LOADING

Type to search

พูดแล้วคนไม่ฟังต้องทำอย่างไร? รู้จัก 4 เทคนิค เพื่อให้คนสนใจแม้พูดไม่เก่ง

พูดแล้วคนไม่ฟังต้องทำอย่างไร? รู้จัก 4 เทคนิค เพื่อให้คนสนใจแม้พูดไม่เก่ง
Share

ทำไมเวลาพูดนำเสนออะไรบางอย่างในที่ประชุม เหมือนไม่ค่อยมีคนฟัง จะทำอย่างไรให้คนหันมาสนใจมากขึ้น

บางคนอาจกำลังประสบปัญหาดังกล่าว แม้ในหัวข้อที่พูดนำเสนอจะเป็นเรื่องสำคัญ หัวข้อน่าสนใจขนาดไหนก็ตาม บางครั้งเหมือนไม่ได้รับความสนใจฟังมากพอ ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการพูดของเรา มาทำความรู้จัก 4 เทคนิคสำคัญในการถ่ายทอดสารไปยังผู้ฟังให้น่าสนใจมากขึ้น ดังต่อไปนี้

1. ความเร็ว

ความเร็วขณะที่พูดเป็นสิ่งสำคัญอย่างแรก คาร์ไมน์ แกลโล ผู้เขียนหนังสือ Talk Like TED ได้ศึกษาการพูดบนเวที TED ของ ไบรอัน สตีเวนสัน ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่มีคนปรบมือให้ยาวนานที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์เวที TED พบว่า หัวใจสำคัญคือ การพูดให้เหมือนกำลังสนทนากับเพื่อน ไบรอันพูดบนเวทีในความเร็วประมาณ 190 คำต่อนาที นั่นหมายถึง 18 นาที บนเวทีจะพูดประมาณ 3,400 คำ

คาร์ไมน์ยังพบว่า ผู้พูดที่ได้รับความนิยมสูงสุดของ TED คนอื่นก็มีความเร็วใกล้เคียงกัน อย่าง เซอร์ เคน โรบินสัน พูดบนเวทีไปประมาณ 3,200 คำ ส่วนจิลล์ โบลต์ เทย์เลอร์ 2,700 คำ หรือหัวข้อของไบรอันที่ได้รับความนิยมสูงสุดชื่อ ‘We Need to Talk about an Injustice’ ก็ใช้คำไปประมาณ 3,300 คำใน 18 นาที

แต่คาร์ไมน์ไม่ได้หมายความว่าให้นับจำนวนคำในการพูดแต่ละครั้งแต่อย่างใด สิ่งสำคัญคือ “การพูดอย่างเป็นธรรมชาติ เหมือนกำลังสนทนากับเพื่อน” ไม่ว่าการพูดนั้น จะเป็นการพูดแบบทางการก็ตาม (แต่ต้องเลือกใช้คำอย่างเหมาะสมด้วย) โดยให้สังเกตและฝึกฝนจากการพูดของเรา หากเป็นคนพูดเร็วเกินไปก็อาจลดความเร็วลง ช้าเกินไปก็เพิ่มความเร็วขึ้น โดยกะประมาณความเร็วในการพูด และนำอีก 3 เทคนิคต่อไปนี้ไปใช้ร่วมกัน

2. ระดับเสียงดังเบา

เสียงดังเบาที่ต่างกันจะใช้เพื่อเน้นบางคำ บางประโยค หรือบางช่วงที่สำคัญ หรือต้องการความสนใจเป็นพิเศษ เช่น การเพิ่มระดับเสียงให้ดังขึ้น เปรียบเสมือนการทำตัวหนังสือให้หนาขึ้น เพื่อให้ผู้อ่านรู้ว่า ส่วนดังกล่าวนี้สำคัญ หรือดึงความสนใจให้อารมณ์ตื่นเต้น ยิ่งใหญ่ หรือถามบางคำถามเพื่อให้ผู้ฟังตอบ ขณะที่เสียงเบาอาจดึงความสนใจในสถานการณ์หรือจุดประสงค์ที่ต่างกัน เช่น การเล่าความลับบางอย่าง การทิ้งคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบเพื่อให้ผู้ฟังคิดต่อ เป็นต้น

3. โทนเสียงสูงต่ำ

เสียงสูงต่ำใช้บ่งบอกถึงอารมณ์ความรู้สึกได้ เช่น การใช้เสียงที่ต่ำลงเพื่อแสดงถึงความจริงจังในประโยคนั้น หรือการใช้เสียงที่สูงขึ้นกว่าปกติในช่วงที่ต้องการความสนุกสนาน กระตุ้นความตื่นเต้น เช่น การกล่าวทักทายสวัสดีด้วยเสียงต่ำราบเรียบ กับเสียงสูงกว่าปกติเล็กน้อยด้วยความร่าเริง จะสร้างอารมณ์ที่แตกต่างกัน แม้พูดคำเดียวกัน เป็นต้น

การใช้โทนเสียงสูงต่ำ เมื่อประกอบกับความเร็วและระดับเสียงดังเบาอย่างเหมาะสม จะสื่อถึงความอารมณ์หรือความหมายที่แตกต่างไป เช่น พูดช้า ดัง และเสียงต่ำ เพื่อเน้นใจความสำคัญบางอย่าง หรือพูดเร็ว ดัง และเสียงสูง เพื่อกระตุ้นความสนใจหรือความตื่นเต้นของผู้ฟัง

อย่างไรก็ตาม ให้ระวังเสียงที่สูงและต่ำเกินไปจนไม่เป็นธรรมชาติ โดยโทนเสียงนี้ให้ยึดที่โทนเสียงของเราเป็นหลัก ไม่ใช่การเทียบคีย์กับคนอื่นเหมือนเครื่องดนตรี

4. จังหวะ

การพูดจะต้องมีการเว้นจังหวะเงียบ หรือเร็วช้าในการพูดที่ไม่เท่ากัน การหยุดพูดช่วงสั้นๆ ก็เพื่อเน้นคำสำคัญ หรืออาจจะทิ้งจังหวะให้คนฟังคิดตาม หรือตอบคำถามที่เราต้องการคำตอบ เป็นต้น

ลองนึกถึงโน้ตดนตรีที่มีเร็วช้าสั้นยาว และดังเงียบสลับกันไป (แต่การพูดไม่ได้ใช้มากเท่าเสียงดนตรี) และลองนึกถึงการพูดของ AI เช่น Google หรือ Siri ที่มักใช้โทนเสียงเดียว จังหวะเดียว ระดับเสียงเดียว ซึ่งฟังแล้วไม่เป็นธรรมชาติ ดูเป็นหุ่นยนต์ที่ไร้ชีวิตชีวา ซึ่งคนฟังจะรับรู้ถึงความไม่เป็นธรรมชาติของผู้พูดได้

นั่นคือ 4 เทคนิคเบื้องต้นของการพูดให้น่าฟัง ยังมีอีกหลายองค์ประกอบสำคัญในการพูดที่ต้องเรียนรู้ต่อไป เช่น ภาษากาย หัวข้อที่พูด การใช้คำ แต่ 4 เทคนิคที่กล่าวมา ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพื่อฝึกพูด แต่ต้องระลึกไว้เสมอว่า หัวใจสำคัญคือการพูดอย่างเป็นธรรมชาติ และต้องอาศัยการฝึกฝนเพิ่มเติม แล้วคุณจะกลายเป็นผู้พูดที่น่าฟังมากยิ่งขึ้น

เขียนโดย: Phoothit Arunphoon

Source: หนังสือ ‘Talk Like TED’ เขียนโดย Carmine Gallo (คาร์ไมน์ แกลโล) แปลโดย พลอยแสง เอกญาติ สำนักพิมพ์ openworlds

Tags::

You Might also Like