Type to search

แนวโน้มเศรษฐกิจกับเทคโนโลยีอวกาศจะเป็นอย่างไร: สรุปเนื้อหาสำคัญจากเซสชัน ‘Space Economy Development in Thailand’ โดยเอกชัย ภัคดุรงค์

December 08, 2021 By Future Trends

“เราไม่ได้อยากไปดวงจันทร์ เราแค่ต้องการที่จะมั่นใจได้ว่า เราสามารถใช้อวกาศให้มีประโยชน์ตอบโจทย์มนุษย์และสังคม” – เอกชัย ภัคดุรงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโสของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เดินหน้าต่อยอดงาน ‘STARTUP x INNOVATION THAILAND EXPO 2021’ หรือ ‘SITE2021’ ภายใต้แนวคิดการเปล่งประกายแห่งเทคโนโลยีเชิงลึก ‘DeepTech Rising’…The Next Frontier of Innovation ในระหว่างวันที่ 15-18 กันยายนที่ผ่าน

เจาะลึก 5 เทคโนโลยีเชิงลึกที่เข้ามายกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ได้แก่ 1. ด้านเกษตร (AgTech) 2. ด้านอาหาร (FoodTech) 3. ด้านการแพทย์ (MedTech) 4. ด้านอวกาศ (SpaceTech) 5. ด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือนสําหรับบุคคล (AI Robotic Immersive IoT: ARI Tech)

โดยทีมงาน Future Trends ได้เป็นส่วนหนึ่งของผู้เข้าร่วมงาน และสรุปเรียบเรียงเนื้อหาจากเซสชันที่น่าสนใจมาให้ทุกคนได้ติดตาม และนี่ก็คือเซสชันของ ‘Space Economy Development in Thailand’ โดย เอกชัย ภัคดุรงค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส บมจ. ไทยคม และผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจอวกาศแห่งประเทศไทย ที่ได้พูดถึงแนวโน้มและโอกาสของเศรษฐกิจกับเทคโนโลยีอวกาศ ที่มีประโยชน์และไม่ได้ไกลตัวอย่างที่เราเคยคิด

ระบบนิเวศในกิจการอวกาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ภาพรวมของระบบนิเวศกิจการอวกาศ ที่คุณเอกชัย นำมาพูดเกริ่น แสดงให้เห็นถึงการแตกแขนงธุรกิจหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ B2B รูปแบบธุรกิจที่เกิดการดีลเทคโนโลยีระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันเอง และแบบ B2C ที่จะใช้เทคโนโลยีอวกาศเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค นอกจากนี้การสร้างกิจการดังกล่าว ก็มีทั้งรูปแบบการสร้างและพัฒนาในระยะสั้นและยาว โดยประเทศเรานั้น คุณเอกชัยก็เชื่อว่า เราสามารถจะสามารถพัฒนาทั้งหมดนี้ที่พูดมาได้

สิ่งที่คุณเอกชัยจะมาโฟกัส เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราและเป็นประโยชน์แก่ทั้งผู้ประกอบการธุรกิจ และผู้ที่สนใจมาร่วมงาน เราจะมาอัปเดทเทรนด์เทคโนโลยีอวกาศและโอกาสทางธุรกิจในอนาคตกัน

แรงขับที่จะทำให้ธุรกิจและบริการอวกาศเกิดขึ้นได้

สิ่งที่จะทำให้บริการด้านอวกาศเกิดขึ้นได้นั้น คุณเอกชัยกล่าวว่าเกิดได้จากแรง 2 แรงที่มาบรรจบกันนั่นคือ ‘Technology Push’ แรงผลักด้วยเทคโนโลยีเพื่อสร้างสิ่งที่ต้องการขึ้นมา จากนั้นต้องอาศัย ‘User Demand Pull’ แรงดึงที่เกิดจากความต้องการของประชาชนนั้นต้องการอะไร

เทคโนโลยีจะดีแค่ไหน ถ้าไม่ตอบโจทย์ประชาชนก็จะไม่ได้ไปต่อ และหากประชนต้องการใช้อะไร แต่เทคโนโลยีไม่เอื้อ ก็ทำให้ไปต่อไม่ได้เหมือนกัน ดังนั้นสองสิ่งนี้จึงเป็นโมเดลของการดำเนินธุรกิจด้านอวกาศที่มีอยู่ในโลก ที่จะทำให้เกิดอุสาหกรรมได้จริงผ่านผู้ใช้งานที่มีความต้องการแตกต่างกันไป

เทคโนโลยีอวกาศสำคัญที่จะก้าวกระโดดและพลิกโฉมโลก

คุณเอกชัยได้สรุปให้เราฟังถึง Space Application ทั้ง 3 อย่าง ว่าด้วยเทคโนโลยีอวกาศที่จะมีประโยชน์และบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวันของมนุษย์ จนเกิดเป็นเทรนด์ใหม่ที่จะแพร่หลายในสากลโลกได้แก่

1. Broadband and Broadcast – อินเทอร์เน็ตที่และโทรทัศน์ดาวเทียม ที่เราต่างคุ้นเคย โดยทุกวันนี้ดูเหมือนข้อมูลข่าวสารดูจะมากขึ้นเรื่อยๆ ไอเดียของการพัฒนาดาวเทียมจึงถูกพัฒนา ทั้งดาวเทียมเพื่อเจาะกลุ่มประเทศใดประเทศหนึ่ง และดาวเทียมวงโคจรต่ำขนาดเล็ก ที่เข้ามาช่วยลดต้นทุน

2. Remote Sensing – เทคโนโลยีที่ช่วยให้สำรวจข้อมูลจากระยะไกล ไม่ว่าจะแผนที่ ภูมิประเทศต่างๆ ให้ออกมาเป็นมีเดีย ซึ่งในปัจจุบันความละเอียดของภาพก็พัฒนาขึ้นมากจากแต่ก่อน นั่นทำให้เราสามารถสโคปการใช้งานให้เจาะจงขึ้นได้ ไม่ว่าจะด้านการเกษตร หรือการบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆ

3. IOT – เทคโนโลยีที่เราติดตั้งบนพื้นโลก และส่งสัญญาณขึ้นไปบนอวกาศ ที่ช่วยให้เราวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เพื่อใช้ประโยชน์ในการติดตาม ควบคุม ตรวจสอบ เช่น การประเมินค่าผืนดิน ค่าอากาศ หรือจะใช้ติดตามสินค้า ยานยนต์ หรือแม้แต่การควบคุมให้รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเองตามข้อมูลที่มี และที่สำคัญยังทำให้การควบคุมดูแลการดำเนินธุรกิจง่ายขึ้นด้วย

คุณเอกชัยเล่าต่อว่า 3 สิ่งนี้ที่จะเปลี่ยนแปลงการใช้งานอวกาศของทั่วโลก คุณเอกชัยก็หวังว่าประเทศไทยเองก็จะเป็นหนึ่งในสตรีมนี้เช่นกัน

เทคโนโลยีตั้งต้นอะไรบ้างที่จะทำให้อนาคตเกิดขึ้นจริงได้

หลังจากที่เราได้ฟัง Space Application ว่าด้วยเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการใช้เทคโนโลยีอวกาศที่ส่งผลต่อทั่วโลกแล้ว คุณเอกชัย ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ 6 Drivers of the New Space Ecosystem หรือเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนให้โลกอนาคตดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ได้แก่

1. Geo High-throughput satellite & Software-defined payload – ดาวเทียมค้างฟ้า ที่พัฒนามาเรื่อยๆ โดยนอกจากจะส่งสัญญาณได้เร็วขึ้นแล้วมันยังมีขนาดใหญ่ขึ้น นั่นทำให้ต้นทุนต่อหน่วยมีความถูกลง ทำให้เข้าถึงประชานได้มากขึ้น นอกจากนี้ดาวเทียมรุ่นใหม่ๆ ยังสามารถปรับแรงส่งได้อย่างยืดหยุ่นขึ้นอีกด้วย

2. LEO Constellations – เราน่าจะเคยได้ยินดาวเทียม Starlink โดย อีลอนมัสก์ ซึ่งปัจจุบันดาวเทียมที่ส่งสัญญาณครอบคลุมทั่วทั้งโลกนี้ก็มีการแข่งขันกันอยู่สองสามเจ้า โดยคุณเอกชัยได้พูดว่า นี่ก็คงเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่มันจะเกิดขึ้น

3. Reusable Rocket – เดิมทีจรวดมีราคาที่แพงมาก ยิงดาวเทียมครั้งหนึ่งต้องใช้งบมหาศาล นอกจากนี้ตัวจรวดเองเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจก็ต้องทิ้งลงทะเลไป ปัญหาดังกล่าวทำให้ เกิดไอเดียในการนำจรวดเหล่านี้กลับมาใช้งานใหม่ได้ นั่นทำให้เกิดการลดต้นทุนลง ซึ่งทำให้มีคนเข้ามาสู่อุตสาหกรรมนี้ได้มากขึ้น

4. Smallsat/Nanosat – การยิงดาวเทียมดวงเล็กๆ ขึ้นไปหลายๆ ดวง ง่ายมากยิ่งขึ้นเพราะต้นทุนเรื่องจรวดถูกลง และยังไม่จำเป็นต้องมีดาวเทียมที่ราคาสูงเกินไป

5. Smart Ground Equipment – ตัวรับสัญญาณจากบนโลก ที่แน่นอนว่าต่อให้มีดาวเทียมดีแค่ไหน ก็จะต้องมีตัวรับที่ดีตาม ซึ่งจานเพื่อรับสัญญาณดาวเทียมในปัจจุบันก็มีราคาถูกลง แถมด้วยขนาดที่เล็กลงทำให้สามารถติดได้หลากหลายพื้นที่มากขึ้น

6. Data Intelligence – คุณเอกชัยเล่าว่า ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่กล่าวมาใดๆ ล้วนมีจุดร่วมกันคือเรื่องของข้อมูล ที่นำมาวิเคราะห์และนำมาใช้งาน Data Intelligence อย่าง AI. และ Blockchain ก็จะเข้ามามีบทบาทด้วยนั่นเอง

สู่ยุคเร่งพัฒนาเพื่อให้ทันกระแสโลก

คุณเอกชัยได้เล่าปิดในช่วงสุดท้ายถึง ปัจจัยที่จะทำให้ประเทศเราไม่ตกกระแสโลกอนาคต ที่ไม่ใช่เพียงแค่เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น แต่มีอยู่ 4 เรื่องที่เราต้องเรียนรู้และพัฒนาไปพร้อมๆ กันนั่นคือ การพัฒนาคน / รัฐบาลที่สนับสนุน / เอกชนต้องกล้าลงทุน / และการไหลเวียนเงินทุนในประเทศ

ซึ่งจากที่กล่าวมา ทำให้เราเห็นภาพสะท้อนได้ว่า เทคโนโลยีทุกวันนี้ได้ล้ำหน้าไปไกลจนถึงระดับอวกาศ การจะตามโลกให้ทันจึงไม่ใช่เพียงแค่อาศัยเทคโนโลยี แต่การเริ่มพัฒนาในทุกๆ ภาคส่วนองค์กรเองเพื่อตามให้ทันโลกเองก็ถือเป็นเรื่องสำคัญ


อ่านผ่าน Facebook ได้ที่: Link

Trending

    Future Trends

    Future Trends

    Knowing The Future, Be The Winners of Tomorrow การรู้อนาคตทำให้เราเป็นผู้ชนะของวันพรุ่งนี้