LOADING

Type to search

Great แล้ว Great อีก ส่อง 6 Buzzword ยอดฮิตในวันที่อะไรๆ ก็ ‘ยิ่งใหญ่’ ไปหมด
Share

เมื่อหลายสิบปีก่อน คำศัพท์ขึ้นต้นด้วย “The Great” ที่เรารู้จักก็คงจะมีอยู่แค่ไม่กี่คำ หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นเจ้าประจำอย่าง ‘The Great Recession’ ที่หมายถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ และ ‘The Great Depession’ ที่หมายถึงวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่รุนแรงกว่าวิกฤตทั่วไปที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ในสายตาของหลายๆ คน ศัพท์แสงตระกูลนี้อาจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่นัก อีกทั้งยังเป็น Buzzword นำหน้าคำต่างๆ ที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่โควิด-19 ได้เข้ามาเปลี่ยนมิติการทำงาน และชีวิตของหลายๆ คน ก่อให้เกิดนิยามใหม่มากมาย ทั้ง The Great Resignation, The Great Remorse, The Great Rejuvenation, The Great Reshuffle, The Great Layoff หรือแม้กระทั่ง The Great Unretirement

แล้วแต่ละคำที่กล่าวมาคืออะไร และมีแนวคิดอย่างไรบ้าง? Future Trends จะพาไปทำความรู้จักให้มากขึ้นกัน

ลาเธอได้สักที ลาก่อนให้เธอโชคดี ‘The Great Resignation’ หนึ่งคนอยู่ หลายคนออก

the-great-era 1

แม้การลาออกจะเป็นเรื่องปกติ และที่สุดแล้ว วันหนึ่งทุกคนต่างก็ต้องแยกย้ายไปเติบโตตามทางของตัวเอง แต่ถ้าต้องเลือกระหว่าง ‘หนึ่งคนอยู่ หลายคนออก’ กับ ‘หนึ่งคนออก หลายคนอยู่’ ตามปกติ ส่วนมากก็มักจะเป็นสถานการณ์แบบหลังมากกว่า

ในทางกลับกัน หากย้อนไปในปี 2021 โลกใบนี้ก็ได้เกิดคำศัพท์ใหม่ขึ้นมา นั่นก็คือ ‘The Great Resignation’ หรือการลาออกครั้งใหญ่ของลูกจ้างนับล้านคนทั่วโลก เป็นผลพวงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้มนุษย์เงินเดือนเริ่มกลับมาทบทวนงานปัจจุบันของตนเองอีกครั้ง

ไม่ว่าจะเป็นแง่มุมของ Work-Life Balance ค่าตอบแทน สวัสดิการ วัฒนธรรมองค์กร ความต้องการที่แท้จริง รวมถึงความรู้สึกเหนื่อยล้าที่ต้องเผชิญกับภาวะหมดไฟ เช่น ถ้าต้องกลับไปทำงานที่ออฟฟิศทุกวัน บางคนขอโบกมือลาไปเริ่มต้นใหม่กับบริษัทที่มีนโยบายการ Work from Home ดีกว่า

การลาออกทั้งหมดนี้เป็นหนึ่งในชิ้นส่วนสำคัญของการจัดลำดับความสำคัญใหม่ หรือที่เรียกว่า ‘The Great Reprioritization’ นั่นเอง นอกจากนี้ ประเด็นดังกล่าวยังเหมารวมไปถึงเรื่อง ‘The Great Breakup’ การลาออกของผู้นำองค์กรที่เป็นผู้หญิงที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อมองหาโอกาสความก้าวหน้าที่ดีกว่าอีกด้วย

คนหนึ่งคนช่างดีกับฉัน ฉันทิ้งเขาลงยังไง ‘The Great Remorse’ จากการลาออกสู่ความสำนึกผิด

the-great-era 2

จริงๆ แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับพนักงานก็ไม่ต่างจากความสัมพันธ์ฉันท์แฟนสักเท่าไร ที่เมื่อมีรัก ก็ต้องมีเลิกรากันไป แต่เวลาเลิกกันแล้วไปคบคนใหม่ คนใหม่กลับไม่ได้ดีอย่างที่คิด ก็ย่อมรู้สึกแย่เป็นธรรมดา

ในโลกของการทำงาน เราเรียกอะไรทำนองนี้ว่า ‘The Great Remorse’ หรือ ‘The Great Regret’ ปรากฏการณ์สำนึกผิด รู้สึกเสียใจครั้งใหญ่ที่มีต้นตอมาจาก The Great Resignation หรือการลาออกครั้งใหญ่

สอดคล้องกับผลสำรวจของจ็อบลิสต์ (Joblist) แพลตฟอร์มหางานที่เผยว่า ท่ามกลางกระแส The Great Resignation มีคนตัดสินใจลาออกกว่า 48 ล้านคน ส่วนใหญ่บอกว่ารู้สึกผิดหรือเสียใจที่ลาออกจากงานเก่า เพราะงานใหม่นั้นหายากกว่าที่คิด และไม่ตรงกับที่ฝันไว้ 

เจม เบลีย์ (James Bailey) ศาสตราจารย์ด้านการพัฒนาความเป็นผู้นำ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน (George Washington University) ให้ความเห็นประเด็นดังกล่าวเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “ช่วงแรกผู้คนจะรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจที่จะลาออก แต่ตอนนี้อาจไม่ใช่แบบนั้น พนักงานต่างมัวเมาในอำนาจ และตอนนี้พวกเขาได้สติแล้ว”

ขอคืนความสุขให้เธอ พนักงาน ‘The Great Rejuvenation’ เมื่อองค์กรคืนชีวิตใหม่ให้พนักงาน

the-great-era 3

หลังเกิดปัญหาการลาออกเป็นจำนวนมาก และมนุษย์เงินเดือนหลายคนตั้งคำถามถึงงานที่ทำตรงหน้าว่า “ถ้าทำแล้วชีวิตไม่ดีขึ้น จะทำไปทำไม?”

ทีนี้ องค์กรจึงเริ่มตระหนักถึงความสำคัญ และฉุกคิดได้ว่า ‘ควรจะคืนชีวิต คืนความสุขให้พนักงานมากขึ้น’ นี่เลยก่อให้เกิดเทรนด์ ‘The Great Rejuvenation’ ที่องค์กรมีการปรับตัวให้ยืดหยุ่น มี Work-Life Balance มากกว่าเดิม เพื่อสร้าง Win-Win Situation ให้เกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย และชุบชูขวัญกำลังใจของพนักงาน

ทั้งการสร้างวัฒนธรรมการทำงานผ่านพลังของการขอบคุณ การเพิ่มความยืดหยุ่น การลงทุนกับการพัฒนาบุคลากร หรือแม้กระทั่งการกำหนดจุดยืนให้ชัดเจนด้วย

ปลิดปลิว เคว้งคว้าง ปลดคนดั่งใบไม้ร่วง ‘The Great Layoff’ ปรากฏการณ์เลิกจ้างครั้งใหญ่

the-great-era 4

นอกเหนือจากอภิมหาการลาออกครั้งใหญ่แล้ว ท่ามกลางความไม่แน่นอนในปัจจุบัน ข่าวการเลิกจ้างก็มักจะปรากฏให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ ราวกับ ‘ใบไม้ที่ร่วงหล่นในฤดูใบไม้ร่วง’

The Great Layoff คือ การปลดพนักงานครั้งใหญ่ที่มีต้นตอมาจากผลกำไรของบริษัทลดลง ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้องค์กรมีการระมัดระวังการใช้จ่าย จนต้องพยายามทำให้ ‘ตัวเบา’ ด้วยการปรับปรุงประสิทธิภาพ และลดจำนวนพนักงานลง

อย่างเช่น ปีที่แล้ว Alibaba ก็มีการปลดพนักงานกว่า 9,000 คน, Microsoft ปลดพนักงาน 2,000 คน, Netflix ปลด 450 คน, Shopee ปลด 2 รอบ รวมกันกว่า 300 คน และ Apple ที่ยกธงขาวปลดพนักงานสัญญาจ้างตำแหน่ง Recruiter ถึง 100 คน

ฉันมาบอกว่าฉันเอง ขอเลือกเดินจากไป ‘The Great Reshuffle’ คลื่นใต้น้ำของภาวะสมองไหล

the-great-era 5

ในวันที่โลกเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน หนึ่งในกระแสที่ก่อตัวขึ้นมาสักพักคงหนีไม่พ้น ‘The Great Reshuffle’ การสับเปลี่ยนงานครั้งใหญ่ที่เปรียบเสมือนคลื่นใต้น้ำอีกระลอก

กล่าวคือ แม้จะมีการลาออก และไล่ออกมากมาย แต่พนักงานสายเทคโนโลยีจะมีการโยกย้ายไปทำงานในภูมิภาคอื่นแทน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิ่งแวดล้อมเดิมๆ เช่น การทำงานกับบริษัทที่อยู่ในอเมริกา แต่ตัวคนนั้นนั่งทำงานอยู่ที่ไทย ไม่ต้องหอบผ้าหอบผ่อนข้ามน้ำข้ามทะเลไปทำงานไกลถึงอเมริกานั่นเอง

อีกทั้ง การโยกย้ายข้ามสายงาน ผันตัวเองไปทำงานอื่นในอุตสาหกรรม และอาชีพใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ชีวิตมากขึ้นก็เช่นกัน สิ่งนี้อาจก่อให้เกิด ‘ปรากฏการณ์สมองไหล (Brain Drain)’ จนองค์กร และประเทศต้องสูญเสียคนเก่งๆ ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญไปในที่สุด…

60 ยังแจ๋ว ‘The Great Unretirement’ กับการมาของวัยเกษียณที่ไม่ยอมเกษียณ

the-great-era 6

ต่อให้อายุ 60 จะเป็นวัยเกษียณ ควรพักผ่อนเลี้ยงลูกหลานอยู่บ้านได้แล้ว ไม่สมควรนั่งทำงานหลังขดหลังแข็งอีกต่อไป แต่ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย ประกอบกับค่าครองชีพพุ่งสูง คนกลุ่มนี้เลยต้องหวนคืนสู่โลกการทำงานอีกครั้ง หรือเรียกว่า ‘The Great Unretirement’

ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ในอังกฤษ จำนวนคนทำงานเต็มเวลาหรือนอกเวลาที่มีอายุมากกว่า 70 ปี เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่าเท่าตัว และทะลุเพดาน 497,946 คน ในไตรมาสแรกของปี 2019

ริคกี คานาบาร์ (Ricky Kanabar) ศาสตราจารย์ด้านนโยบายสังคม มหาวิทยาลัยบาธ (University of Bath) ได้แสดงความเห็นว่า “ส่วนใหญ่พนักงานที่เกษียณแล้วกลับมาทำงานอีกครั้งมักเป็นกลุ่มที่เพิ่งออกจากงานได้ไม่นาน ส่วนคนที่ออกมานานแล้ว ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะกลับสู่โลกการทำงาน เพราะมีค่าเสื่อมทักษะที่เสียไปเข้ามาเกี่ยวข้อง”

คำที่ขึ้นต้นด้วย “The Great” ไม่เพียงแต่จะเป็น Buzzword ที่แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของภาษา และคำใหม่ๆ เท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเรื้อรัง และสภาพแวดล้อมการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งไม่แน่ว่า เร็วๆ นี้ อาจมี The Great ใหม่ๆ เข้ามาเขย่าโลกใบนี้อีกครั้งก็เป็นได้…

Sources: https://bbc.in/40s6XNI

https://bit.ly/3Y867UM

https://bit.ly/3wXYJzz

https://bit.ly/3lgrTHu

https://bit.ly/3wZK8Uj

https://bit.ly/3jG1diT

https://bit.ly/40xJmeG

https://cnb.cx/3wY25m9

https://bit.ly/3KmnNIi

https://bit.ly/3SamEp4

https://bit.ly/4193wMf

https://bit.ly/3YcaX3i

https://bit.ly/3RFNjtR

https://bit.ly/3XcqOxJ

https://reut.rs/3Yu9Zzj

https://reut.rs/3HHObcv

https://bit.ly/3RAEcup

https://cnb.cx/3lhsIzN

https://bbc.in/3jCET9P

https://bit.ly/3x1zE6J

https://bit.ly/3I1jO2k

https://bit.ly/3YekJCi

https://yhoo.it/3YrMdE0

https://bit.ly/3RAFaqx

https://bit.ly/3Y9ZOAh

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1

You Might also Like