LOADING

Type to search

สรุปองค์ความรู้จากงาน THAILAND NOW AND NEXT: PREPARING FOR THE CHANGING WORLD

สรุปองค์ความรู้จากงาน THAILAND NOW AND NEXT: PREPARING FOR THE CHANGING WORLD
Share

“โลกเปลี่ยนไปแล้ว” 

เมื่อลองนึกกันดูดีๆ ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราได้ยินคำนี้กันนับไม่ถ้วน นั่นหมายความว่าโลกของเราได้เปลี่ยนไปหลายต่อหลายครั้งแล้วเช่นกัน ยิ่งในโลกหลังโควิด-19 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม เทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามามีบทบาทกับชีวิตและธุรกิจอย่างมาก ทุกภาคส่วนจึงต้องปรับตัวกันครั้งใหญ่

LINE ได้จัดงาน THAILAND NOW AND NEXT: PREPARING FOR THE CHANGING WORLD ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อเตรียมความพร้อมให้องค์กรภาคธุรกิจต่าง ๆ สามารถรับมือกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และขับเคลื่อนธุรกิจด้วย Data ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

ภายในงานจะแบ่งออกเป็น Session ต่าง ๆ ที่อัดแน่นไปด้วยข้อมูลตลอดทั้งสองวัน (29-30 มีนาคม) โดยเราได้นำเนื้อหาจากบาง Session มาสรุปให้ทุกคนฟังกัน 

ส่อง Global Trends และกุญแจ 3 ประการ มัดใจคน Gen Z

ใน Session แรกนี้ จะแบ่งออกเป็นสองพาร์ทใหญ่ ๆ คือพาร์ท Global Trends ที่ Ipsos Limited ได้ทำการสำรวจจากประชากรทั่วโลกในปี 2020 และเอามาวิเคราะห์จนสามารถสรุปเทรนด์โลกออกมาได้ ทั้งหมด 12 เทรนด์ โดยคุณ อุษณา จันทร์กล่ำ กรรมการผู้จัดการ Ipsos Limited ได้ยกตัวอย่างขึ้นมาสามเทรนด์ คือ

  • Climate Change ที่ประเทศต่าง ๆ เริ่มพูดถึง และมองหาวิธีการแก้ปัญหามากขึ้น
  • Divided World โลกแห่งความเท่าเทียมที่ไม่มีเส้นกั้นระหว่างเพศ เชื้อชาติ และสีผิวอีกต่อไป
  • Health Care เพราะโควิด-19 ทำให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น

เมื่อมาดูเทรนด์ของประเทศไทยบ้านเรา จะพบว่าไม่ต่างจากเทรนด์โลกมากนัก โดยคนไทยเริ่มหันมาสนใจประเด็น Climate Change จนขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง ต่อด้วยเรื่องความเท่าเทียมกันหรือ Divided World รองลงมาเป็นเรื่องสุขภาพ และสุดท้ายคือเรื่อง Simplicity หรือ ‘ความง่าย’ เพราะที่ผ่านมาคนไทยผ่านเรื่องอะไรมามากมาย จึงเริ่มหันมาหาอะไรที่เบาสมองมากขึ้น

ส่วนในพาร์ทที่สอง จะเป็นการเจาะลึกไปยังเทรนด์ของคนยุคใหม่อย่าง Gen Z เพราะเป็นกลุ่มที่กำลังจะกลายมาเป็นผู้บริโภคหลักของโลกในอนาคต โดยคุณอุษณา ได้สรุปกุญแจสำคัญ 3 ประการที่ธุรกิจต้องให้ความสำคัญหากต้องการกุมใจผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z ให้อยู่หมัด ได้แก่

Authenticity หรือความถูกต้องชัดเจนของข้อมูล โดย 72% ของคนกลุ่มนี้เชื่อข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นจริง ๆ แบรนด์ธุรกิจจึงควรแสดงจุดยืนว่าเป็นผู้รู้จริงในสินค้า และบริการของตัวเองจึงจะสามารถซื้อใจคนกลุ่มนี้ได้ โดยกว่า 80% จะซื้อของทันทีเมื่อแบรนด์สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ และ 76% จะพอใจถ้าสามารถค้นหาข้อมูลสินค้า หรือบริการได้ง่าย

Data Dilemmas เพราะในโลกออนไลน์นี้ แบรนด์ธุรกิจต่าง ๆ เริ่มมีการเก็บข้อมูลลูกค้าเพื่อนำไปใช้ในการวิเคราะห์การตลาดมากขึ้น โดย 77% ทราบ และมีความกังวลเรื่องการเก็บข้อมูลส่วนตัว แต่กว่า 64% มองว่าการเก็บข้อมูลส่วนตัวไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป แต่เมื่อนำข้อมูลไปแล้ว สินค้า หรือบริการ รวมไปถึงสวัสดิการจากรัฐฯ จะต้องสามารถตอบโจทย์ความต้องการของพวกเขาได้มากขึ้นเป็นการแลกเปลี่ยน

Tech Dimension แน่นอนว่ากลุ่มคน Gen Z มีสมาร์ตโฟน และอินเทอร์เน็ตอยู่ข้างกายตลอดเปรียบเสมือนเป็นแขนขาเลยก็ว่าได้ โดย 64% กล่าวว่าต้องการเป็นคนแรกในกลุ่มเพื่อนที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด และ 80% มองว่าชีวิตคงลำบากมากถ้าไม่มีอินเทอร์เน็ต 

แม้ทำการตลาดแบบเจาะจงไม่ได้ แต่ไม่ใช่จุดจบ เปิดกลยุทธ์การตลาดยุคใหม่ และ Data Solutions จาก LINE

เมื่อทั่วโลกให้ความสำคัญกับข้อมูลส่วนตัวมากขึ้น จนถึงขั้นมีการออกกฎหมายที่คุ้มครองตรงนี้โดยเฉพาะ ในไทยบ้านเราเองก็มี พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA ออกมา ทำให้ต่อไปนี้ธุรกิจไม่สามารถทำการตลาดแบบเจาะจงได้ทันทีอีกต่อไป แต่นั่นก็ไม่ใช่จุดจบของการตลาดด้วย Data

ใน Session นี้ วีระ เกษตรสิน ผู้อำนวยการฝ่าย Engineering และหัวหน้าฝ่ายจัดการผลิตภัณฑ์ จาก LINE Thailand 

จะมาแนะนำกลยุทธ์ใหม่ในการสร้าง Brand Awareness ให้ลูกค้ารู้จักแบรนด์ เมื่อลูกค้ารู้สึกเชื่อมั่นมากขึ้น ก็จะลดการมองข้ามคอนเทนท์จากแบรนด์ และอาจยินยอมให้ข้อมูลส่วนตัวมากขึ้นด้วย โดยสรุปกลยุทธ์เป็น 4 หัวข้อ ดังนี้

(1) ต้องทำให้ผู้บริโภคไม่รู้สึกว่าดูโฆษณาอยู่ ด้วยคอนเทนท์น่าดึงดูด และมีประโยชน์

(2) สื่อสารกับผู้บริโภคให้ถี่ขึ้นกว่าเดิม เช่น ลงคอนเทนท์ต่อวันให้มากขึ้น

(3) แบรนด์ต้องมีความโปร่งใสในการขอข้อมูลว่าจะเอาไปทำอะไร อย่างชัดเจน และจริงใจ

(4) ใช้ AI ในการประมวลผลข้อมูลลูกค้า เพิ่มความแม่นยำแม้มีข้อมูลน้อยลง

สิ่งหนึ่งที่เห็นกันได้ชัดเจน คือการตลาดมีความยาก และซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจสูงตามไปด้ว การมีพาร์ทเนอร์ในการดำเนินธุรกิจเป็นกลยุทธ์ที่แบรนด์ส่วนใหญ่กำลังเริ่มหันมาให้ความสนใจ LINE เป็นแพลตฟอร์มที่พร้อมไปด้วยเทคโนโลยี มี Data Solutions ตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจ ที่จะช่วยแบรนด์ทำงานตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยเครื่องมือ ที่คุณวีระ นำมายกตัวอย่างในการบรรยายครั้งนี้ ได้แก่

[Business Manager] โซลูชั่นดาต้าใหม่ล่าสุด ที่สามารถจัดการและเชื่อมต่อข้อมูลจาก 2 โซลูชั่นของไลน์ คือ LINE Official Account และ LINE Ads Platform เข้าไว้ด้วยกัน เพื่อดูเส้นทางการตลาด และพฤติกรรมของผู้ใช้งานบนช่องทางดังกล่าวร่วมกันได้ นำไปสู่การวิเคราะห์ฐานข้อมูลที่กว้างและลึกขึ้น เพื่อกำหนดกลุ่มเป้าหมายและการสื่อสาร การตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีกำหนดการเปิดให้ใช้บริการในเดือนเมษายน 2022 และในอนาคตมีแผนอัพเดทให้ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อเข้ากับอีกหนึ่งโซลูชั่นจัดการดาต้าอย่าง MyCustomer อีกด้วย   

[ MyCustomer] เครื่องมือในการจัดการ และเก็บข้อมูล First Party ของลูกค้า โดยในอนาคตจะสามารถเชื่อมต่อกับ Facebook เพื่อนำข้อมูลจากในเฟสบุ๊ค และไลน์มาจัดการบริหารรวมกันได้ ทำให้ข้อมูลมีความหลากหลาย และสามารถสร้างเส้นทางลูกค้าได้แม่นยำขึ้น จะเปิดให้บริการช่วงสิ้นปี 2022 นี้

นอกจากนี้ LINE ยังมีการยกระดับโปรดักส์ตัวเดิมให้มีความสามารถมากขึ้นด้วย เช่น การใช้ AI มาประมวลผลข้อมูลใน LINE Ads Platform เพื่อให้สามารถจัดการข้อมูลได้ดีขึ้น และการเปิด MyShop Open API เพื่อช่วยให้ร้านค้าสามารถเชื่อมต่อระบบอื่นๆ เข้ากับเครื่องมือ MyShop ต่อยอดให้การขาย การจัดการระบบของร้านผ่าน MyShop มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยแบ่งออกเป็นสามตัวย่อย คือ Product API, Inventory API และ Order API

สรุปเส้นทางการตลาดด้วย Data เพราะข้อมูล คือทองคำ

อย่างที่เรารู้กันว่า การซื้อขายในสมัยนี้เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ส่วนใหญ่ เส้นทางพฤติกรรมผู้บริโภคจึงเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้น ข้อมูลพฤติกรรมลูกค้าจากที่เคยมีแค่เรื่องความชอบอะไร หรือไม่ชอบอะไร อาจแบ่งย่อยลงลึกลงไปได้อีกมากมาย เพื่อจะเข้าใจกลุ่มลูกค้าแล้ว แบรนด์จึงต้องทำการบ้านอย่างหนักในเรื่อง Data เพื่อจะสามารถทำนายเส้นทางลูกค้าได้ว่าจะหันหัวไปทางไหน และแบรนด์จะได้สามารถรองรับได้ทัน

โดย คุณ แดน ศรมณี กรรมการผู้จัดการ ADA Digital (Thailand) ได้สรุปเส้นทางการทำตลาดด้วย Data แบบเข้าใจง่ายมาให้ ดังนี้

  • เข้าถึงข้อมูลภาพรวมก่อน ดูทิศทางของลูกค้าว่ากำลังให้ความสนใจกับอะไร
  • จัดหมวดหมู่ข้อมูล เป็น Target Insight  และทำความเข้าใจ
  • นำข้อมูล Insight ที่ได้ ทำเป็น Strategy Plan แล้วเริ่มสื่อสารกับลูกค้าตามแพลนที่วางไว้
  • ติดตามผล และปรับแก้จุดอ่อนของกลยุทธ์การตลาดที่วางไว้

สำหรับคำแนะนำสำหรับแบรนด์ที่อยากทำการตลาดด้วย Data สามารถสรุปออกเป็นข้อได้ ดังนี้

  • เริ่มจัดเก็บข้อมูล และจัดการมันตั้งแต่ธุรกิจยังไม่โต ข้อมูลยังไม่เยอะ เพราะแน่นอนว่าสามารถทำได้ง่ายกว่า และในอนาคตที่ธุรกิจเติบโตก็สามารถขยายการจัดการข้อมูลได้
  • ใช้เทคโนโลยีให้เป็นเพื่อใช้จัดการข้อมูลได้อย่างคุ้มค้าและเกิดประโยชน์สูงสุด 
  • หาผู้เชี่ยวชาญ Data มาจัดการข้อมูลให้ แม้จะมีค่าใช้จ่าย แต่ผลลัพธ์ที่ได้จาก Data เหล่านี้ อาจทำให้ธุรกิจโตขึ้นมากกว่ารายจ่ายตรงนี้

หากใครที่ยังไม่เข้าใจความสำคัญของ Data สมมติว่ามีคนเข้ามาร้านค้าของเรา 100 คน แล้วมีคนตัดสินใจซื้อสินค้าเรา 30 คนร้านของเราได้กำไรแล้ว แต่ลูกค้าอีก 70 คนที่ไม่ได้ซื้อล่ะ ? ถ้าเราไม่มี Data เราจะไม่มีวันรู้ได้เลยว่าทำไมคนอีก 70 คนถึงไม่ซื้อของร้านเรา และจากการศึกษาของ Boston Consulting Group พบว่าแบรนด์ที่ใช้แผนการตลาดจาก Data มียอดขายสูงขึ้น 6-10% เร็วขึ้น 2-3 เท่า

ไม่เพียงแต่ข้อมูลลูกค้า แต่ข้อมูลความเสี่ยงต่าง ๆ ไปจนถึงข้อมูลบริษัทคู่แข่ง ก็เป็นส่วนช่วยในการสร้างแบรนด์ และรู้จักกับลูกค้ามากขึ้น แม้ข้อมูลบางอย่างอาจไม่ส่งผลให้ยอดขายสูงขึ้น แต่กลับช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกิดจากความเสี่ยงบางอย่างได้ ก็สามารถทำให้ธุรกิจมั่นคงขึ้นได้ด้วย ขอเพียงแค่เรารู้จักการเข้าถึงข้อมูล และจัดการมันให้เป็น

เปิด พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA และสิ่งที่นักการตลาดต้องรู้

ในตอนนี้การนำข้อมูลส่วนตัวของลูกค้ามาใช้เป็นข้อมูลทำการตลาด เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังมากขึ้น เพราะตอนนี้ประเทศไทยบ้านเรามีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวผู้บริโภคแล้ว ในชื่อ พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA โดยประกาศให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2022 นี้

สำหรับตัว PDPA จะให้ความสำคัญกับการคุ้มครองข้อมูลของตัวบุคคลธรรมดา หรือข้อมูลใด ๆ ก็ตามที่สามารถเชื่อมโยงกลับมาสู่บุคคลนั้นได้ (Personal Data) และที่สำคัญคือข้อมูลส่วนตัวที่มีความอ่อนไหว (Sensitive Data) เช่น ข้อมูลสุขภาพ ความคิดเห็นทางการเมือง เพศวิถี ข้อมูลอาชญากรรม รวมถึงข้อมูล Biometric อย่างลายนิ้วมือด้วย

นอกจากนี้ เมื่อกฎหมาย PDPA มีผลบังคับใช้ จะมีสิทธิใหม่ของผู้บริโภคที่ธุรกิจต้องรู้ เพราะเกี่ยวข้องกับการตลาดของแบรนด์โดยตรง ได้แก่

  • ถอนความยินยอมในการเข้าถึงข้อมูลที่เคยให้ไว้ก่อนหน้า
  • ร้องเรียนไปที่ PDPC เมื่อถูกละเมิดสิทธิ์
  • แก้ไขข้อมูลส่วนบุคคลที่บริษัทเก็บไว้
  • ขอให้บริษัทโอนข้อมูลส่วนบุคคลของตนไปยังบริษัทอื่น
  • เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวที่เคยให้กับบริษัทไว้
  • จำกัดการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล
  • ลบข้อมูลส่วนบุคคลออกจากฐานข้อมูลบริษัท
  • ปฏิเสธการติดต่อจากบริษัทในการทำการตลาด หรือโฆษณา

เห็นได้ชัดว่า PDPA ทำให้นักการตลาดต้องระวังตัวกันมากขึ้น โดยคุณ กฤติยาณี บูรณตรีเวทย์ ทนายความหุ้นส่วนจาก Baker & Mckenzie จะมาสรุปให้ฟังใน 2 หัวข้อ ว่าสิ่งที่นักการตลาดต้องให้ความสำคัญมีอะไรบ้าง 

  • ต่อไปนี้การขอข้อมูลส่วนตัว ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อน และต้องมีการแจ้งลูกค้าอย่างชัดเจนว่าข้อมูลที่ต้องการจะขอมีอะไรบ้าง และข้อมูลจะถูกนำไปใช้ทำอะไรบ้าง และตัวเจ้าของข้อมูลจะได้อะไรจากการให้ข้อมูล
  • ต้องมีการแจ้งล่วงหน้าก่อนจะขอ หรือนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ทุกครั้ง

การละเมิดสิทธิ์ของผู้บริโภคใน พรบ. ฉบับนี้ มีโทษทางกฎหมาย ทั้งโทษทางอาญา โทษปกครอง หรือโทษทางแพ่ง โดยผู้เสียหายสามารถรวมตัวกันมาเพื่อฟ้องเอาผิดผู้ละเมิดในแบบกลุ่มได้อีกด้วย

ถกประเด็น Data กับธุรกิจ ใครข้อมูลเยอะกว่า จัดการได้เร็วกว่า จะเป็นผู้ชนะ

การรวมตัวกันของนักการตลาดจากธุรกิจชั้นนำประเภทต่าง ๆ มาร่วมเสวนากันในหัวข้อ “Data-Driven Marketing in the Now Normal” โดยเจาะความสำคัญของการนำ Data ไปใช้ขับเคลื่อนองค์กรธุรกิจในยุคปัจจุบันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป เพราะเป็นบรรทัดฐานใหม่ของการตลาดในยุคปัจจุบันไปแล้ว

“ในอนาคต การทำการตลาดด้วย Data จะเป็นแก่นหลักของการตลาด 100%” กล่าวโดย ชาญชัย พงศนันทน์ รองหัวหน้าฝ่ายการตลาด DENTSU INTERNATIONAL (THAILAND) และยังให้ความเห็นเพิ่มอีกว่า ปัจจุบัน Agency หลายเจ้าเริ่มเปิดยูนิตที่เป็น Data Specialist เพื่อสนับสนุนลูกค้าในเรื่อง Data มากขึ้น อย่าง LINE ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ทำให้เห็นโอกาสการทำตลาดบน Chat Messenger ได้มากขึ้น

“การทำการตลาดด้วยความรู้สึก หรือประสบการณ์จะแม่นยำน้อยลง จนสุดท้ายแล้วจะเหลือแต่การตลาดที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเท่านั้น ใครที่มี Data เยอะกว่า จะสร้างความสำเร็จในการตลาดได้ดีกว่า” กล่าวโดย อนันต์ ตีระบูรณะพงษ์ รองผู้บริหาร ผู้อำนวยการฝ่าย Data & Innovation จาก DATA FIRST

และท่านสุดท้าย ราชศักดิ์ อัศวศุภชัย  กรรมการผู้จัดการ IPG MEDIABRANDS ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “ข้อมูลไม่เคยโกหกเรา” และข้อมูลจะเป็นตัวบอกทิศทางการตลาดที่ถูกต้องให้แบรนด์ธุรกิจได้เดินไปถูกทาง แต่เราจะไม่รู้เลยว่าต้องไปขวาหรือซ้าย ถ้าไม่มีการศึกษา Data

รู้จัก ‘Business Manager’ เครื่องมือการตลาดจาก LINE ในยุคแห่ง Data

ที่ผ่านมา LINE ได้ออกเครื่องมือทางการตลาดมากมายที่เปิดให้แบรนด์ธุรกิจได้นำไปใช้ ไม่ว่าจะเป็น 

  • LINE Official Account สำหรับส่งข้อความสื่อสารกับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นต่อกลุ่มคนจำนวนมาก หรือแบบ 1:1 
  • LINE Ads Platform ในการทำ Performance Marketing ด้วยการลงโฆษณาตามตำแหน่งต่างๆ บนแพลตฟอร์ม LINE
  • MyCustomer สำหรับการเก็บ First Party Data จากลูกค้า 

ใน Session สุดท้ายนี้ ธีรวัฒน์ งามวิทยศิริ หัวหน้าที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจ e-Commerce และ FMCG จาก LINE Thailand ได้มาแนะนำเครื่องมือการตลาดจาก LINE ตัวใหม่ ในชื่อ ‘Business Manager’ เครื่องมือที่สามารถจัดการและเชื่อมต่อข้อมูลเชิงธุรกิจที่ได้จาก LINE Official Account และ LINE Ads Platform เข้าไว้ด้วยกัน (Cross-data) ไม่ว่าจะเป็น จำนวนการคลิกลิงก์เว็บไซต์ หรือวิดีโอจากโฆษณาที่ลงผ่าน LINE Ads Platform ไปจนถึงข้อมูล และพฤติกรรมต่างๆ ของผู้ใช้บน LINE Official Account เป็นต้น เจ้าเครื่องมือ Business Manager นี้จะเป็นศูนย์รวมในการแชร์ข้อมูลจากทั้งสองทาง เพื่อให้แบรนด์หรือนักการตลาดสามารถจัดข้อมูลเหล่านี้จำแนกเป็นกลุ่ม เพื่อวิเคราะห์ ต่อยอดทำการตลาด รีทาร์เก็ตให้ตรงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ง่าย ด้วยข้อความหรือการนำเสนอที่ใช่และแม่นยำ

‘Business Manager’ ทำให้ธุรกิจสามารถทำการตลาดแบบ Cross Marketing ได้โดยไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์ข้อมูลทีละแอคเคาท์อีกต่อไป เพราะเครื่องมือตัวนี้สามารถรับข้อมูลจาก LINE Official Account หลายตัว และบัญชี LINE Ads Platform หลายตัวพร้อมกันได้ เพื่อวิเคราะห์เส้นทางของลูกค้าได้กว้างขึ้นกว่าเดิม และสามารถส่งข้อมูลที่ทำการวิเคราะห์แล้วกลับไปยัง LINE Services ต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้งานต่อ ตัวอย่างเช่น การรีทาร์เก็ตไปยังคนบางกลุ่มใน LINE Official Account บัญชีอื่น หรือนำไปรีทาร์เก็ตเป็นกลุ่มเป้าหมายใน LINE Ads Platform เป็นต้น

ที่น่าสนใจ คือการจัดเก็บ โยกย้าย และวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าบน Business Manager นี้ได้ถูกออกแบบให้รองรับ พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA อยู่แล้วอีกด้วย

โดยจะเริ่มเปิดให้บริการในช่วงปลายเดือนเมษายน 2022 นี้ และมีแพลนขยายฟีเจอร์ต่าง ๆ ในช่วงปีนี้ด้วย โดยในช่วงแรก จะเปิดให้ใช้งานเฉพาะกลุ่ม Premium และ Verified Account รวมไปถึงกลุ่มแบรนด์ที่มีการใช้งานโซลูชั่นเชิงธุรกิจของ LINE ผ่าน Agency เท่านั้น ซึ่ง 1 บริษัทจะสามารถเปิด Business Manager ได้ 1 แอคเคาท์ 


ผู้สนใจสามารถติดตามชมงาน THAILAND NOW AND NEXT: PREPARING FOR THE CHANGING WORLD ย้อนหลังได้ที่ https://lin.ee/uFtHA5R/wcvnและติดตามอัพเดทความรู้ ข่าวสารสำหรับผู้ต้องการทำธุรกิจผ่าน LINE ได้ที่ LINE Official Account: @linebizth และ FB Fanpage: LINE for Business

Tags::