Type to search

งานไม่ดี แก้ปัญหาด้วยการรับคนเพิ่มแทน ‘The Fresh Face Effect’ พลังของคนหน้าใหม่

July 02, 2022 By Chompoonut Suwannochin

ในโลกของการทำงาน ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือด การขุดเอากระบวนท่าชั้นเซียน งัดเอาไอเดียแปลกใหม่มาใช้ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะนอกจากจะช่วยสร้าง Impact คุณค่าให้งานสุดยอดขึ้นแล้ว ยังทำให้บริษัทหรือทีมของเราโดดเด่นเหนือคู่แข่งด้วย

แต่ว่ากันตามตรง คนทำงานอย่างเราๆ ไม่ว่าจะเป็นระดับ Entry-level, Mid-level หรือ C-level ก็น่าจะคุ้นเคยกับปัญหาสุดคลาสสิกอย่างไอเดียซ้ำซาก งานออกมาไม่ดี สมองตันอย่างแน่นอน ที่ต่อให้พยายามมากเท่าไร รีดความคิดสร้างสรรค์ เค้นความสามารถครั้งแล้วครั้งเล่า สุดท้าย ก็มูฟออนกลับมาที่ความจำเจแบบเดิมๆ อยู่ดี

แล้วเราจะก้าวข้ามกรอบความคิดซ้ำๆ ได้ยังไง? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปรู้จักกับ ‘The Fresh Face Effect’ พลังของคนหน้าใหม่ที่จะช่วยชีวิตคุณ และทีมกัน

ตามปกติ หลายๆ คนจะเข้าใจว่า การมีคนหน้าใหม่เข้ามาในทีมไม่ใช่เรื่องดีนัก เนื่องจาก การเปลี่ยนไป เปลี่ยนมาทำให้ต้องคอยปรับตัว สร้างความสับสน และความวิตกกังวลอยู่ตลอด ทว่า หากมองให้ลึกลงไป แท้จริงแล้ว บรรดาคนหน้าใหม่ที่เราอาจจะรู้สึกไม่ Comfort ด้วยกลับสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ และความสำเร็จบทใหม่ที่ดีกว่าเดิมต่างหาก

เพียร์ วิทอเรียโอ แมนนูจี (Pier Vittorio Mannucci) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กร, จาแซปปี โซดา (Giuseppe Soda) ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยบอคโคนี (Bocconi University), โรนัลด์ เอส. เบิร์ต (Ronald S Burt) ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยชิคาโก (University of Chicago) บัญญัติผลจากพลังของคนหน้าใหม่ไว้ว่า ‘The Fresh Face Effect’

โดยจากผลการวิจัยทีมงานเบื้องหลังผู้ผลิตซีรีส์ดอกเตอร์ฮู (Doctor Who) กับความสัมพันธ์ของเรตติ้งทั้งหมด 273 ตอน ที่ฉายมาอย่างยาวนาน และมีการเปลี่ยนทีมเป็นประจำผ่านการแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่เต็มไปด้วยทีมงานเดิม และกลุ่มที่มีคนหน้าใหม่เข้ามาร่วมงาน ซึ่งคนหน้าใหม่ในที่นี้ก็เหมารวมตั้งแต่พนักงานใหม่ที่เพิ่งเข้ามาทำงานไปจนถึงพนักงานเดิมที่ย้ายทีมด้วย

หลังจากนั้น พวกเขาจึงทำการคัดเลือกนักวิจารณ์ที่เชี่ยวชาญรายการโทรทัศน์ของสหราชอาณาจักรมาร่วมชมแล้วให้เรตติ้งในแต่ละตอน โดยใช้เกณฑ์ 1 ถึง 5 ผลปรากฏว่า ตอนที่ผลิตด้วยฝีมือกลุ่มทีมงานเดิมนั้นได้เรตติ้งระดับปานกลาง ในทางกลับกัน ตอนที่ผลิตด้วยฝีมือกลุ่มที่มีคนหน้าใหม่เข้ามาในทีมกลับสร้างเรตติ้งได้สูงกว่าอีกทีมอย่างสิ้นเชิง

ซึ่งผลลัพธ์ที่ดีกว่าเดิมจากการมีคนหน้าใหม่เข้ามาในทีม หลักๆ แล้วก็เกิดจาก ‘ความหลากหลาย’ ไม่ว่าจะเป็นในแง่มุมของเชื้อชาติ เพศ และปัจจัยอื่นๆ ที่มาพร้อมกับมุมมองที่แปลกใหม่ รวมไปถึงอย่างไอเดียของคนในทีม เวลาที่ทำงานด้วยกันไปนานๆ ถึงจะดูเข้ากันดี แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง สิ่งนี้ก็สร้างอันตราย ทำให้ทีม ‘เกิดกรอบความคิด’ มองข้ามข้อผิดพลาดโดยไม่รู้ตัว

แมนนูจีได้อธิบายเพิ่มเติมว่า อันที่จริงคนหน้าใหม่ที่เข้ามาในทีมก็ไม่จำเป็นต้องมีไอเดียที่แปลกแหวกแนว หลุดโลกด้วยซ้ำ แต่สามารถเป็นใครก็ได้ เพราะในช่วงแรกที่พวกเขาเข้ามา ทีมต้องคอยอธิบายเกี่ยวกับงานต่างๆ ทำให้ได้ย้อนกลับมาทบทวนตัวเอง ฉุกคิด และตั้งคำถามถึงข้อผิดพลาดที่เผลอมองข้ามอีกครั้ง

โดยจากที่เล่ามาทั้งหมด นักวิจัยกลุ่มนี้ยังบอกอีกด้วยว่า ในตอนนี้ยังไม่สามารถการันตีได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าการมีคนหน้าใหม่เข้ามาในทีมจะดีเสมอไป เพราะกลุ่มตัวอย่างที่ทำการทดลองนั้นอยู่ในสายงานที่สร้างผลงานค่อนข้างถี่ แต่อย่างพวกสายงานที่ใช้ timing ในการสร้างผลงานพอสมควร ยกตัวอย่างเช่น สายให้คำปรึกษา ก็ยังเป็นอะไรที่วัดผลไม่ได้อยู่ดี

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ขอสรุปเลยว่า การเพิ่มคนหน้าใหม่ ทีมงานเลือดใหม่ ทั้งน้องฝึกงาน เด็กจบใหม่ไฟแรง หรือพนักงานใหม่เข้ามาในทีมนั้นเป็นเหมือนเชื้อเพลิงไปสู่ความสำเร็จใหม่ๆ ช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้นกว่าเดิมเป็นกอง ทำให้งานตรงหน้าที่ดีอยู่แล้วกลายเป็น ‘The Best Version’ ที่ดีกว่านี้ได้อีก…

Source: https://bbc.in/3QXVXDg

Trending

    Chompoonut Suwannochin

    Chompoonut Suwannochin

    อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง