LOADING

Type to search

หรือนี่จะเป็นจุดจบของสตรีมมิ่ง? ‘Subscription Fatigue’ เมื่อคนเริ่มเหนื่อยกับสมาชิกรายเดือน

หรือนี่จะเป็นจุดจบของสตรีมมิ่ง? ‘Subscription Fatigue’ เมื่อคนเริ่มเหนื่อยกับสมาชิกรายเดือน
Share

สมัยก่อน เวลาที่เราเกิดอยากจะดูหนังดีๆ สักเรื่อง ฟังเพลงดีๆ สักเพลง แน่นอนว่า ก็คงต้องไปโรงหนัง ไปเช่าหรือซื้อแผ่นซีดีมา แต่ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เราไม่จำเป็นต้องดิ้นรน ถ่อไปไกลอีก เพียงแค่กดสมัครออนไลน์ หนัง และเพลงดีๆ เหล่านั้นก็ปรากฏขึ้นในพริบตาแล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้ทุกวันนี้ก็มีหลากหลายแพลตฟอร์มให้เลือกใช้กันมากมาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในหลายๆ ครั้ง มันก็สร้างความรู้สึกเชิงลบอย่าง ‘Subscription Fatigue’ ให้เราได้เช่นกัน

แล้ว Subscription Fatigue คืออะไร เกิดจากเรื่องไหน? บทความนี้ Future Trends จะพาไปดูกัน

‘Subscription Fatigue’ เมื่อสมาชิกรายเดือนทำให้เราเหนื่อยล้า

subscription-fatigue 1
Image by Freepik

Subscription Fatigue คือภาวะที่คนยุคนี้เหนื่อยล้ากับการใช้บริการแบบสมาชิกรายเดือนหรือสตรีมมิ่งที่เยอะจนเกินไป ไม่ว่าจะเป็น Netflix, Disney+ Hotstar, HBO GO, Prime Video, Apple Music หรือแม้กระทั่ง Spotify ก็ด้วย

มีเยอะไปก็ ‘ใช้ไม่ทัน’

จากการที่มีหลายแพลตฟอร์มให้เลือกใช้ และราคาที่ถูก สิ่งนี้จึงไม่ต่างอะไรจากดาบสองคมที่ทำให้ผู้ใช้เริ่มรู้สึกว่า ด้วยเวลาชีวิตที่จำกัด การสมัครสมาชิกรายเดือนเอาไว้หลายๆ อันเป็นสิ่งที่ไม่ตอบโจทย์อีก เนื่องจาก ไม่มีระยะเวลาการดูหรือใช้ได้ทัน และหากใช้ไม่ทันจริงๆ มันก็คล้ายกับการเอาเงินไปโยนทิ้งลงแม่น้ำ โดยที่เราเองก็ไม่ได้ดอกผลหรือประโยชน์อะไรกลับมาสักนิด

ข้าวก็ต้องกิน สกินแคร์ก็ต้องซื้อ ‘สตรีมมิ่งก็ต้องจ่าย’

subscription-fatigue 2
Image by tirachardz on Freepik

นอกเหนือจากเหตุผลเรื่องการใช้ไม่ทัน จริงๆ แล้ว เรื่องราคาก็สำคัญไม่แพ้กัน ถึงจะเป็นราคาที่ถูกเพราะเหมารายเดือน ใช้ได้แทบทุกฟีเจอร์หรือดูหนังได้แทบทุกเรื่องก็ตาม แต่หากพูดกันตามเนื้อผ้าแล้ว การสมัครสมาชิกไว้เป็นจำนวนมาก็สร้างภาระค่าใช้จ่ายในการแบกรับพอสมควร

ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจไม่สู้ดี ข้าวของที่มีราคาแพงขึ้น และความไม่แน่นอนที่อาจเกิดได้ตลอด เราจึงจำเป็นต้องเก็บหอมรอมริบเงินบางส่วนไว้เป็นแผนฉุกเฉินในอนาคต การตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นอย่างสตรีมมิ่งออกเลยเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่หลายๆ คนนึกถึง

ในทางกลับกัน เทียน โทซ (Tien Tzuo) ซีอีโอของซูโอรา (Zuora) และผู้บัญญัติคำว่า “Subscription Economy” ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นซี (CNBC) เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า คนส่วนใหญ่คิดว่า Subscription Economy น่าจะคล้ายกับธุรกิจอื่นๆ ที่พอเศรษฐกิจไม่ดี ผลประกอบการ Subscription Economy ก็คงจะไม่ดีตามไปด้วย

แต่ตนคิดกลับกันว่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะถ้าเศรษฐกิจไม่ดี คนก็แค่ไม่ซื้อผลิตภัณฑ์มากขึ้น แต่ธุรกิจที่เล็กลงอย่างการขายผลิตภัณฑ์หรือ Subscription Economy จะบูมแทน เนื่องจาก มันคือการจ่ายเงินทีละน้อยๆ เพื่อแลกกับความบันเทิงใหญ่ๆ คนจะหาความสุขให้ตัวเองอย่างสมเหตุสมผลมากขึ้น

ก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า จากสถานการณ์การขึ้นราคา และการเพิ่มกฎข้อห้ามของบางสตรีมมิ่งจะส่งแรงกระเพื่อมให้ผู้ใช้งานหลายๆ คนยอมยกธงขาวด้วยความเหนื่อยล้า นำไปสู่จุดจบของสตรีมมิ่งจริงๆ รึเปล่า?

Sources: https://bit.ly/3ouye4d

https://bit.ly/3OHBlAp

https://bit.ly/3OI2gfd

https://bit.ly/3qfqwvh

https://bit.ly/3WCzVJj

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1