LOADING

Type to search

5 เทคนิคประกอบการพูดให้เป็นที่จดจำและซาบซึ้งใจในสไตล์ ‘TED Talk’

5 เทคนิคประกอบการพูดให้เป็นที่จดจำและซาบซึ้งใจในสไตล์ ‘TED Talk’
Share

ทักษะการพรีเซนต์ หรือนำเสนอ เป็นสิ่งจำเป็นที่หลายคนต้องใช้ ไม่ว่านำเสนอหน้าชั้นเรียน ในที่ประชุม เสนอสินค้าเพื่อโน้มน้าวใจลูกค้าหรือนักลงทุน รวมถึงพูดบรรยายบนเวที การพูดต่อสาธารณะจึงเป็นสิ่งที่เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตการทำงานของใครหลายคน

การนำเสนอเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในมุมมองของ คาร์ไมน์ แกลโล (Carmine Gallo) ประธาน Gallo Communications Group, นักพูด และผู้เขียนหนังสือ Talk Like TED สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ การสร้างช่วงเวลาที่น่าทึ่ง เป็นการนำเสนอเมื่อส่งสารออกไปจบ ผู้ฟังจะรู้สึกทึ่ง อึ้ง หรือว้าว และจะเป็นสิ่งแรกที่คนจำได้เกี่ยบกับการนำเสนอนั้น

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวที่น่าทึ่งไม่ใช่แค่ความยิ่งใหญ่เท่านั้น แต่อาจเป็นเรื่องราวส่วนตัวหรือเรื่องคนทั่วไป การสร้างช่วงเวลาแสนน่าทึ่งที่จะจับใจผู้คนและให้ได้รับการจดจำ และมีนักพูดบนเวที TED ใช้งานมาแล้ว มี 5 วิธี ดังต่อไปนี้

1. แสดงให้เห็นภาพอย่างชัดเจน

การสาธิตหรือแสดงให้เห็นประกอบการพูดเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้ฟังเข้าใจและเห็นภาพได้มากขึ้น นึกถึงการนำเสนอเปิดตัวสินค้า จะดีมากหากมีสินค้าจริงอยู่ในมือด้วย รวมถึงการใช้อุปกรณ์ต่างๆ มาช่วยประกอบการอธิบาย คาร์ไมน์ ยกกรณี มาร์ก ชอว์ (Mark Shaw) ผู้คิดค้นอัลตราเอฟเวอร์ดราย (Ultra Ever Dry) สารเคลือบนาโนเทคที่ป้องกันพื้นผิวจากของเหลวให้แห้งตลอดเวลา

ในงาน TED ปี 2013 มาร์กสาธิตสารเคลือบดังกล่าวโดยเปรียบเทียบว่า มันเป็นโล่ที่กันของเหลวได้ทุกชนิด เขาหยิบถังบรรจุสีแดงมาสาดใส่กระดานไวต์บอร์ด ขณะที่สีค่อยๆ หยดลงมา ตัวหนังสือบนกระดานก็เริ่มปรากฏ มันคือพื้นที่ที่ถูกเคลือบด้วยอัลตราเอฟเวอร์ดราย เป็นคำว่า ‘TED’ จนผู้ชมประทับใจส่งเสียงเชียร์อย่างล้นหลาม

การสาธิตของ มาร์ก ทำให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่าอัลตราเอฟเวอร์ดรายป้องกันของเหลวได้อย่างไร โดยเชื่อมโยงกับบริบทรอบๆ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกของผู้ชมหรือสถานการณ์

2. สถิติที่น่าตกใจ

การนำเสนอบนเวที TED ส่วนใหญ่ที่ได้รับความนิยมมักอ้างอิงข้อมูลสถิติ หรือตัวเลขมาเสริม เพื่อความน่าเชื่อถือและโน้มน้าวใจ แต่ไม่ใช่การนำเสนอตัวเลขนั้นมาตรงๆ ต้องปรับให้เร้าอารมณ์และชวนตะลึง ยกตัวอย่าง

“คนธรรมดา 100 คน จะมีผู้ป่วยโรคจิต 1 คน มีคนในห้องนี้ 1,500 คน แปลว่า 15 คน ในหมู่พวกคุณเป็นโรคจิต” – จอน รอนสัน (Jon Ronson) นักเขียนและนักสร้างภาพยนตร์สารคดี

“ทำไมเราไม่สนใจมหาสมุทร ถ้าเปรียบเทียบงบประมาณรายปีของ NASA ที่ใช้สำรวจอวกาศแค่ปีเดียว ก็เป็นทุนให้ NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration: องค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา) สำรวจมหาสมุทรได้ 1,600 ปีแล้ว” – โรเบิร์ต บัลลาร์ด (Robert Ballard) นักสำรวจทะเลลึก

การโน้มน้าวจะเกิดขึ้นเมื่อสามารถเข้าถึงสมองและหัวใจของผู้คน สำคัญที่ต้องแสดงเหตุผลและอารมณ์ ซึ่งจำเป็นต้องให้หลักฐาน ข้อมูล หรือสถิติมาสนับสนุน คำแนะนำคือ ต้องทำให้ข้อมูลตัวเลขเหล่านั้นมีความหมาย น่าตื่นเต้น น่าจดจำ อย่าแสดงตัวเลขทื่อๆ อย่างเดียว แต่ให้นำบริบทมาประกอบสร้างให้น่าสนใจด้วย ดังเช่นตัวอย่างที่ยกมา

3. ประโยคเด็ดที่น่าจดจำ

ช่วงที่ คาร์ไมน์ ฝึกสอนผู้บริหารให้ออกสื่อ คำพูดติดหู (sound bite) เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ได้ลงสื่อ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในยุคของสื่อออนไลน์ มักเป็นคำพูดสั้นๆ ที่ปลุกเร้าอารมณ์ความรู้สึก จำได้ง่าย พูดซ้ำได้ง่าย คำพูดเหล่านี้ มีแนวโน้มเป็นสิ่งที่ผู้คนแชร์บน Twitter Facebook หรือกล่าวซ้ำในรายการข่าว

คำพูดติดหูเป็นสิ่งสำคัญขนาด TED มีพื้นที่รวบรวมคำพูดเด็ดๆ จากนักพูดของ TED โดยเฉพาะ (TED.com/quotes) ตัวอย่างเช่น

“ตัวเลขคือโน้ตดนตรีที่ใช้เขียนซิมโฟนีแห่งเอกภพ” – อดัม สเปนเซอร์ (Adam Spencer) นักจัดรายการวิทยุคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์

“เบื้องหลังเด็กสาวแอฟริกันส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จคือพ่อผู้รู้ว่า ความสำเร็จของเธอก็คือความสำเร็จของเขา” – ชาบานา บาสิจ-ราสิกห์ (Shabana Basij-Rasikh) ผู้ร่วมก่อตั้ง School of Leadership Afghanistan (SOLA) โรงเรียนประจำหญิงล้วนแห่งแรกและแห่งเดียวในอัฟกานิสถาน

จงหาประโยคเด็ดจากสิ่งที่นำเสนอให้น่าสนใจ จะเป็นตัวช่วยให้ผู้ฟังจดจำได้ง่ายและมีแนวโน้มเข้าถึงความรู้สึกพวกเขาได้มากขึ้น นั่นหมายถึงการบรรลุวัตถุประสงค์ของการสื่อสารด้วย

4. เรื่องราวส่วนตัวแสนประทับใจ

เรื่องราวส่วนตัวเป็นสิ่งท้าทายที่ช่วยให้ทลายกำแพงระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง เพราะได้เปิดใจเล่าเรื่องราวบางอย่างที่เกี่ยวกับตัวเรา เพื่อช่วยให้ผู้ฟังได้เห็นมุมมองที่แตกต่างออกไป และสามารถสร้างเรื่องราวแสนน่าทึ่งที่จะประทับใจผู้คนได้ การนำเสนอที่ได้รับความนิยมสูงของ TED ต่างเริ่มต้นด้วยเรื่องราวส่วนตัว

คาร์ไมน์ เล่าถึงช่วงที่ทำงานกับวิศวกรหญิงคนสำคัญคนหนึ่งของ อินเทล (Intel) บริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เธอเล่าว่า เธอเติบโตมาในครอบครัวชาวแอฟริกัน-อเมริกันยากจนที่มีลูก 6 คน เด็กหญิงตกหลุมรักวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เมื่อโตขึ้นเป็นวิศวกร ไม่เพียงแค่นั้น พี่น้องอีก 5 คน ได้กลายเป็นวิศวกรที่ประสบความสำเร็จเช่นกัน เมื่อเธอเล่าจบเพื่อนร่วมงานต่างประทับใจและได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวส่วนตัวนี้

5. จบให้สวย

ก่อนจบการนำเสนอเป็นช่วงเวลาสุดท้ายที่จะสร้างความรู้สึกบางอย่างที่เร้าอารมณ์หรือเข้าถึงความรู้สึกผู้ฟัง เป็นสิ่งที่ผู้ฟังจะจดจำและพูดถึง ตัวอย่างคือ คาร์ไมน์ กับทีมงานกำลังช่วยกันเขียนบทบรรยายประกอบการนำเสนอให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจบริษัทน้ำมันและพลังงานชั้นนำแห่งหนึ่ง ซึ่งเขามีข้อมูลเกี่ยวกับผลประกอบการที่ผ่านมา และแนวโน้มที่ดีในอนาคต เป็นข้อมูลที่ดีครบถ้วน แต่ยังขาดเรื่องราวที่น่าประทับใจไป คาร์ไมน์ ถามผู้บริหารคนดังกล่าวว่า ทำไมจึงหลงใหลในบริษัทนี้?

ผู้บริหารคนดังกล่าวหยิบนามบัตรออกมาจากกระเป๋าสตางค์ และพูดว่า “นามบัตรใบนี้ทำให้ผมได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีมาแล้ว มันช่วยเปิดประตูสู่โอกาส แต่สิ่งที่ทำให้ประตูบานนั้นยังคงเปิดอยู่ คือความมุ่งมั่นของเราที่จะปกป้องทรัพยากรอันล้ำค่าที่สุดของพวกเรา เมื่อรัสเซียอนุญาตให้เราสำรวจทะเลบอลติก ประธานาธิบดีรัสเซียบอกผมว่า ‘เราอนุญาตให้คุณเข้าถึงสินทรัพย์ล้ำค่าที่สุดของรัสเซียเพราะเราไว้ใจให้คุณปกป้องมัน’ หุ่นส่วนเราไว้ใจเราเพราะเราทำธุรกิจอย่างซื่อตรง ในชีวิตผมไม่เคยภูมิใจที่ได้ทำงานให้องค์กรไหนมากเท่านี้เลย”

คาร์ไมน์ แนะนำให้นำเรื่องราวดังกล่าวไปเล่าหลังนำเสนอข้อมูลด้วย และได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี พนักงานหลายพันคนที่ฟังต่างซาบซึ้งไปกับเรื่องราวส่วนตัวที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน บางคนถึงกับปาดน้ำตาและมีอย่างน้อยหนึ่งคนที่มาพูดกับผู้บริหารคนนั้นว่า “ผมไม่เคยภูมิใจที่ได้ทำงานให้องค์กรเท่านี้มาก่อน”

หลังจากนั้นหลายสัปดาห์ คาร์ไมน์ ดูแบบสอบถามที่พนักงานกรอก พบว่า พวกเขาให้คะแนนผู้บริหารคนนี้มากกว่าผู้บริหารทุกคนในประวัติศาสตร์อันยาวนานของบริษัท

เห็นได้ว่า การจบด้วยเรื่องราวน่าประทับใจจะส่งผลกระทบได้มาก ดังกรณีที่ยกตัวอย่าง ซึ่งเป็นการผสมผสานการเล่าเรื่องราวส่วนตัวที่น่าประทับใจมาปิดท้ายการนำเสนอ เป็นการจบช่วงเวลาบรรยายอย่างสวยงามและซาบซึ้งใจ

สรุปคือ การนำเสนอที่น่าประทับใจและช่วยให้คนจดจำต้องทำให้เห็นภาพชัดเจน มีสถิติที่ชวนว้าว บวกกับประโยคเด็ดๆ ที่ติดหูไว้ พูดถึงประสบการณ์ส่วนตัวที่น่าสนใจ และจบการนำเสนอให้งดงาม นั่นคือเคล็ดลับของการนำเสนอที่ดีจากเวที TED Talk อันโด่งดัง

เขียนโดย: Phoothit Arunphoon

Sources: http://bit.ly/3IufA3o

http://bit.ly/413aliz

http://bit.ly/3k2z6KZ

http://bit.ly/3IpTKwX

หนังสือ ‘TALK LIKE TED: The 9 Public-Speaking Secrets of the World’s Top Minds’ เขียนโดย คาร์ไมน์ แกลโล (Carmine Gallo) แปลโดย พลอยแสง เอกญาติ สำนักพิมพ์ bookscape

Tags::

You Might also Like