LOADING

Type to search

‘จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน’ 3 วิธี กระตุ้นทีมให้บรรลุเป้าหมาย ให้เห็นถึงคุณค่าและลงมือทำ

‘จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน’ 3 วิธี กระตุ้นทีมให้บรรลุเป้าหมาย ให้เห็นถึงคุณค่าและลงมือทำ
Share

ในการทำงานต้องมีเป้าหมาย ตั้งแต่เป้าหมายระดับองค์กร แผนก ทีม กระทั่งระดับส่วนบุคคล คนทำงานจึงจำเป็นต้องรู้เป้าหมายร่วมกัน เพื่อเดินทางไปให้ถึง

กระนั้น คุณในฐานะผู้นำ ผู้บริหาร หรือหัวหน้าอาจพบว่า มีบางคนไม่ได้ใส่ใจหรือมุ่งมั่นในเป้าหมายที่กำหนด หรือตั้งใจเฉพาะเป้าหมายส่วนตัวเท่านั้น ไม่ได้มุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จตามเป้าไปพร้อมกับคนอื่นๆ ในทีม จะทำอย่างไร

ซึซุกิ โยะชิยุกิ (Suzuki Yoshiyuki) ประธานกรรมการบริหารบริษัท COACH A ผู้เชี่ยวชาญในการจัดอบรมโค้ชให้กับผู้บริหารระดับสูงเพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กรให้ดีขึ้น แนะนำ 3 วิธี ที่จะช่วยให้คุณกระตุ้นให้พวกเขากลับมามุ่งมั่นสู่เป้าหมายต่างๆ ร่วมกัน ดังต่อไปนี้

เขาให้คุณค่ากับสิ่งใด

ทุกคนจะมีสิ่งที่ให้คุณค่าอยู่ทุกคน คนที่นิสัยแตกต่างกัน อาจมีสิ่งที่ให้คุณค่าหรือยึดถือเหมือนกัน ทำให้สามารถทำงานหรือสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้ แม้นิสัยจะต่างกันมาก

พิจารณาคำเหล่านี้ และเลือก 3 คำ ที่ใกล้เคียงกับตัวคุณมากที่สุด : ค้นหา ผจญภัย งดงาม เปล่งประกาย สนิทสนม ร่วมกัน ส่งผล กำลังใจ ขัดเกลา เป็นเลิศ อุทิศตน ช่วยเหลือ สร้างสรรค์ พลิกแพลง เล่น สอน อธิบาย ชนะ สำเร็จ ตระหนัก สังเกต มองความเป็นจริง ควบคุม โน้มน้าว เชื่อมสัมพันธ์ ฯลฯ

ลองให้สมาชิกในทีมของคุณเลือกเช่นเดียวกัน จะได้เห็นว่าสิ่งใดที่พวกเขาให้คุณค่าหรือความสำคัญ คุณจะได้เห็นวิธีการคร่าวๆ ที่จะพัฒนาพวกเขาต่อไป เช่น นาย ก เลือกคำว่า “ค้นหา สังเกต มองความเป็นจริง” สะท้อนให้เห็นว่าเขาเป็นคนที่อาจจะช่างสังเกต ชอบทำงานกับข้อมูล เน้นไปที่ข้อเท็จจริงมากกว่าอารมณ์ความรู้สึก ฉะนั้นการพัฒนาหรือพูดคุยกับเขาให้ใช้ข้อมูลมาประกอบ อาจจะเป็นสถิติเพื่อมาเสริมความน่าเชื่อถือในข้อมูลที่คุณนำมากล่าวกับเขา หรือเพื่ออ้างอิงผลสัมฤทธิ์ของแบบฝึกที่คุณให้เขาทำ เป็นต้น

“นำสิ่งที่มีคุณค่าของแต่ละคนมาปรับใช้”

ใช้คำถามปลายปิด

สถานการณ์โดยทั่วไปการถามหรือพูดคุยกันด้วยคำถามปลายเปิด เพื่อกระตุ้นความคิดและคำตอบออกมานั้นเป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ตาม คำถามปลายปิดจะช่วยย้ำให้เห็นถึงความชัดเจนความมั่นใจได้บางสถานการณ์

การถามด้วยคำถามปลายปิดต้องอาศัยาความกล้าและความใส่ใจ การถ่ายทอดด้วยน้ำเสียงที่จริงจัง ทำให้สัมผัสได้ถึงพลังที่มี โดยต้องระวังไม่ให้กระทบกับความสัมพันธ์

เช่นการตอกย้ำกับทีมว่า “เราจะบรรลุเป้าหมายไปด้วยกันใช่ไหม” ด้วยน้ำเสียงที่ทรงพลังเพื่อกระตุ้นและตอกย้ำภาระกิจที่ต้องทำร่วมกัน ก่อนหน้านั้นอาจมีการพูดคุยด้วยคำถาม “เราจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ด้วยวิธีใดบ้าง” มาแล้ว เป็นต้น

“ตอกย้ำให้ชัดเจน ด้วยคำถามปลายปิดที่ทรงพลัง”

จุดไฟให้ลุกขึ้นทำ

การลงมือทำ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ผู้นำ ผู้บริหาร หรือหัวหน้า ที่ทำการโค้ชคนในทีมไม่สามารถจะแก้ตัวได้ว่า ไม่สามารถบังคับใครได้ เขาจึงพัฒนาได้แค่นี้ สาเหตุที่อีกฝ่ายไม่ลงมือทำอาจเพราะยังโค้ชได้ไม่ดีพอ

ดังนั้น เมื่อใดที่กระตุ้นความตั้งใจของอีกฝ่ายได้แล้ว อย่าลืมที่จะกระตุ้นให้เขาลงมือทำด้วย เป็นการขออย่างตรงไปตรงมาแบบทันทีด้วยความมุ่งมั่น “ลุยเลย”

ไม่ว่าวิธีการใดจะกระตุ้นให้ลงมือทำให้ได้ แม้ท้ายที่สุดอาจทำได้ไม่สำเร็จ แต่มาตรฐานขั้นต่ำคือต้องกระตุ้นให้ลงมือทำให้ได้

“กระตุ้นให้ลงมือทำ”

สรุป

ในการแก้ปัญหาคนที่ไม่มุ่งมั่นทำตามเป้าหมายที่องค์กรหรือทีมกำหนด คุณในฐานะผู้นำ ผู้บริหาร หรือหัวหน้าจะต้องค้นหาว่า ‘เขาให้คุณค่ากับสิ่งใด’ โดยลองให้เขาเลือกชุดคำที่รู้สึกชอบ 3 คำ เช่น ค้นหา งดงาม ร่วมกัน กำลังใจ เป็นเลิศ ชนะ ช่วยเหลือ สร้างสรรค์ สอน สำเร็จ ฯลฯ เป็นต้น เพื่อนำมาปรับใช้กับการทำงาน

ในแต่ละครั้งที่มีการประชุมหรือพูดคุยถึงเป้าหมายหรือภารกิจบางอย่าง อย่าลืมที่จะ ‘ถามด้วยคำถามปลายปิด’ ที่เต็มไปด้วยพลัง เพื่อช่วยตกย้ำให้ชัดว่าจะเดินไปสู่จุดหมายร่วมกัน เช่น เราเป็นทีมเดียวกันใช่ไหม จะมุ่งสู่จุดหมายด้วยกันไหม เราจะสำเร็จใช่หรือเปล่า เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการลงมือทำ คุณต้อง ‘จุดไฟให้ลุกขึ้นทำ’ ให้ได้ ไม่ว่าด้วยวิธีการใด (ที่เหมาะสม) แม้ว่าท้ายที่สุดการกระทำนั้นอาจไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร

วิธีการเหล่านี้ จะทำให้เห็นเป้าหมายและคุณค่าอย่างชัดเจน พร้อมมีไฟที่จะลงมือทำเพื่อไปสู่เป้าหมายร่วมกัน

เขียนโดย ภูธิชย์ อรัญพูล

Source: หนังสือ ‘Super Coaching ช่วยทีมขยายศักยภาพ สร้างสุดยอดผลลัพธ์’ เขียนโดย Suzuki Yoshiyuki แปลโดย วิธารณี จงสถิตวัฒนา สำนักพิมพ์ Nanmeebooks

Tags::

You Might also Like