LOADING

Type to search

คนลาออกน้อย มีรายได้หลักพันล้าน ‘Heartful Business’ แนวคิดของ ‘เสื้อแตงโม’ ที่เชื่อว่าต้องทำให้พนักงานมีความสุข

คนลาออกน้อย มีรายได้หลักพันล้าน ‘Heartful Business’ แนวคิดของ ‘เสื้อแตงโม’ ที่เชื่อว่าต้องทำให้พนักงานมีความสุข
Share

ความสนุกสนานในการปั้นแต่งคำ และแฝงความหมายโดยนัยของภาษาไทย ทำให้คำว่า ‘แตงโม’ มีหลากหลายความหมายตามความทรงจำของแต่ละคน

ตั้งแต่เป็นผลไม้เนื้อสีแดงรสหวานฉ่ำ ไปจนถึงบทเพลงชื่อดังอย่าง ‘แตงโมจินตหรา’ ของจินตหรา พูนลาภ ที่ได้ยินเมื่อไร ต้องร้องออกมาว่า “แตงโม แตงโม แตงโม~” ด้วยทำนองที่แสนจะคุ้นหูทุกที

และอีกหนึ่งความหมายที่ขาดไปไม่ได้เลย ก็คือชื่อของแบรนด์เสื้อยืดสีสันสดใสที่มาพร้อมกับโลโก้แตงโมผ่าซีกอย่าง ‘เสื้อแตงโม’ ไอเทมเด็ดของวัยรุ่นยุค 90 ที่ยังครองใจใครหลายๆ คนมาจนถึงปัจจุบัน

เสื้อแตงโม เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์สไตล์สุดกิ๊บเก๋มากว่า 40 ปี ด้วยเอกลักษณ์ที่ฉายชัดอยู่บนเสื้อ ไม่ว่าจะเป็นลวดลายและสีสันสดใสที่สร้างความโดดเด่นให้กับผู้สวมใส่ รวมถึงใช้เนื้อผ้าคุณภาพสูง ทำให้เสื้อแต่ละตัวมีอายุการใช้งานยาวนาน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในตู้เสื้อผ้าของหลายๆ คน จะมีเสื้อแตงโมเป็นไอเทมติดตู้อย่างน้อยหนึ่งตัว

กว่าจะเป็น ‘แตงโม’ ผลงามๆ อย่างทุกวันนี้ ต้องใส่ใจทุกขั้นตอน

หากย้อนกลับไปในช่วงก่อร่างสร้างแบรนด์ จุดเริ่มต้นของเสื้อแตงโมเกิดจากประสบการณ์การเป็นพ่อค้าเร่ของ ‘อดิศร พวงชมภู’ ผู้ก่อตั้งแบรนด์

อดิศรตัดสินใจประกอบอาชีพเป็นพ่อค้าเร่หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรี เขาเริ่มจากการขายหนังสืออ่านเล่นทั่วไป จนกระทั่งเปลี่ยนมาขายเสื้อยืดสกรีนลายในแบบฉบับของตัวเอง เกิดกระแสตอบรับอย่างล้นหลาม ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ทำให้เขายึดอาชีพขายเสื้อยืดนับแต่นั้นเป็นต้นมา

แต่ขายมาได้สักพักก็ยังไม่มีชื่อเรียกเป็นที่จดจำเสียที จนวันหนึ่งมีพ่อค้าร้านผลไม้เข็นรถผ่านหน้าร้านของเขา เขาตัดสินใจซื้อแตงโมที่เขาชอบทานเป็นประจำ ทำให้รุ่นน้องที่ตั้งแผงขายของอยู่ข้างกันจุดประกายให้เขาใช้ชื่อแบรนด์ว่า ‘แตงโม’ และต่อมาเขาก็ได้สร้างโลโก้ให้เป็นที่จดจำด้วยการใช้รูปแตงโมผสมกับคำว่า すいか (ซึอิกะ) ที่แปลว่า ‘แตงโม’ ในภาษาญี่ปุ่น

ปัจจุบัน กิจการของเสื้อแตงโมยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีคู่ค้าทั่วประเทศกว่า 2,000 ราย และสร้างรายได้ในแต่ละปีมากกว่า 1,000 ล้านบาท อีกทั้งการบริหารงานก็เดินทางมาถึงยุคของทายาทรุ่นที่สองอย่าง ‘อดิศรา พวงชมภู’ ที่ตั้งใจสานต่อความเป็นเสื้อแตงโมให้โลดแล่นในโลกธุรกิจไปอีกนานแสนนาน

ถึงแม้ว่า ธุรกิจเครื่องแต่งกายจะมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่มนุษย์ขาดไม่ได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่อิงกับกระแสและมีความมาไวไปไวเป็นอย่างมาก ทำให้ประเด็นนี้กลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาแบรนด์ให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น ซึ่งแบรนด์ก็ไม่ย่อท้อและพยายามพัฒนาสิ่งใหม่ๆ โดยใช้มันสมองและสองมือของ ‘คน’ เป็นแกนหลักสำคัญ

Tangmo T-Shirt
Image on tangmo.clothing

‘Heartful Business’ แนวคิดของธุรกิจที่มีหัวใจ สูตรสำเร็จของความยั่งยืน

“จากใจที่งดงาม ผ่านมือที่ประณีต เป็นสินค้าคุณภาพ เพื่อผู้ใช้ทั่วโลก”

คติพจน์การทำงานของ ‘เสื้อแตงโม’ สะท้อนให้เห็นถึงการทำธุรกิจที่ใส่ใจในทุกรายละเอียด ใช้หัวใจเป็นตัวตั้งในการบริหารงาน คล้ายกับแนวคิด ‘Heartful Business’ หรือธุรกิจที่มีหัวใจ เคล็ดลับความยั่งยืนของบริษัทญี่ปุ่นหลายๆ แห่ง ซึ่งแกนหลักของแนวคิดนี้ คือการให้ความสำคัญกับ ‘คน’ ทั้งพนักงานที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ และลูกค้าที่ซื้อสินค้าของแบรนด์

แล้วการบริหารงานของ ‘เสื้อแตงโม’ ที่สอดคล้องกับแนวคิด ‘Heartful Business’ เป็นอย่างไร? Future Trends ได้รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

มิติที่ 1 : พนักงาน = ครอบครัว

มิตินี้ ถือเป็นประเด็นใหญ่สำหรับการทำธุรกิจ เพราะพนักงานถือเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้ธุรกิจมีก้าวต่อไปที่ชัดเจน แต่ผู้ประกอบบางรายกลับมองข้ามความสำคัญของพนักงาน ไม่มีการจัดสรรสวัสดิการที่เหมาะสม จนบางบริษัทมีอัตราการลาออก (Turnover Rate) แบบสูงเสียดฟ้า

แต่สำหรับเสื้อแตงโม ‘คน’ คือกุญแจสำคัญที่จะพาแบรนด์ไปสู่ความสำเร็จ ทำให้เสื้อแตงโมมีชื่อเสียงในการรักษาคนทำงานไว้กับองค์กรได้เป็นเวลานาน ในเวลา 10 ปี มีคนลาออกไม่ถึง 10 คน และบางคนก็ทำงานมาตั้งแต่ก่อตั้งโรงงานจนถึงปัจจุบัน

วิธีการดูแลพนักงานในแบบฉบับของเสื้อแตงโมมีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการที่พักที่อบอุ่นและปลอดภัย สวัสดิการอาหาร 3 มื้อที่ทำให้ทุกคนอิ่มท้อง การตั้งโรงงานติดริมแม่น้ำ เพื่อให้พนักงานได้พักชมวิวสวยๆ หรือแม้แต่การดูแลประดุจญาติมิตรก็เป็นสิ่งที่ผู้ก่อตั้งทำมาตลอด

ทำให้เสื้อแตงโมเป็นมากกว่าที่ทำงาน และกลายเป็นครอบครัวของพนักงานหลายๆ คน เพราะยามเจ็บไข้ได้ป่วยก็พาไปรักษา ยามต้องการความช่วยเหลือก็พร้อมยื่นมือเข้าไปช่วยเสมอ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แบรนด์จะสามารถรักษาคนทำงานไว้ได้เป็นเวลานาน

มิติที่ 2 : สินค้าดีมีชัยไปกว่าครึ่ง

‘สินค้า’ คือหน้าตาของแบรนด์ ถ้าผลิตสินค้าไม่ดี ก็คงไม่มีใครซื้อ

นอกจากลวดลายและสีสันสดใส จะทำให้เสื้อแตงโมเป็นแบรนด์ของใครหลายๆ คน ก็ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้หลายๆ คนตัดสินใจซื้อเสื้อแตงโมเป็นไอเทมติดตู้เสื้อผ้า นั่นก็คือความทนทานที่มาพร้อมกับราคาที่ย่อมเยา บางคนซื้อมาเป็น 10 ปี สีของผ้าก็ยังสวยสดเหมือนเดิม

ซึ่งเคล็ดลับที่อยู่เบื้องหลังการผลิตที่มีคุณภาพ ต้องเริ่มจากการเฟ้นหาวัตถุดิบอย่างผ้าฝ้ายเนื้อดี คิดค้นวิธีการเย็บที่คงทน และออกแบบลวดลายที่สร้างความโดดเด่น เปรียบได้กับการใส่ทองเข้าไปในกระบวนการผลิต ผลผลิตที่ได้ก็ย่อมต้องออกมาเป็นทอง

มิติที่ 3 : คำพูดของลูกค้า = สิ่งที่สวรรค์ส่งมา

หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้แบรนด์มีอายุยืนยาว และยังคงโลดแล่นในโลกธุรกิจมาถึงปัจจุบัน ก็คือความปรารถนาดีต่อลูกค้า เพราะเป็นสิ่งที่สื่อสารได้โดยไม่ต้องใช้คำพูดใดๆ เมื่อลูกค้าเข้าไปจับสินค้าก็ทราบถึงความใส่ใจที่อยู่เบื้องหลังได้ทันที รวมถึงการเปิดใจรับฟังความเห็นของลูกค้า ยังทำให้แบรนด์จุดประกายความคิดในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้อีกมากมาย

บทเรียนความสำเร็จของเสื้อแตงโม สะท้อนถึงแก่นในการทำธุรกิจอย่าง ‘ความใส่ใจ’ ได้เป็นอย่างดี และความใส่ใจในทุกขั้นตอนก็ทำให้ ‘แตงโม’ ต้นนี้ยังคงแข็งแกร่ง พร้อมที่จะผลิดอกออกผลเป็นแตงโมที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพต่อไป

Sources: https://bit.ly/3dzTyiX 

https://bit.ly/3DGL0l2

https://bit.ly/3QUnS5G

https://bit.ly/3SowYbN

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like