LOADING

Type to search

‘น้ำมันยังมีหมด’ 3 เทคนิค เติมพลังให้คนในทีม เมื่อกำลังเหนื่อยล้าจากการทำงาน

‘น้ำมันยังมีหมด’ 3 เทคนิค เติมพลังให้คนในทีม เมื่อกำลังเหนื่อยล้าจากการทำงาน
Share

ความเหนื่อยล้าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดาในที่ทำงาน หากงานหนักเกินไป ยากเกินไป อุปสรรคมากเกินไป ย่อมทำให้คนทำงานรู้สึกเหนื่อยทั้งกายใจ จนพลังงานกายใจแทบจะหมดไม่เหลือ คุณในฐานะผู้นำ ผู้บริหาร หรือหัวหน้าต้องให้ความสำคัญกับพลังงานของคนในทีมหรือองค์กร แล้วจะทำอย่างไรหากเห็นว่ามีบางคนกำลังจะหมดพลัง?

ซึซุกิ โยะชิยุกิ (Suzuki Yoshiyuki) ประธานกรรมการบริหารบริษัท COACH A ผู้เชี่ยวชาญในการจัดอบรมโค้ชให้กับผู้บริหารระดับสูงเพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กรให้ดีขึ้น แนะนำ 3 วิธี ที่จะช่วยให้คุณเติมและรักษาพลังงานให้เหล่าสมาชิกของคุณให้ยังมีพลังงานขับเคลื่อนต่อไป ดังต่อไปนี้

ใส่ใจกับพลังงาน

รถยังต้องคอยเติมน้ำมันหรือพลังงานเพื่อให้ขับเคลื่อนต่อไปได้ เช่นเดียวกันกับผู้คน คุณต้องคอยสังเกตดูว่าสมาชิกในทีมมีอาการหมดพลังงานหรือไม่ ต้องคอยเติมพลังงานให้พวกเขาอย่างต่อเนื่องทุกวันหรือ 2 – 3 วันครั้ง อย่างสม่ำเสมอ

อย่าสั่งว่า “ทำแบบนี้ดูสิ” แต่กระตุ้นให้พวกเขาได้คิด “มีไอเดียว่าไงบ้าง”

หากเขารู้สึกเหนื่อยล้าต่อเนื่องไม่หาย ให้คุยพูดคุยกับเขาถึงสาเหตุและช่วยแก้ไข โดยให้เขาได้เป็นผู้ค้นหาทางออก “คุณคิดว่าจะทำไงให้รู้สึกล้าน้อยลงในแต่ละวัน” อาจเป็นในรูปแบบกิจกรรมผ่อนคลายที่สามารถช่วยได้ เช่น การแช่น้ำอุ่นหลังเลิกงาน การดูภาพยนตร์คลายเครียดสักเรื่อง การอ่านหนังสือเสริมกำลังใจ หรือการจุดเครื่องหอมในที่พักอาศัย เป็นต้น

พลังงานเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนให้คนมีกำลังที่จะเดินต่อไปได้ โดยเฉพาะการทำงานที่สามารถสร้างความอ่อนล้าให้คนได้เสมอ ฉะนั้นต้องคอยสังเกตให้เติมพลังให้สมาชิกในทีมด้วย

“เติมพลังงานให้ทีมอย่างสม่ำเสมอ เหมือนรถที่ต้องเติมน้ำมัน”

รักษาพลังงานให้สูงตลอด

บรรยากาศส่งผลต่อความรู้สึกคน รวมถึงบรรยากาศของอารมณ์ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอารมณ์จากคนที่มีอำนาจหรืออยู่สูงกว่า หากหัวหน้ากำลังเคร่งเครียด ในห้องประชุมนั้น สมาชิกที่เหลือไม่อาจรู้สึกแจ่มใสได้นัก

เป็นสาเหตุที่คุณในฐานะผู้นำ ผู้บริหาร หรือหัวหน้าจะต้องรักษาพลังงานของตัวเองให้สูง ในรูปแบบอารมณ์ที่แจ่มใจ กระตือรือร้น ร่าเริง สนุกสนาน อย่างสม่ำเสมอ อารมณ์เหล่านี้จะส่งเป็นบรรยากาศแผ่ไปทั่วที่ทำงาน กระตุ้นให้สมาชิกกระปรี้กระเปร่า

แต่การรักษาพลังงานให้สูงอย่างนั้นตลอดเวลาเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก การอยู่กับคนที่พลังงานต่ำหรือกำลังจะหมดน้ำมันในแต่ละวันอาจดึงคุณให้เสียพลังงาน ดังนั้น นอกจากคุณต้องหาวิธีเติมพลังให้ตัวเองแล้ว ยังต้องพยายามอยู่กับคนที่มีพลังงานสูงและดึงพลังนั้นให้อยู่กับตัวเองไว้ ส่งต่อไปให้ผู้อื่นต่อไป

“รับพลังงานจากคนที่มีพลังงานสูง รักษาไว้ และแผ่ไปยังสมาชิก”

พูดถึงเรื่องที่ทำให้ไม่ราบรื่น 30 นาที

คนมักจะยึดติดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเกินไป หากรู้สึกว่าความสัมพันธ์กับคนบางคนไม่ราบรื่นก็จะเอาไปจดจ่อกับคนนั้นมากเกินไป หรือเมื่อทำงานได้ไม่ราบรื่นก็คิดเรื่องนั้นซ้ำๆ จะจมอยู่กับอารมณ์ด้านลบ จนกลายเป็นความเหนื่อยล้าสะสมได้

การใช้เวลาคิดถึงเรื่องนั้นๆ เป็นสิ่งสำคัญก็จริง แต่หากจดจ่อกับสิ่งใดมากเกินไป เราจะนำตัวเองไปผูกกับสิ่งนั้น จนไม่มีโอกาสมองด้านอื่นๆ จะทำให้หาวิธีแก้ไขปัญหานั้นยากขึ้นไปอีก

วิธีหนึ่งในการดึงตัวเองให้ออกห่างจากสิ่งที่เรายังก้าวข้ามไม่ได้ก็คือ ‘การพูดถึงสิ่งนั้น’ ให้เต็มที่อย่างเปิดใจ โดยใช้เวลาสัก 30 นาที เมื่อคุณได้พูดถึงเรื่องนั้นหรือคนคนนั้น จะทำให้ได้ระบายมุมมองของผู้พูด และจะสามารถออกห่างจากเรื่องหรือคนที่พูดถึงไปเองตามธรรมชาติ ทำให้มองความสัมพันธ์ของตนเองกับเรื่องนั้นหรือคนนั้นอย่างมีสติมากขึ้น นั่นหมายถึงการมองหาทางออกได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน

“พูดอย่างเปิดใจถึงเรื่องที่เป็นปัญหา 30 นาที”

สรุป

ความเหนื่อยล้าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติธรรมดาในที่ทำงาน คุณในฐานะผู้นำ ผู้บริหาร หรือหัวหน้า จะต้องคอยสังเกต ใส่ใจกับพลังงาน ของคนในทีมหรือองค์กรและคอยกระตุ้นพลังงานพวกเขาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยไม่ใช้คำสั่งให้ทำนั่นนี่แต่ให้พวกเขาได้ลองคิด

จากนั้นต้องสร้างบรรยากาศของพลังงานที่สูงในที่ทำงาน นั่นหมายถึงคุณต้อง รักษาพลังงานให้สูงตลอด โดยการรับพลังจากผู้คนหรือสิ่งต่างๆ ที่มีพลังงานสูงและถ่ายทอดแผ่ไปยังผู้อื่น ผ่านอารมณ์ร่าเริง แจ่มใส สดชื่น กระตือรือร้น กระปรี้ประเปร่า เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เรื่องบางเรื่องที่เป็นปัญหาก็สร้างความเหนื่อยล้าต่อเนื่อง คุณต้องช่วยพวกเขาแก้ไขและเปิดโอกาสให้พวกเขา พูดเรื่องที่ทำให้ไม่ราบรื่น ให้คุณฟังสัก 30 นาที เพื่อให้เขาได้ระบายและทบทวนสิ่งเหล่านั้น ยังทำให้คุณได้รับรู้ปัญหาอีกด้วย

วิธีเหล่านี้จะช่วยบรรเทาความเหนื่อยล้าเบื้องต้นในที่ทำงานได้บ้าง ซึ่งคุณต้องคอยใส่ใจกับความรู้สึกของคนในองค์กรเป็นสำคัญ จะช่วยให้การทำงานราบรื่นและเป็นไปด้วยดียิ่งขึ้น

เขียนโดย ภูธิชย์ อรัญพูล

Source: หนังสือ ‘Super Coaching ช่วยทีมขยายศักยภาพ สร้างสุดยอดผลลัพธ์’ เขียนโดย Suzuki Yoshiyuki แปลโดย วิธารณี จงสถิตวัฒนา สำนักพิมพ์ Nanmeebooks

Tags::

You Might also Like