-->
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลายๆ คนคงเห็นข่าวการปรับเพิ่มอัตราค่าบริการในการขนส่งสินค้าของ ‘ไปรษณีย์ไทย’ รัฐวิสาหกิจที่อยู่คู่คนไทยมาเกือบ 140 ปี ถ้าเทียบเป็นขวบปีของครอบครัวหนึ่ง ก็คงเป็นการเปลี่ยนผ่านจากยุคคุณทวดมาสู่ยุคเหลนเจนแซด (Gen-Z) เรียบร้อยแล้ว
ซึ่งการปรับเพิ่มอัตราค่าบริการของไปรษณีย์ไทย เป็นการปรับครั้งแรกในรอบ 18 ปี (สามารถเช็กอัตราค่าบริการที่เปลี่ยนแปลงได้ที่ https://bit.ly/3QkWWMH) ส่วนสาเหตุที่มีการปรับขึ้นราคาก็หนีไม่พ้นภาวะทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ
อีกทั้งสื่อหลายสำนักยังไปค้นข้อมูลเกี่ยวกับผลประกอบการของบริษัทขนส่งในไทย จนพบว่า ในปี 2021 ไปรษณีย์ไทยขาดทุนกว่า 1 พันล้านบาท เป็นตัวเลขที่มากกว่าคู่แข่งคนอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด ทำให้คาดเดาได้ว่า อีกหนึ่งสาเหตุของการปรับขึ้นราคาอาจจะเป็นผลจากการขาดทุนสะสมของไปรษณีย์ไทยด้วย
แล้วเส้นทางธุรกิจของรัฐวิสาหกิจไทยอายุรุ่นราวคราวคุณทวดเดินทางมาถึงจุดที่ขาดทุนกว่า 1 พันล้านบาทได้อย่างไร? และที่ผ่านมาไปรษณีย์ไทยปรับตัวสู้กับคู่แข่งหน้าใหม่ไฟแรงอย่างไรบ้าง? เราจะพาไปไล่เรียงพร้อมๆ กัน
หลายๆ คนคงเคยได้ยินกลยุทธ์การแข่งขันในตลาดที่แบ่งออกเป็นน่านน้ำ 4 สี 4 สาย (Ocean Strategy) ซึ่งในบทความนี้ เราคงไม่ได้มาไล่เรียงว่า ความหมายของน่านน้ำแต่ละสายเป็นอย่างไร แต่เราจะพูดถึง ‘น่านน้ำสีแดง’ (Red Ocean) ที่เป็นภาพสะท้อนการแข่งขันธุรกิจขนส่งไทยได้ดีที่สุด
น่านน้ำสีแดง หมายถึงสภาพของตลาดที่ผู้เล่นทำธุรกิจแบบเดียวกันทุกอย่าง และหนทางที่จะทำให้เป็นผู้ชนะได้ คือต้องตัด ‘ราคา’ ให้มากที่สุด เกมการตัดราคา โปรโมชันแบบเหมาจ่าย จึงมีให้เห็นได้ทั่วไป อย่างเคอรี่ เอ็กซ์เพรส (Kerry Express) ที่มีโปรโมชันค่าส่งเริ่มต้น 19 บาท หรือแฟลช เอ็กซ์เพรส (Flash Express) ที่มีโปรโมชันลดค่าส่ง 10 เปอร์เซ็นต์ ทุกพื้นที่ทั่วไทย
ความร้อนแรงของคู่แข่งหน้าใหม่ เข้ามาดิสรัปต์การทำธุรกิจของไปรษณีย์ไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากที่เคยเป็นรายใหญ่ของธุรกิจขนส่งไทย เรียกได้ว่า มีความผูกขาดตลาดและทุกพื้นที่ทั่วไทยก็ไม่ปาน กลับต้องปรับตัวครั้งใหญ่ ไม่ต่างจากการที่ผู้ใหญ่วัย ‘เบบี้ บูมเมอร์’ (Baby Boomer) ต้องพยายามเข้าใจลูกหลาน ‘เจนแซด’ เลยแม้แต่น้อย
ถึงแม้ หลายๆ คนที่เข้ามาอ่านบทความนี้ จะรู้สึกว่า การขาดทุนของไปรษณีย์เกิดจากการที่ไม่ยอมปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลกในปัจจุบันหรือเปล่า?
คำตอบคือ ‘ไม่ใช่’
เพราะย้อนกลับไปราว 5 ปีก่อน ไปรษณีย์ไทยทราบดีว่า ตัวเองกำลังถูกดิสรัปต์จากคู่แข่งหน้าใหม่ไฟแรงที่มีพร้อมทั้งเงินทุน ระบบการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) และเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่า ทำให้ไปรษณีย์ไทยต้องปรับตัวเป็น ‘ไปรษณีย์ไทย 4.0’ ที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในขั้นตอนต่างๆ มากขึ้น เช่น บริการ Prompt Post ฝากส่งสิ่งของออนไลน์ผ่านระบบ EMS เครื่องรับ-คัดแยกพัสดุอัตโนมัติ การพัฒนา Wallet Post และอื่นๆ อีกมากมาย
แต่การปรับตัวด้วยเทคโนโลยีของไปรษณีย์ไทยไม่ได้มีเส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบนัก เพราะความเป็นองค์กรใหญ่ที่มีลำดับขั้น (Hierarchy) ในการบริหารงานอย่างชัดเจน ทำให้การเปลี่ยนแปลงทำได้ไม่รวดเร็วอย่างใจนึกแน่นอน อีกทั้ง ‘รัฐพล ภักดีภูมิ’ ผู้บริหารระดับสูงของไปรษณีไทยยังเคยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Marketeer ในปี 2019 ด้วยว่า “จุดอ่อนของไปรษณีย์ไทย คือเรื่องเทคโนโลยีจริงๆ”
จริงๆ แล้ว ภาพในอนาคตของไปรษณีย์ยังคงเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก ความเปลี่ยนแปลงของรัฐวิสาหกิจอายุรุ่นราวคราวคุณทวดท่ามกลางยุคดิจิทัลในศตวรรษที่ 21 นับเป็นสิ่งที่ท้าทายการตัดสินใจของผู้บริหารระดับสูงอยู่ไม่น้อย แต่เราจะลองวิเคราะห์อนาคตการปรับตัวของไปรษณีย์ไทยที่เป็นไปได้ทั้งหมด 3 ข้อ ดังนี้
หากพูดถึงการล่มสลายของ ‘โกดัก’ ค่ายกล้องฟิล์มยักษ์ใหญ่ ถือเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาสุดคลาสสิกเกี่ยวกับการถูกดิสรัปต์ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี บทความจาก Harvard Business Review สรุปไว้ว่า การล่มสลายของโกดัก เกิดจาก ‘การขาดวิสัยทัศน์’ และ ‘ทะนงในความสำเร็จของตัวเอง’ จึงไม่ได้มีการวางแผนเพื่อรับมืออย่างเหมาะสม จนในที่สุดก็ถูกเขี่ยทิ้งจากสายตาผู้บริโภคไป
แต่จุดที่แตกต่างกันระหว่างโกดักกับไปรษณีย์ไทย ก็คือไปรษณีย์ทราบดีว่า ตัวเองกำลังถูกดิสรัปต์จากคู่แข่งหน้าใหม่ ทำให้ไปรษณีย์เริ่มปรับตัวให้เข้ากับยุคดิจิทัลเรื่อยๆ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านไปตามเวลา เพียงแต่เราต้องจับตาดูต่อไปว่า กลยุทธ์ที่ไปรษณีย์ใช้ในการปรับตัว จะทำให้สามารถยืนหนึ่งในธุรกิจขนส่งไทยได้อย่างขาดลอยหรือเปล่า?
อย่างที่กล่าวตอนต้นว่า ในปี 2021 ไปรษณีย์ไทยขาดทุนกว่า 1 พันล้านบาท และเป็นตัวเลขที่ต้องแบกรับในปี 2022 ด้วย ทำให้หลายๆ คนคงคิดว่า ขาดทุนมากขนาดนี้ ธุรกิจจะยังไปรอดจริงๆ เหรอ?
สถานการณ์ของไปรษณีย์ไทยในตอนนี้ ชวนให้นึกถึงการบรรยายหัวข้อ ‘World Economic Outlook’ โดย ‘รวิศ หาญอุตสาหะ’ จากงาน ‘CTC 2022’ ซึ่งมีใจความตอนหนึ่งที่รวิศกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “ขาดทุนไม่น่ากลัวเท่าขาดกระแสเงินสด (cash flow)” ทำให้ปัจจัยในการอยู่รอดของธุรกิจไม่ได้ขึ้นกับการขาดทุนเป็นสำคัญ
และหากนับรวมว่า รายได้จากค่าบริการก็เป็นส่วนหนึ่งของกระแสเงินสด ความเชื่อมั่นของลูกค้ากับความเก๋าเกมด้านพื้นที่ คงทำให้ไปรษณีย์ไทยชนะคู่แข่งหลายๆ รายอยู่ดี เพราะความเห็นจากผู้ใช้งานทวิตเตอร์ (Twitter) รายหนึ่งบอกว่า “สิ่งที่เจ้าอื่นๆ ยังสู้ไปรษณีย์ไทยไม่ได้ ก็คือต่อให้จะจ่าหน้าซองผิด หรือบ้านจะอยู่ลึกสุดกู่แค่ไหน บุรุษไปรษณีย์ก็ไปส่งของได้อย่างถูกต้องทุกครั้ง”
สุดท้ายคงอยู่ที่การวางกลยุทธ์ของไปรษณีย์ไทยแล้วว่า จะเอาชนะคู่แข่งด้วยจุดแข็งที่มีได้อย่างไร?
ถ้าจุดอ่อนของไปรษณีย์ไทยคือ ‘เทคโนโลยี’ ก็ต้องใช้จุดแข็งอย่าง ‘ความใกล้ชิด’ เข้าสู้
เมื่อจุดแข็งของไปรษณีย์ไทย คือความเก๋าเกมและความชำนาญในพื้นที่ จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะมีความใกล้ชิดกับผู้คนอยู่แล้ว
จุดแข็งของไปรษณีย์ไทยมี ทำให้นึกถึงการบรรยายหัวข้อ ‘ธุรกิจ…ก็มีหัวใจ Heartful Business’ โดย ‘กฤตินี พงษ์ธนเลิศ’ (เกตุวดี Marumura) จากงาน ‘TedxChulalongkornU’ เมื่อ 2 ปีก่อน กฤตินีได้ถอดความสำเร็จของธุรกิจเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 100 ปีในญี่ปุ่นว่า ธุรกิจเหล่านั้นใช้หัวใจนำ และผลิตสินค้าจากเสียงของลูกค้าจริงๆ จนกลายเป็นที่รักของทุกคน
ดังนั้น หากในอนาคต ไปรษณีย์ไทยจะเข้าสู้คู่แข่งด้วยกลยุทธ์ความใกล้ชิด และการเข้าใจลูกค้าอย่างถ่องแท้ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย
สุดท้ายแล้ว อนาคตในสนามธุรกิจของไปรษณีย์ไทยคงอยู่ที่การตัดสินใจเดินเกมกลยุทธ์ของตัวเองว่า จะทำให้องค์กรของตัวเองเป็นดิจิทัล 100 เปอร์เซ็นต์เลยหรือไม่? หรือจะดึงจุดแข็งของตัวเองมาพัฒนาอย่างไร? เราคงต้องจับตาดูกลยุทธของรัฐวิสาหกิจอายุรุ่นราวคราวคุณทวดแห่งนี้ต่อไป
Sources: https://bit.ly/3z9vvy4
https://bit.ly/3bcE9Em
https://bit.ly/3voCaU4
https://bit.ly/3zDyosD
https://bit.ly/3Qlk2CT
https://bit.ly/3PLi6mX