิธีที่กระตุ้นให้เกิดไอเดียใหม่ๆ ผ่านอิสระในการแสดงความเห็น การพูดคุย และการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมีเหตุผล สมกับชื่อ ‘The Braintrust’ ที่ทุกคนเชื่อมั่นในความคิดของกันและกัน และเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายจนกลายเป็นผลงานที่สมบูรณ์

ปัจจุบัน The Braintrust ถูกนำไปใช้ในหลากหลายบริษัท และมีการปรับรูปแบบให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรและวิธีการทำงานของหัวหน้าแต่ละคน ซึ่งรูปแบบของ The Braintrust ที่ Future Trends นำมาฝากในวันนี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการระดมสมองเพื่อหาไอเดียใหม่ๆ และสร้างการมีส่วนร่วมให้ทีมรู้สึกผูกพันกันมากขึ้นได้

อุปกรณ์ที่ต้องใช้สำหรับเทคนิค The Braintrust มีทั้งหมด 3 อย่าง คือกระดาษโน้ต ปากกา และนาฬิกาจับเวลา โดยขั้นตอนของการระดมสมองแบบ The Braintrust เป็นดังนี้

Brainstorm
Image by our-team on Freepik

1. หัวหน้าอธิบายโจทย์ของการระดมสมองหรือสิ่งที่ต้องการจากการประชุมครั้งนี้อย่างชัดเจน เช่น “ทีมของเราต้องการไอเดียที่จะทำแคมเปญโฆษณาให้กับลูกค้ารายหนึ่ง โดยมีรายละเอียดดังนี้…” เพื่อให้ทุกคนเข้าใจจุดมุ่งหมายของการประชุมครั้งนี้ตรงกัน (ใช้เวลา 5 นาที)

2. ลูกทีมทุกคนเขียนข้อสงสัยจากสิ่งที่หัวหน้าอธิบายหรือคำถามที่ต้องการถามเพิ่มเติมลงในกระดาษโน้ต แล้วนำไปแปะที่บอร์ดหรือผนังในห้องประชุม (ใช้เวลา 3 นาที)

3. หัวหน้าทยอยตอบคำถามในกระดาษโน้ตจนครบ (ใช้เวลา 10 นาที)

4. ลูกทีมแต่ละคนคิดไอเดียตามลำพังจากสิ่งที่หัวหน้าอธิบายหรือตอบคำถามเพิ่มเติม ก่อนจะจดไอเดียที่ได้ใส่กระดาษโน้ตของตัวเอง (ใช้เวลา 3 นาที)

5. ลูกทีมแต่ละคนแชร์ไอเดียของตัวเองกับเพื่อนที่อยู่ข้างๆ และแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างกัน (ใช้เวลา 10 นาที)

6. ลูกทีมทุกคนออกมาแชร์ไอเดียของตัวเองพร้อมทั้งนำกระดาษโน้ตที่จดไอเดียต่างๆ ไว้มาแปะที่บอร์ดหรือผนังในห้องประชุม (ใช้เวลา 20 นาที)

7. หัวหน้าตรวจสอบไอเดียทั้งหมดของลูกทีมแต่ละคน และแสดงความเห็นว่า จะนำไอเดียต่างๆ ไปพัฒนาหรือต่อยอดเป็นชิ้นงานอย่างไร (ใช้เวลา 20 นาที)

จะเห็นได้ว่า วิธีการระดมสมองแบบ The Braintrust  ตรงข้ามกับการเสนอไอเดียท่ามกลางการประชุมที่กดดัน โดย The Braintrust จะปล่อยให้จังหวะการเสนอไอเดียเป็นไปอย่างธรรมชาติ เปิดโอกาสให้ทุกคนได้นำเสนอไอเดียของตัวเอง และไม่ตัดสินว่าเป็นไอเดียที่เพ้อฝันหรือเกินจริง เพราะกฎเหล็กของการเสนอไอเดีย คือ ‘ทุกไอเดียสามารถเกิดขึ้นจริงได้’

และที่สำคัญ The Braintrust ยังทำให้ทุกคนได้ฝึกทักษะการพูด การนำเสนอ และการวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นทักษะพื้นฐานของการทำงานอีกด้วย

Sources: https://bit.ly/3GzFm59 

บทเรียน Blitzscailing MasterClass 2023 สอนโดย คริส เยห์ (Chris Yeh) และเจฟฟ์ แอ็บบ็อตต์ (Jeff Abbott) จัดโดย RISE

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1