LOADING

Type to search

‘ไม่เข้าตาแต่เข้าใจ’ 4 เทคนิค เปลี่ยนคนไม่เข้าขา ให้เป็นทีมทำงานที่เข้าใจ

‘ไม่เข้าตาแต่เข้าใจ’ 4 เทคนิค เปลี่ยนคนไม่เข้าขา ให้เป็นทีมทำงานที่เข้าใจ
Share

ทุกคนล้วนมาความแตกต่าง การคิดเห็นไม่ตรงกันเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในทีมหรือองค์กรที่มีหลายคนอยู่ร่วมกัน ความไม่เข้าใจหรือเห็นต่างอาจทำให้การทำงาน ‘ไม่เข้าขา’ กันได้ จนบางครั้งอาจทำให้งานสะดุด ไม่ราบรื่นอย่างที่ควรจะเป็น คุณในฐานะผู้นำ ผู้บริหาร หรือหัวหน้า จะทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวนี้

ซึซุกิ โยะชิยุกิ (Suzuki Yoshiyuki) ประธานกรรมการบริหารบริษัท COACH A ผู้เชี่ยวชาญในการจัดอบรมโค้ชให้กับผู้บริหารระดับสูงเพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กรให้ดีขึ้น แนะนำ 4 เทคนิค ซึ่งเป็นวิธีการที่จะช่วยเปลี่ยนให้การทำงานที่ไม่เข้าใจหรือไม่เข้าขากัน ให้ราบรื่น ไปสู่ความเข้าอกเข้าใจและสู่จุดหมายได้ในที่สุด ดังต่อไปนี้

ตั้งคำถามในมุมมองของอีกฝ่าย

คนเรามักมองในมุมสถานการณ์จากฝั่งของตนเองเสมอเป็นเรื่องปกติ แต่หากลองเปลี่ยนไปสังเกตสถานการณ์จากมุมมองของฝ่ายตรงข้ามเราจะเลือกทำสิ่งที่ต่างออกไปได้

วิธีการ ‘ตั้งคำถามเกี่ยวกับอีกฝ่าย’ ให้มากขึ้น จะทำให้เราสามารถมองโลกผ่านมุมมองของคนอื่นได้ ตัวอย่างเช่น “คุณคิดว่าหลังจากที่โดนสั่งเสียงแข็งให้เพิ่มยอดขาย พนักงานคนนั้นจะคิดอะไรระหว่างเดินทางไปเสนองานกับลูกค้า” หรือ “ตอนเขาเล่นกับลูกที่บ้าน เขามีสีหน้าอย่างไร”

กระบวนการตามหาคำตอบให้กับคำถามเหล่านี้ ผู้ที่ถูกถามจะเริ่มมองเห็นสิ่งที่ตนเองกระทำต่ออีกฝ่ายได้อย่างเป็นกลาง และจะค้นพบจุดเริ่มต้นใหม่ๆ ดังนั้น หากคุณหรือลูกทีมกำลังมีความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่น ขอให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับอีกฝ่ายให้ตนเองมากๆ จนกว่าจะรู้สึกผ่อนคลาย

“คิดถึงความรู้สึกของอีกฝ่ายให้มากขึ้น ด้วยการตั้งคำถามเกี่ยวกับพวกเขา”

ดูว่านิสัยเขาเป็นอย่างไร

ลองนึกดูว่า หากคุณเป็นคนที่ชอบสังเกตสิ่งต่างๆ อย่างละเอียด รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งนั้นและค่อยๆ สะสมความสำเร็จไปทีละน้อย หัวหน้าที่ชอบกระตุ้นให้รีบลงมือทำและบอกคุณว่า “อย่าเพิ่งใส่ใจรายละเอียดเล็กน้อย ทำไปก่อน” อาจทำให้คุณลำบากใจ ขณะเดียวกัน หากคุณเป็นคนที่ชอบลงมือทำเพื่อให้เห็นสภาพจริงของสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองมากกว่าที่จะวางแผนอย่างละเอียด การถูกบังคับให้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลล่วงหน้า อาจทำให้คุณหมดความตื่นเต้นในการลงมือทำเช่นกัน

ยิ่งคนที่คุณไม่ชอบอยู่ในตำแหน่งที่สร้างผลกระทบให้คุณได้มากเท่าไร คุณยิ่งจะรู้สึกเครียดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากลองพิจารณาด้วยใจเป็นกลาง คุณเองอาจเป็นคนชนิดที่อีกฝ่ายไม่ชอบ เช่นเดียวกับที่อีกฝ่ายเป็นคนชนิดที่คุณไม่ชอบ

สำคัญคุณต้องพิจารณาว่า “อีกฝ่ายเป็นคนประเภทใด ควรเข้าหาอย่างไร” ต้องทำอย่างไรจึงจะกระตุ้นให้เขาลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยความตั้งใจ ต้องไม่ลืมว่าแต่ละคนนั้นมีนิสัย ความชอบ ความถนัดต่างกัน จะทำแบบเดียวกันกับทุกคนและหวังให้ทุกคนพึงพอใจเป็นไปได้ยาก จงทำความเข้าใจว่าแต่ละคนเป็นอย่างไรและปรับการกระทำให้เหมาะสมกับแต่ละคน

“แต่ละคนนั้นแตกต่างกัน จงทำความเข้าใจ”

เขาเป็นคนแบบไหนใน 4 ประเภท

แต่ละคนมีความต่างอย่างที่กล่าวไป ซึ่งคำแนะนำของซึซุกิได้แบ่งคนเป็นกว้างๆ 4 ประเภท โดยใช้ลักษณะเด่นในการปฏิสัมพันธ์ ประกอบด้วย

1. Controller: เป็นคนที่ชอบลงมือทำและต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่คิด ไม่ชอบการถูกสั่ง พูดจาตรงไปตรงมาจนอาจถูกมองว่าเป็นคนก้าวร้าว การปฏิสัมพันธ์กับคนประเภทนี้ไม่ควรเข้าไปควบคุม ควรพูดคุยจากข้อสรุป และจำเป็นต้องระวังไม่ให้ใช้วิธีพูดที่รุนแรงของพวกเจามาทำให้เราไข้เขว

2. Promoter: เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับความคิดแหวกแนวของตัวเอง ชอบทำอะไรที่สุนก ชอบพูดเรื่องตัวเอง มักไม่ค่อยฟังผู้อื่น พวกเขามีความมั่นใจในความคิดของตนเองมาก จึงต้องระวังที่จะไม่แสดงท่าทีเชิงปฏิเสธซึ่งจะทำให้เขารู้สึกว่า เราไม่ยอมรับความคิดของเขา การสร้างสภาพแวดล้อมให้เขาแสดงความคิดสร้างสรรค์เฉพาะตัวจะช่วยดึงเอาความสามารถที่มีอยู่ออกมาได้เต็มที่

3. Analyzer: เป็นคนที่มักรวบรวมข้อมูลจำนวนมาก วิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้นและวางแผนก่อนลงมือทำ มองสิ่งต่างๆ อย่างเป็นกลางได้ดี ชอบสะสมความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ สิ่งสำคัญคือการไม่คาดหวังความเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ จากพวกเขา ขอให้ปรับจังหวะการทำงานให้เข้ากับพวกเขา อีกทั้ง พวกเขาค่อนข้างระวังในการแสดงอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง จึงไม่ควรบังคับให้เขาเปิดเผยความรู้สึก

4. Supporter: เป็นคนที่ชอบช่วยเหลือผู้อื่นและให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ด้วยการพึ่งพาอาศัย ใส่ใจคนอื่น และรับรู้ความรู้สึกของคนรอบข้างได้ไว นอกจากนี้ เมื่อทำอะไรยังต้องการคำชมอย่างมาก คุณจึงต้องแสดงให้เขาเห็นว่าคุณเห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาทำ ในทางกลับกันพวกเขามากพยายามตอบสนองความคาดหวังผู้อื่นจนมองไม่เห็นความต้องการตนเอง การถามว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องการจริงๆ จะช่วยให้เขาไว้วางใจคุณมากขึ้น

“รู้ว่าเขาเป็นอย่างไร เพื่อปรับวิธีการสื่อสารให้เหมาะสม”

พูดถึงเรื่องหรือคนที่ทำให้ไม่ราบรื่น 30 นาที

คนมักจะยึดติดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเกินไป หากรู้สึกว่าความสัมพันธ์กับคนบางคนไม่ราบรื่นก็จะเอาไปจดจ่อกับคนนั้นมากเกินไป หรือเมื่อทำงานได้ไม่ราบรื่นก็คิดเรื่องนั้นซ้ำๆ จะจมอยู่กับอารมณ์ด้านลบ

การใช้เวลาคิดถึงเรื่องนั้นๆ เป็นสิ่งสำคัญก็จริง แต่หากจดจ่อกับสิ่งใดมากเกินไป เราจะนำตัวเองไปผูกกับสิ่งนั้น จนไม่มีโอกาสมองด้านอื่นๆ จะทำให้หาวิธีแก้ไขปัญหานั้นยากขึ้นไปอีก

วิธีหนึ่งในการดึงตัวเองให้ออกห่างจากสิ่งที่เรายังก้าวข้ามไม่ได้ก็คือ ‘การพูดถึงสิ่งนั้น’ ให้เต็มที่อย่างเปิดใจ โดยใช้เวลาสัก 30 นาที เมื่อคุณได้พูดถึงเรื่องนั้นหรือคนคนนั้น จะทำให้ได้ระบายมุมมองของผู้พูด และจะสามารถออกห่างจากเรื่องหรือคนที่พูดถึงไปเองตามธรรมชาติ ทำให้มองความสัมพันธ์ของตนเองกับเรื่องนั้นหรือคนนั้นอย่างมีสติมากขึ้น นั่นหมายถึงการมองหาทางออกได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน

“พูดอย่างเปิดใจถึงเรื่องที่เป็นปัญหา 30 นาที”

สรุป

เมื่อเกิดปัญหาที่ทำให้ทำงานไม่เข้าขากัน ให้ตั้งคำถามในมุมมองของอีกฝ่าย เพื่อให้เข้าอกเข้าใจอีกฝ่ายให้มากขึ้น จากนั้นประเมินดูว่า เขามีลักษณะนิสัยเป็นอย่างไร และ เป็นคนแบบไหนใน 4 ประเภท ที่กล่าวไป เพื่อปรับการสื่อสารและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันให้ดีขึ้น และเมื่อเกิดเรื่องราวที่ไม่พอใจหรือคนที่ทำให้กระทบใจให้ พูดถึงเรื่องนั้นสัก 30 นาที อย่างเปิดใจเป็นกลาง เพื่อให้ระบายและให้มองเห็นปัญหาที่ไกลออกไปโดยไม่ยึดติด

วิธีการเหล่านี้จะช่วยให้การทำงานที่ไม่ราบรื่นอันเกิดจากคนให้สามารถดำเนินไปได้ดีขึ้น โดยเน้นไปที่ความเข้าอกเข้าใจและไม่ยึดติดกับปัญหาหรืออารมณ์มากเกินไป

เขียนโดย ภูธิชย์ อรัญพูล

Source: หนังสือ ‘Super Coaching ช่วยทีมขยายศักยภาพ สร้างสุดยอดผลลัพธ์’ เขียนโดย Suzuki Yoshiyuki แปลโดย วิธารณี จงสถิตวัฒนา สำนักพิมพ์ Nanmeebooks

Tags::

You Might also Like