Type to search

บริบทเปลี่ยน องค์กรต้องปรับ อยู่รอดอย่างไร ในสมรภูมิยุคดิจิทัล ที่การแข่งขันสูง

November 22, 2022 By Future Trends

การเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Digital Disruption คือ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ส่งผลต่อทุกคน ทั้งในแง่ชีวิตประจำวัน การทำงาน และธุรกิจ โดยได้เปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ การใช้แพลตฟอร์ม และเครื่องมือต่างๆ วิธีการเก่าๆ ถูกแทนที่ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยสร้างความสะดวกสบาย มีความแม่นยำ และรวดเร็ว

“ผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า แรงงานไทยมีทักษะด้านดิจิทัล 55% ซึ่งหมายความว่า 45% ที่เหลือยังขาดทักษะนี้”

นอกจากนี้ แนวโน้มของตลาดแรงงานผู้สูงอายุก็มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ​องค์กรต่างๆ จึงจำเป็นต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล และนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อให้สามารถก้าวทันบริษัทคู่แข่งและเป็นผู้นำในตลาด โดยกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรขับเคลื่อนสู่เป้าหมายคือ “บุคลากร” โดยเฉพาะพนักงานระดับอาวุโสและพนักงานระดับหัวหน้า

ดังนั้น การฝึกฝนให้บุคลากรที่มีอยู่ ให้มีความรู้และทักษะด้าน Soft skills, Hard skills และดิจิทัลที่เหมาะสมจึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เพราะพวกเขาจะสามารถนำทักษะเหล่านี้ มาต่อยอดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้

เวลาเปลี่ยนไป ทักษะต้องเปลี่ยนตาม

ภาพรวมของโลกธุรกิจยุคดิจิทัลที่เปลี่ยนไปจากเดิม ทุกองค์กรต้องเร่งปรับตัวและสร้างสิ่งใหม่ๆ

“วันนี้ องค์กรต้องการพนักงานที่มี Mindset ที่เปิดรับสิ่งใหม่และปรับตัวได้รวดเร็ว ทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที การทำงานอาจไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามแผนระยะยาวที่วางไว้ทุกขั้นตอน แต่จะหันมาใช้แผนระยะสั้นที่เปิดโอกาสให้คนได้ทดลอง เพื่อดูว่าใช้ได้ผลหรือไม่ จากนั้นจึงนำมาปรับแผนระยะต่อไป นอกจากนั้น ทุกองค์กรไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใด ต้องรู้จักใช้เทคโนโลยีในการทำงาน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้”

ข้อมูลจาก World Economic Forum เผยว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า ทักษะเดิมของคนทำงานที่มีอยู่ในวันนี้จะสามารถใช้ได้เพียง 50% ส่วนอีก 50% จะต้องเรียนรู้และสร้างใหม่ ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านดิจิทัล และทักษะสำหรับรูปแบบการทำงานยุคใหม่

ที่ผ่านมาเราได้เห็นแล้วว่า ทักษะต้องวิวัฒนาการไปตามยุค ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ในสายงานการตลาดมีพัฒนาการมาตั้งแต่การมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ มาสู่การมุ่งเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง จนมาถึงการตลาดแบบดิจิทัล และล่าสุดกำลังมุ่งไปสู่ Next Tech หรือ MarTech

“เมื่อเป็นเช่นนั้น การเรียนรู้ส่วนใหญ่จึงเกิดในที่ทำงานมากกว่าจากสถาบันการศึกษา และใครจะเป็นคนทำงานเก่งได้ ก็ต้องเป็นคนที่เรียนรู้ได้เก่ง ตามทันเทรนด์ใหม่ๆ ของโลก”

ผสานความศาสตร์ต่างๆ เข้าด้วยกัน

“โลกการทำงานวันนี้ คำว่า Job Description หรือขอบเขตการทำงาน จะไม่มีอีกต่อไป จะมีแต่คำว่า Job to be done หรืองานตรงหน้าที่ต้องทำให้สำเร็จลุล่วง”

เพราะการเปลี่ยนแปลงขอบเขตการทำงานเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เราต้องยืดหยุ่น ทดลองทำสิ่งใหม่เสมอ เพื่อพัฒนาให้เป็นคนที่มีทักษะหลากหลาย รู้กว้าง รู้รอบ รวมถึงสามารถผสมผสานศาสตร์และความเชี่ยวชาญที่แตกต่างเข้าด้วยกัน

ทีมเล็กลง แต่แข็งแกร่งมากขึ้น

วิถีการบริหารองค์กร ซึ่งแต่เดิมเป็นแบบรวมศูนย์ จะกลายมาแบ่งเป็นยูนิตการทำงานเล็กๆ ที่มีอำนาจตัดสินใจด้วยตัวเอง การทำงานในโปรเจกต์ต่างๆ จะเป็นการรวมเอาคนจากความเชี่ยวชาญที่แตกต่างหลากหลายมาทำงานร่วมกัน อีกทั้ง ยังต้องสามารถทำงานร่วมกับส่วนงาน Outsource ในลักษณะของเพื่อนร่วมงาน คู่คิดที่ร่วมประสานพลังกัน ไม่ใช่ในฐานะผู้รับจ้างอย่างที่ผ่านมา

ในส่วนมุมมองของคนทำงานเอง คนเก่งในยุคใหม่จะมีความเชื่อมั่นว่า ตนเองมีทางเลือกมากมาย การให้คุณค่าและความคาดหวังต่อองค์กร จึงแตกต่างไปจากคนทำงานในอดีตมาก

ผลสำรวจของ Boston Consulting Group เผยว่า คนทำงานในสายเทคโนโลยีถึง 73% ล้วนมีแผนหางานใหม่ ไม่ได้มองเงินเดือนผลตอบแทนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด แต่สนใจในโอกาสการเรียนรู้และเติบโต บรรยากาศในบริษัทที่ให้ความสำคัญกับคนทำงาน และมี Ecosystem ที่เอื้อต่อการเรียนรู้พัฒนาจากคนเก่งๆ ในองค์กร นอกเหนือไปจากการเทรนนิ่งทั่วไป บริษัทต่างๆ จึงจำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญกับแนวทางเพื่อรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรได้นาน

เรียนรู้ทักษะแห่งอนาคต

ทั้งนี้ McKinsey & Company ได้เผย 4 หมวด ทักษะสำคัญเพื่อเป็นแนวทางในการวางกลยุทธ์ในการอัพสกิลคนทำงานในยุคอนาคต ดังต่อไปนี้

กลุ่มทักษะทางด้านความคิด ประกอบด้วย การคิดวิเคราะห์ การสื่อสาร การวางแผนการทำงาน และความยืดหยุ่นทางความคิด

กลุ่มทักษะความเป็นผู้นำ ประกอบด้วย การตระหนักรู้ในตนเอง รู้จักจัดการตนเอง ความเป็นผู้ประกอบการ และการบรรลุเป้าหมาย

กลุ่มทักษะด้านมนุษย์สัมพันธ์ ประกอบด้วย การสร้างแรงกระตุ้น การพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้อื่น และการทำงานเป็นทีม

กลุ่มทักษะด้านดิจิทัล ประกอบด้วย ความรอบรู้ในด้านดิจิทัล การใช้และการพัฒนาซอฟต์แวร์ และความเข้าใจในระบบดิจิทัลต่าง ๆ

เปลี่ยนผ่านสู่ Digital Transformation

ความท้าทายขององค์กรนับจากนี้ไปคือ

“ผู้นำจะต้องลุกขึ้นมาทำหน้าที่ ไม่เพียงปิดช่องว่างทางทักษะ แต่ยังต้องเสริมสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้น เสริมสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู่ต่อเนื่อง และส่งเสริมให้พนักงานเข้าถึงเครื่องมือและทรัพยากรต่างๆ เพื่อการพัฒนาตนเองได้”

ในการเปลี่ยนผ่านสู่ Digital Transformation เรื่องที่ต้องทำเป็นอันดับแรก คือ ทุกองค์กรต้องสร้างความเข้าใจให้พนักงานเห็นภาพก่อนว่า องค์กรในยุคดิจิทัลเป็นอย่างไร เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา คือ องค์กรต่างๆ ทั่วโลกต่างเข้าใจผิด ว่าการทำ Digital Transformation คือ การตั้งหน่วยงานด้านเทคโนโลยีเท่านั้น แต่จริงแล้วไม่ใช่ เพราะ Digital Transformation เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับคนทั้งองค์กร ไม่ใช่สิ่งที่เราจะเลือกทำหรือไม่ทำ แต่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไร ถ้ายังอยากอยู่รอดและเติบโตต่อไปในยุคดิจิทัล

องค์กรส่วนใหญ่ต่างรู้ตัวดีว่า มีช่องว่างทางทักษะในระหว่างพนักงาน หลายองค์กรได้เริ่มดำเนินการทั้งรีสกิล และอัพสกิลพนักงาน เพื่อปิดช่องว่างนี้ และปัจจัยสำคัญที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จในการปฏิวัติดิจิทัลคือ การเสริมและผสมผสานทั้ง Hard Skills และ Soft Skills ของพนักงานแต่ละคนในองค์กร

ตัวอย่าง

ถ้าดูกรณีศึกษาจากองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการทำ Digital Transformation จะเห็นว่า บริษัทเหล่านี้ตีโจทย์แตกชัดเจนตั้งแต่แรก ถึงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องพัฒนาความสามารถด้านดิจิทัลขึ้นมา เช่น Bayer รู้เป้าหมายชัดเจนว่า เพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าให้มากที่สุด ยกระดับพนักงานเพื่อรับมือธุรกิจที่เปลี่ยนไปในอนาคต และสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความเป็นนักพัฒนาธุรกิจดิจิทัลภายในองค์กร (Digital Intrapreneur) โดยการใช้สูตร 5X5 ซึ่งเป็นการคัดเลือกพนักงาน 5 คน จาก 5 แผนกต่างสายงาน ต่างความเชี่ยวชาญ มาทำงานร่วมกันในการคิดโปรเจกต์ใหม่ๆ

ขณะที่ Nissan ตั้งความมุ่งหมายชัดเจนแต่แรกว่า ต้องการเข้าให้ใกล้ชิดลูกค้ามากที่สุดและสร้างยอดขายให้เติบโต ฉะนั้น ทุกคนในองค์กร ไม่ว่าจะทำงานอะไร ต้องใช้ Data ให้เป็นประโยชน์ได้ การวางแผนเพื่อเดินหน้าสู่อนาคตในทุกเรื่องจะพูดคุยกัน โดยอ้างอิงจาก Data ที่ทุกคนเข้าถึงได้เท่านั้น ไม่ใช้ความคิดเห็นส่วนตัวหรือประสบการณ์ส่วนตัว ซึ่งผลจากการปฏิวัติองค์กรขนานใหญ่ครั้งนี้ ทำให้โลกกำลังจับตามองว่า Nissan อาจมีโอกาสแซงหน้าแชมป์เก่าในวงการรถยนต์ได้เลยทีเดียว

บทสรุป

สุดท้ายขอเน้นย้ำว่า หากเป็นองค์กรใหญ่หลักการแรกที่องค์กรจะต้องริเริ่ม คือ

ขั้นที่ 1. Understand

ต้องดูว่าคนในองค์กรเข้าใจตรงกันหรือยังว่า Digital Transformation ทำไปเพื่อตอบโจทย์ Digital Age และหน้าตาของ Digital Age เป็นอย่างไร

ขั้นที่ 2. Promote Opportunities

Leader ต้องเข้าใจว่า Digital Age และ Digital Transformation คืออะไร

ขั้นที่ 3. Rethink

หากเป็นองค์กรใหญ่อาจจะเลือกกลุ่ม Talent ให้เป็น Early Adopter ในการปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลก่อน หลังจากนั้น ถึงค่อยมา Rethink ว่า เราจะสร้างคนยังไง หรือต้องเพิ่มเติม Hard skill และSoft Skill ด้านไหนบ้าง

ฉะนั้น “สำหรับการเข้าสู่ยุค Digital Age นั้น ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด และอาจจะเป็นทางรุ่งสำหรับองค์กรที่สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว”