LOADING

Type to search

เคล็ดลับ ‘ภาษามือ’ เพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารฉบับผู้นำ ต้องใช้มือประกอบท่าทางการพูดอย่างไรให้น่าฟัง

เคล็ดลับ ‘ภาษามือ’ เพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารฉบับผู้นำ ต้องใช้มือประกอบท่าทางการพูดอย่างไรให้น่าฟัง
Share

การพูดเป็นทักษะสำคัญที่ผู้นำทุกคนต้องเรียนรู้ เพื่อการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ เคล็ดลับหนึ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือ “พูดให้เป็นธรรมชาติ เหมือนสนทนากับเพื่อน” หมายถึงการพูดสบายๆ ไม่ดูเป็นทางการเกินไป โดยให้คำนึงถึงความเร็ว เสียงดังเบา เสียงสูงต่ำ และจังหวะการพูดมาประกอบด้วย (สามารถดูเคล็ดลับนี้ได้ที่ http://bit.ly/3JVAaL4)

นอกจากการพูดแล้ว การใช้ท่าทางในการสื่อสารหรือประกอบคำพูดก็สำคัญไม่แพ้กัน จะทำให้การสื่อสารชัดเจน สมบูรณ์ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากมีการใช้อย่างเหมาะสม

มอร์แกน ไรต์ (Morgan Wright) ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์พฤติกรรม เล่าถึงงานศึกษาของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Security Agency: NSA) ที่สำรวจคดีอาญา 300 คดี ที่รู้ผลคำตัดสินแล้ว โดยทดลองให้เจ้าพนักงานสอบปากคำบอกว่า “ผู้ต้องสงสัยกำลังพูดความจริงหรือโกหก” โดยแบ่งผู้ทดสอบออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 ได้ฟังแค่เสียงสอบปากคำเท่านั้น
กลุ่มที่ 2 ได้ดูภาพวิดีโอของผู้ต้องสงสัยขณะสอบสวน แต่ไม่เปิดเสียง
กลุ่มที่ 3 ได้เห็นทั้งภาพและเสียงการสอบปากคำ
กลุ่มที่ 4 ได้เห็น ได้ยิน และได้อ่านแฟ้มคดีประกอบไปด้วยพร้อมกัน

ผลปรากฏว่า กลุ่ม 1 ตอบถูกว่า ผู้ต้องสงสัยพูดจริงหรือโกหก 55 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มที่ 2 ตอบถูก 65 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มที่ 3 ตอบถูก 85 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มที่ 4 ตอบถูกมากที่สุด 93 เปอร์เซ็นต์

จุดสังเกตุที่มอร์แกน ไรต์ ต้องการสื่อ คือ การเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มที่ 1 และ 2 เพื่อแสดงให้เห็นว่า แม้กลุ่มที่ 2 ไม่ได้ยินเสียงว่าพูดอะไร แต่ดูจากท่าทางก็สามารถจับโกหกได้แม่นยำกว่ากลุ่มแรก ที่ได้ยินเสียง แต่ไม่เห็นภาพประกอบ นั่นแสดงถึงความสำคัญของภาษากาย

พลังอยู่ที่มือคุณ

ท่าทางหรือภาษากายนั้นมีหลายรูปแบบ การเดิน การยืน สีหน้า การขยับเกือบทุกส่วนของร่างกาย ถือเป็นการแสดงออกทางกายทั้งหมด แต่ที่สำคัญคือ การเคลื่อนไหวหรือท่าทางของมือ

เดวิด แมคนีล (David McNeil) นักวิจัยมหาวิทยาลัยชิคาโก ประเทศสหรัฐฯ บอกว่า “ทุกอย่างอยู่ที่มือ” ท่าทาง การคิด และภาษากายนั้นเชื่อมโยงกัน ข้อสรุปของเขาคือ ผู้พูดที่มีวินัย เคร่งครัด ฉลาด และมั่นใจ จะแสดงท่าทางผ่านมือเหมือนหน้าต่างไปสู่กระบวนการคิด

ด้าน คาร์ไมน์ แกลโล (Carmine Gallo) นักเขียน นักพูด และผู้ฝึกสอนด้านการพูดในที่สาธารณะ แนะนำ 4 ข้อ ในการใช้มือให้มีพลังในการสื่อสาร เพื่อนำไปปรับใช้ง่ายๆ ได้ทันที ได้แก่

  1. ให้มือเป็นอิสระ : จงอย่ากลัวที่จะใช้มือ อย่าพันธนาการมือไว้ในกระเป๋ากางเกง ปล่อยมันให้เป็นอิสระ
  2. ออกท่าทางเป็นระยะ : แสดงท่าทางอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องทำตลอดเวลา ไม่ต้องมากเกินไป ปล่อยให้เรื่องเล่าหรือสิ่งที่กำลังพูดนำทางให้ภาษากายออกมาโดยอัตโนมัติ
  3. ออกท่าทางในช่วงสำคัญ : เก็บท่าทางใหญ่ๆ ไว้ใช้กับช่วงที่พูดเรื่องสำคัญ อย่าลืมความหมายหรือสาระสำคัญของท่าทางนั้นด้วย ไม่ใช่แค่การทำท่าทางไปเรื่อยอย่างไม่มีความหมาย
  4. ควบคุมให้อยู่ในวงอำนาจ : นึกถึงภาพวงกลมเส้นผ่านศูนย์กลางระหว่างตาถึงสะดือ พยายามควบคุมมือให้อยู่ในพื้นที่วงกลมแห่งอำนาจนี้ ระวังไม่ให้มืออยู่ต่ำกว่าระดับเอว จะช่วยเสริมบุคลิกได้

มือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสาร

การใช้ท่าทางมือที่เห็นเป็นรูปธรรม เช่น การศึกษาของ บ็อบ เฟนนิส (Bob Fennis) และ มาริแอลล์ สเตล (Marielle Stel) ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Experimental Social Psychology ศึกษาร้านซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งให้นักแสดงที่ฝึกมาเป็นตัวแทนเสนอขายลูกกวาด 1 กล่อง โดยใช้กลยุทธ์ทำสินค้าให้น่าสนใจ เช่น การลดราคาหรือบรรยายสรรพคุณ เปรียบเทียบกับ ‘การสื่อสารแบบไม่ใช้คำพูด’ เช่น การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างมีชีวิตชีวา เคลื่อนไหวมือ และร่างกายโน้มไปข้างหน้า เป็นต้น

ผลปรากฏว่า คนส่วนใหญ่ จำนวน 71 เปอร์เซ็นต์ ยอมซื้อลูกกวาดเมื่อได้ฟังตัวแทนขายใช้การสื่อสารที่กระตือรือร้นโดยไม่ใช้คำพูด ผ่านภาษากายต่างๆ มากกว่าตัวแทนขายที่สงวนท่าที (เอนตัวไปด้านหลัง เคลื่อนไหวร่างกายช้า พูดช้า เป็นต้น) นั่นหมายถึง การออกท่าทางอย่างมีชีวิตชีวาจะสื่อสารได้มีประสิทธิภาพกว่าการสงวนท่าทาง หรือทำท่าทางห่อเหี่ยว เชื่องช้า

เคลื่อนไหวและฝึกฝน

การออกท่าทางต่างๆ สิ่งที่ควรระวัง คือ ‘อย่าหยุกหยิก’ ต้องเคลื่อนไหวอย่างมีจุดหมายและไม่มากเกินไป ‘อย่ายืนทื่อ’ ต้องขยับเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเป็นธรรมชาติ อาจเดินเปลี่ยนที่ยืนบ้าง จะช่วยดึงดูดสายตาผู้ฟังได้ และ ‘อย่าล้วงกระเป๋ากางเกง’ เอามือออกมาและปล่อยไปอย่างอิสระ ให้เรื่องที่พูดนำทาง และอย่าลืมเก็บท่าใหญ่ๆ ไว้ใช้ในช่วงสำคัญ

ทั้งหมดนี้คือ เคล็ดลับง่ายๆ ในการใช้ภาษากายโดยเฉพาะมือเพื่อช่วยสื่อสารให้มีประสิทธิภาพฉบับผู้นำ ที่หลายคนมองข้ามและลืมให้ความสำคัญ ซึ่ง คาร์ไมน์ แกลโล ได้ดูวิดีโอการพูดนำเสนอบนเวที TED ที่มียอดผู้ชมสูง พบว่า นักพูดยอดนิยมเหล่านั้นล้วนใช้ภาษากายในการเสริมพลังในสิ่งที่พูด โดยเฉพาะการใช้มือออกท่าทางประกอบ

ทั้งนี้ การฝึกฝนให้เคยชินเป็นสิ่งสำคัญ คนที่คุ้นชินกับการเอามือล้วงกระเป๋า เมื่อรู้สึกตัวให้เอาออกมาทันที และลองฝึกพูดคนเดียวหน้ากระจก ประเมินตัวเองว่าเป็นอย่างไร หรืออาจดูนักพูดที่มีชื่อเสียงอื่นๆ ได้จากวิดีโอบนเว็บไซต์เป็นตัวอย่าง

ที่สำคัญ ต้องทำให้เป็นธรรมชาติและไม่มากเกินไป แค่นี้คุณก็สามารถใช้ภาษากายได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับเหล่าผู้นำที่ประสบความสำเร็จ หรือนักพูดยอดนิยมแล้ว

เขียนโดย: Phoothit Arunphoon

Sources: หนังสือ ‘Talk Like TED’ เขียนโดย Carmine Gallo (คาร์ไมน์ แกลโล) แปลโดย พลอยแสง เอกญาติ สำนักพิมพ์ openworlds

Tags::

You Might also Like