LOADING

Type to search

“งานเสร็จแล้ว แต่ก็ยังทำต่อเพราะรู้สึกผิดอยู่เลย” เมื่อคนเราไม่จำเป็นต้อง Productive ตลอดเวลา ปล่อยให้ตัวเอง ‘ว่าง’ บ้างก็ได้

“งานเสร็จแล้ว แต่ก็ยังทำต่อเพราะรู้สึกผิดอยู่เลย” เมื่อคนเราไม่จำเป็นต้อง Productive ตลอดเวลา ปล่อยให้ตัวเอง ‘ว่าง’ บ้างก็ได้
Share

ท่ามกลางสังคมที่เชิดชูคนขยัน สื่อที่คอยผลิตซ้ำ ปลูกฝังว่า ต้อง Productive ต้องหาสิ่งต่างๆ ทำตลอดเวลา ต้องรีบเติบโต ต้องประสบความสำเร็จเร็วๆ ทำให้ทุกวันนี้มีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่ให้ค่ากับเส้นชัยแห่งความก้าวหน้า เคี่ยวกร่ำตัวเองด้วยการทำงานเยอะๆ อยู่เสมอ

ไม่ว่าจะเลิกงาน ลางานก็อดไม่ได้ที่จะเข้าอีเมลไปเช็กงานที่ออฟฟิศ หรือต่อให้เป็นวันหยุดที่ออกไปเที่ยว ก็มักจะพกโน้ตบุ๊กติดตัวให้อุ่นใจเอาไว้เผื่อทำงานด้วย

ชุดความคิดของสังคมที่ถูกส่งต่อกันมาทำให้เกิดเป็นค่านิยมแบบผิดๆ ว่า การปล่อยให้ตัวเอง ‘ว่าง’ นั่งนิ่งๆ หรือทำบางอย่างที่ไม่เกี่ยวกับงานนั้นเป็นเรื่องที่ ‘ไม่คุ้มค่า’ คนเราต้องกระหายชัยชนะ เคลียร์งานเสร็จแล้วก็ต้องทำอีกเยอะๆ ต่อให้เหนื่อยแค่ไหนก็อย่าหยุด เพราะเดี๋ยวจะเกิด ‘ความรู้สึกผิด’ กับตัวเองขึ้น…

ในช่วงชีวิตที่ความสำเร็จกลายเป็นปลามันชิ้นใหญ่ วันแล้ววันเล่าที่ทุกคนเฝ้าวิ่งในลู่แห่งความ Productive ไม่ต่างจากหุ่นยนต์ที่เปิดตลอด หรือหนูถีบจักรที่ไม่มีวันหยุดพัก แต่ว่ากันตามตรงแล้ว การตกเป็นทาส เสพติดสิ่งเหล่านี้ก็อาจกัดกร่อนชีวิตพาร์ตอื่นเอาได้ แถมก็คงไม่มีร่างกายใครหรอกที่พร้อมทำงานทุกเมื่อโดยไม่เหนื่อยล้าด้วย

อมิเลีย อัลเดา (Amelia Aldao) นักบำบัดโรคในเมืองนิวยอร์กได้อธิบายความรู้สึกผิดดังกล่าวว่า เกิดจากเสียงภายในจิตใจที่เป็นผลมาจากการเลี้ยงดูในอดีตด้วย ‘ความกดดันที่สูง’ ของครอบครัว ส่งผลให้เราคาดหวังกับตัวเองสูง และแน่นอนว่า หากไปไม่ถึงจุดนั้นก็จะเกิดความรู้สึกผิดขึ้น ทั้งกับตัวเอง และคนรอบข้าง

ก่อนหน้านี้เธอก็เคยเป็นคนประเภทที่กล่องจดหมายเป็นศูนย์ ไม่เหลืออีเมลที่ยังไม่ได้อ่านสักฉบับเดียวเช่นกัน ทุกอย่างต้องได้รับการตอบกลับภายในไม่กี่นาที ทว่า เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เธอก็ไม่สามารถทำแบบนั้นได้อีก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สิ่งต่างๆ จะต้องถูกลดทอนความสำคัญลง ลูกค้ากับทีมยังคงสำคัญกับเธอ และงานทุกอย่างจะเสร็จได้เหมือนเดิม

จูลี่ เดอ อาเซเวโด แฮงค์ส (Julie de Azevedo Hanks) นักจิตวิทยาชื่อดัง และผู้ก่อตั้งวาซัด แฟมิลี่ เทอราปี (Wasatch Family Therapy) เคยเผยถึงสาเหตุไว้ว่า คนเรามักเชื่อมโยงความ Productive ประสิทธิภาพ และผลลัพธ์ของงานเข้ากับ ‘Self-worth’ ซึ่งเมื่อไม่ได้ใช้มันอย่างเต็มที่ ไม่ได้ทำทุกอย่างตามที่ตั้งใจ ก็เลยเกิดความรู้สึกว่า ถูกลดทอนคุณค่าลง หรือเหมือนกำลังทำอะไรผิดอยู่ ทั้งที่ในความเป็นจริงนี่ไม่ใช่เรื่องที่ผิดด้วยซ้ำ

การผ่อนคลายไม่เท่ากับความขี้เกียจ ความไร้ค่า

การหยุดพักเป็นเรื่องปกติที่มนุษย์คนหนึ่งควรกระทำ

stop-feeling-guilty-when-youre-not-working 1

อดัม แกรนต์ (Adam Grant) ผู้เขียนหนังสือขายดีอย่าง Think Again ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า ในแง่มุมหนึ่ง แนวคิด ‘ถ้าฉันทำงานหนักขึ้น และนานขึ้น ฉันจะทำสำเร็จมากขึ้น’ เกิดจากการปลูกฝังค่านิยมขององค์กรให้พนักงานว่า หากทุ่มเทแล้วสิ่งต่างๆ จะดีขึ้น

เพราะฉะนั้น หากรู้สึกผิดว่า ไม่ประสบความสำเร็จแบบที่คิด ให้ตระหนักรู้ว่า อารมณ์นี้เกิดจากการไม่คำนึงถึงลิมิตที่มี เรากำลังตัดสินว่า เป็นความผิดของตัวเองทั้งหมด ‘Reframe สถานการณ์ใหม่’ ลดเสียงความรู้สึกผิดที่ดังก้องในหัวลง ลองบอกตัวเองว่า “วันนี้ฉันทำงานหนักมาก และฉันทำดีที่สุดแล้ว ฉันหวังว่าจะทำงานให้เสร็จมากขึ้นในวันพรุ่งนี้ และเพื่อนร่วมงานของฉันก็อาจจะเข้าใจเพราะพวกเขายุ่งเหมือนกัน” เพราะตราบใดที่ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้คนอื่นก็ไม่ได้แปลว่า คุณจะกลายเป็นคนผิดนั่นเอง

ปีเตอร์ แบร็กแมน (Peter Bregman) ผู้บริหารที่เคยร่วมงานกับผู้นำเก่งๆ มากว่า 25 ปี เคยกล่าวว่า ให้เราออกจากวงโคจรแห่งความรู้สึกผิดเหล่านี้ด้วยการเตือนตัวเองทุกครั้งว่า ‘การเสียเวลา’ ก็เป็นผลดีเช่นเดียวกับการทำงานตลอดเวลา

จริงๆ แล้ว พวกไอเดียดีๆ มักจะเกิดขึ้นตอนที่ไม่ได้ทำงาน สมองเกิดการผ่อนคลาย ไม่ว่าจะเป็นการหยุดพักไปเล่นกับสัตว์เลี้ยงคู่ใจ การนั่งดูเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) การคุยกับเพื่อนรัก หรือการนั่งโง่ๆ ริมทะเลโดยไม่ทำอะไรเลยก็ตาม

stop-feeling-guilty-when-youre-not-working 2

เราไม่จำเป็นต้องหมกมุ่นกับงานทุกชั่วโมง ทุกนาทีที่หายใจเข้า-ออก ไม่ต้องพยายามเป็นคนที่ Productive ตลอดเวลาตามไม้บรรทัดของสังคมเสมอไป

แอนน์ วิลสัน (Anne Wilson) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยวิลฟริด ลอเรียร์ (Wilfrid Laurier University) ได้พูดถึงประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า ถ้าเราติดกับดักความยุ่งเหยิงหรือที่เรียกว่า ‘The Enmeshment Trap‘ ผูก Self-worth เข้ากับอาชีพการงาน ความสำเร็จ ความล้มเหลว และปล่อยให้งานมา define นิยามชีวิตหรือกลายเป็นเครื่องหมายระบุตัวตน (Identity marker) มากเท่าไร มันก็เป็นอันตรายโดยตรงกับตัวเองมากขึ้นเท่านั้น

ไม่มีใคร Productive ตลอดเวลาหรอก ขนาดชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) ผู้คิดค้นทฤษฎีวิวัฒนาการยังใช้ชีวิตค่อนข้างชิลเลย ปกติเขาจะทำงานวันหนึ่งแค่ไม่กี่ชั่วโมง แต่หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการทอดน่องมากถึง 3 รอบต่อวัน การอ่าน การเขียนจดหมาย และการนอนระหว่างวัน

หรืออย่างมดงาน สัตว์ที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของความขยัน แต่แท้จริงแล้ว มันก็ไม่ได้ขยันตลอดเวลาแบบที่บางคนเข้าใจ มีการศึกษาหนึ่งระบุว่า ประมาณ 72 เปอร์เซ็นต์ของพวกมันทำงานเพียงครึ่งหนึ่งหรือน้อยกว่าเวลาชีวิตที่มี ส่วนอีก 25 เปอร์เซ็นต์นั้นไม่ทำงานอะไรเลย และมีแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ที่ Productive ทำงานตลอดเวลา

ไม่ต้องรู้สึกผิด ไม่ต้อง Hardworking ไม่ต้องมี Growth mindset ทุกครั้งที่ลืมตาตื่น และหลับตาลงนอนก็ได้ หากในวันนี้คุณทำงานเสร็จแล้ว ก็พักบ้าง

“You are totally replaceable at work. You’re not replaceable at home.”

ในโลกของการทำงาน เราถูกแทนที่ได้เสมอ บริษัทไม่มีเราเขาก็อยู่ได้ หาคนอื่นจาก LinkedIn ที่ทำงานแบบเราหรือดีกว่าเราหลายเท่าได้ แต่สำหรับคนที่รักเรา ไม่มีทางเลยที่เราจะถูกคนอื่นแทนที่ เรามีคนเดียวในโลกของพวกเขา แถมถ้าไม่มีเรา พวกเขาก็อยู่ไม่ได้ด้วย ชีวิตเราก็เช่นกัน มันมีเราเพียงคนเดียวนะ

ให้งาน ให้ความ Productive เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่อย่าให้ทั้งชีวิตกลายเป็นส่วนหนึ่งของมันล่ะ

Sources: https://bit.ly/3NSwmIR
.
https://bit.ly/3OZTBC6
.
https://n.pr/3IARr9W
.
https://bbc.in/3It8Zo9
.
https://bit.ly/3c9CDD6
.
https://bit.ly/3c7uD5v

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1

You Might also Like