LOADING

Type to search

“โควิดระลอกนี้ SMEs เหมือนคนจมน้ำตายไปแล้ว” ว่าด้วยภาวะล้มหายตายจากของ SMEs ไทยกับ ‘หนุ่มเมืองจันท์’

“โควิดระลอกนี้ SMEs เหมือนคนจมน้ำตายไปแล้ว”  ว่าด้วยภาวะล้มหายตายจากของ SMEs ไทยกับ ‘หนุ่มเมืองจันท์’
Share

เขียนและสัมภาษณ์โดย Piraporn Witoorut

ธุรกิจขนาดกลาง และขนาดเล็ก หรือ ‘SMEs’ กลายเป็นด่านปราการแรกที่ต้องเจอกับความระส่ำ และเอาแน่เอานอนไม่ได้ เมื่อวิกฤตโรคระบาดเดินทางมาถึงจุดที่ประเทศต้องกลับสู่การล็อกดาวน์อีกครั้ง กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงักอย่างไม่มีกำหนดเช่นนี้ นับเป็นครั้งที่สามแล้วที่ SMEs ต้องเผชิญไปโดยที่ไม่รู้เลยว่า จุดสิ้นสุดจะหยุดที่ตรงไหน กระแสเงินสดที่ไม่ได้ถูกลำเลียงด้วยสายป่านที่ยาวมาก ทำให้มีการคาดการณ์กันว่า จากการแพร่ระบาดระลอกที่สามนี้ อาจมี SMEs ที่ต้องล้มหายตายจากไปมากพอสมควร อาจจะมากในระดับที่สะเทือนเศรษฐกิจระดับมหภาคเลยก็ได้

เมื่อช่วงกลางปีที่แล้วในเดือนเดียวกันนี้ (เดือนพฤษภาคม) Future Trends ไปคุยกับสรกล อดุลยานนท์ หรือ ‘หนุ่มเมืองจันท์’ ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกแรก และในวาระที่เราเคยพูดคุยกับ ‘พี่ตุ้ม’ ครบรอบ 1 ปีพอดี ประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่เกิดการแพร่ระบาดอีกครั้ง เราเลยชวยนักเขียนคนดังมาพูดคุย วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงอนาคตของโควิดในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของธุรกิจ SMEs ที่เป็นฐานรากเศรษฐกิจของไทย ซึ่งสรกลบอกกับเราว่า ครั้งนี้โหดร้ายและอาจจะไม่มีบุญเก่าให้เก็บกินเหมือนกับรอบแรกแล้ว

สรกล อดุลยานนท์ หรือ ‘หนุ่มเมืองจันท์’

จากระลอกแรกมาถึงครั้งนี้ ในรอบปีที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง

ระลอกสามโหดร้ายมาก โดยเฉพาะกับร้านอาหาร ปีที่แล้วมีเดลิเวอรีที่ยังเป็นเรื่องใหม่เข้ามาช่วยก็ทำให้ขายได้พอสมควร ร้านค้าออกกลยุทธ์ในการขาย มีแคมเปญต่างๆ อย่างเช่นชาบูแถมหม้อ เป็นต้น ทำให้เขาสามารถประคองตัวได้อยู่ แต่ที่เจ็บหนักสุดคือระลอกสอง ช่วงปีใหม่ ร้านอาหารบางร้านถึงขนาดขายทองมาซื้อสต็อคอาหาร เพราะหวังว่าจะกลับมาขายเป็นปกติได้อีกครั้ง แต่พอมันเกิดเหตุกระทันหันที่ไม่ทันได้ตั้งตัว บุญเก่าจากระลอกแรกก็เริ่มหมด

พอมาระลอกสามที่แม้จะมีการประกาศล่วงหน้าพอสมควร แต่โหดร้ายที่สุด ถ้าไปดูระลอกนี้จะเห็นว่า ห้างสรรพสินค้าเงียบเหงามาก บางห้างปิดตัวเองชั่วคราวไปเองเลย เช่น ยูเนี่ยนมอลล์ อันนี้ชัดเจนมาก เพราะปกติห้างจะไม่มีทางปิด เขาอยากให้รัฐบาลล็อกดาวน์ด้วยซ้ำ จะได้เงินค่าชดเชย ห้างก็จะยังยื้อไปเรื่อยๆ ก็ได้ แต่ที่เขายอมปิดเองนี่แปลว่า ไม่ใช่เรื่องเล็กแล้ว ครั้งนี้รัฐบาลไม่ยอมล็อก เลี่ยงด้วยการแต่งคำ ใช้คำใหม่ๆ จะได้ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย ผมเชื่อว่า ครั้งนี้ ​SMEs ไม่ไหวแน่ NPL (หนี้เสีย) ไตรมาสที่สามน่าจะหนัก

ผมถามไรเดอร์ส่งอาหารบ่อยๆ ว่า ช่วงนี้เป็นไงบ้าง เขาบอกว่า น้อยลงกว่าเดิมเยอะ แปลว่า มันไม่แปลกใหม่แล้ว กับอีกอย่างคือคนไม่มีกำลังซื้อ หลายคนทำกับข้าวกินเอง ประหยัดด้วย ตรงนี้เป็นสัญญาณอันตรายของเศรษฐกิจมาก

แปลว่าตอนนี้สถานการณ์ของ SMEs น่าเป็นห่วงที่สุดแล้ว

ตอนนี้มันไม่ไหวแล้ว เป็นสถานการณ์ที่เกินความคาดหมาย ส่วนใหญ่เวลาทำธุรกิจ คนทำธุรกิจเขาจะมีเงินสำรอง แต่ใครจะไปคิดว่า ครั้งนี้จะเล่นเป็นปีกว่าขนาดนี้ ซึ่งสถานกาณ์แบบนี้มันเปราะบางมากจริงๆ อย่างเพนกวิน อีท ชาบู รอบที่จะไม่ไหวนี้คือก่อนที่เขาจะขายทุเรียน พอพลิกมาขายทุเรียนก็เป็นกลยุทธ์ที่เจ๋งมาก คือเขาไม่สนใจว่าตัวเองทำอะไรอยู่ สนใจเพียงน่านน้ำที่ยังมีอาหาร แล้วคุณก็พลิกเกมเป็นทุเรียน จบเลย 

แต่บทเรียนที่รัฐต้องทบทวน คือเมื่อคุณจะคิดจะสั่งปิดวันนี้ การล็อกดาวน์ที่ไม่เรียกว่า ล็อกดาวน์เนี่ย คุณต้องคิดมาตรการเยียวยาออกมา ไม่ใช่ปล่อยให้เรื่องมันดำเนินไป ให้ทุกคนพยายามหายใจฝืนกันมา มาตรการรัฐกว่าจะออกมาอีกตั้งนาน เรื่องนี้เวลาสำคัญที่สุด วันที่คุณจะล็อกดาวน์คุณรู้อยู่แล้ว ทำไมถึงไม่ออกมาประกาศทันที อย่างน้อยที่สุด คนที่ขาดลมหายใจจะได้มีออกซิเจนช่วย หัวใจสำคัญ คือเขาไม่เข้าใจเรื่องเวลา ความเร็วเป็นเรื่องสำคัญ เหมือนวัคซีนที่เขาไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องเวลา ปล่อยไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่ได้คิดถึงผลกระทบ

แยกย่อยลงไปใน SMEs อีก ทำไมร้านอาหารจึงด่วนมากที่สุด

นึกถึงโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่เริ่มต้นฟื้นฟูจากธุรกิจร้านอาหารก่อน  เพราะร้านอาหารมีคนทำงานเยอะ ประชากรคนทำงานที่อยู่ในธุกิจนี้มีเยอะมาก ไบเดน เลยเริ่มจากตรงนี้ ในความหมายเดียวกัน ถ้าธุรกิจที่เป็นรากฐานสั่นสะเทือน ในภาพใหญ่มันสะเทือนมากแน่นอน ทั้งตัวเลขคนว่างงาน หนี้เสีย คนจ้างงานกลายเป็นคนไม่มีอาชีพ ตกอยู่ในสภานการณ์ที่กลายเป็นแรงงานแทน มันเกิดความสูญเสียเยอะ คนจ้างงาน หมายถึง หนึ่งคนจ้างได้ 20, 50 หรือ 100 คน แต่ถ้าเจ้าของธุรกิจต้องปิดกิจการกลายมาเป็นแรงงาน หรือคนที่เคยเป็นแรงงานก็ไม่ไ่ด้เป็นเพราะธุรกิจเจ๊ง มันหมายถึงแรงงานที่ไม่มีงานก็จะเยอะขึ้นมาก นี่ืคือโจทย์ใหญ่ที่สำคัญ

แต่ในความโชคร้ายก็มีโชคดีอยู่คือเรื่องวัคซีน ถ้าปลายปีเราฉีดให้ครบ 70% ต้นปีจะมีแสงสว่างรออยู่ แต่ในขณะเดียวกัน ปัญหาคือ หกเดือนที่ผ่านมามันไม่ทันแล้ว มีหลายคนจมน้ำตายไปแล้ว

อย่างเรื่องวัคซีนที่มีเปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงเรื่องอาการแพ้สูง คุณมองเรื่องนี้ยังไง

ผมมองเรื่องวัคซีนแยกเป็นสองประเด็น เรื่องความเสี่ยงก่อน ผมไม่เห็นด้วยที่มีวัคซีนสองชนิด ควรมีชอยส์ที่ดีกว่านี้ แต่ภายใต้สองชอยส์ มันก็มีข้อมูลที่พอบอกได้ว่า ไม่ว่าจะการแพ้หรือเสียชีวิตมันเกิดในอัตราที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับโอกาสที่เราจะติดโควิด-19  ความเสี่ยงสองอันนี้ต่างกัน ระลอกนี้ เรามีคนรู้จักติดโควิด-19 เยอะมาก ใกล้ตัวมาก ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมากถ้าเทียบกับอัตราการฉีดวัคซีน คนกลัวเรื่องแพ้เยอะ ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องธรรมดาของข่าวสาร ถ้าคนหนึ่งแสนคน มีปัญหา 10-20 คน เราโฟกัสตรงนั้นอยู่แล้ว คนที่ไม่เป็นอะไรเลยก็เป็นข่าวยาก แต่ถ้าเอาตัวเลขไปจับ ความเสี่ยงติดโควิด-19 มากกว่าความเสี่ยงที่จะแพ้เยอะเลย

เวลามันมีราคาจริงๆ ถ้าจะรอยี่ห้ออื่นอย่างไฟเซอร์ (Pfizer) คุณจะมั่นใจได้ไงว่า คุณจะปลอดภัยระหว่างนี้ ผมรู้สึกว่า โรคโควิด-19 น่าเศร้ามาก ถ้าคุณเป็นหรือคนที่เรารักเป็น คุณไม่มีสิทธิ์ได้เจอเขาเลย ตอนเราป่วยเราก็ต้องการให้คนที่เรารักมากอด มาหอม แสดงความรัก มันมีความหมายกับคนป่วยมาก แต่ ในตอนที่คุณหรือคนในครอบครัวบังเอิญป่วย คุณเสี่ยงสองอย่างเลย คือระหว่างที่ป่วยเราจะไม่ได้เจอหรือสัมผัสเลย เช่นดียวกัน ถ้าเขาไม่หาย แม้แต่วันสุดท้ายก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะเห็นหน้า งานศพแม้แต่วันเดียวก็ไม่มี นอกจากความเสี่ยงแล้ว ความร้ายแรงในทางความรู้สึกมันร้ายแรงมาก

จากระลอกแรกที่มีกระแสอยากไปเที่ยวหลังโควิด-19  แต่รอบนี้ บางคนถึงกับบอกว่า มีชีวิตรอดก็ดีแล้ว คุณมองว่า ภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ยากขึ้นหรือไม่ เมื่อเทียบเสถียรภาพทางการเงินของคนไทย

ผมว่าท่องเที่ยวไทยพึ่งพารายได้จากต่างชาติเยอะกว่า ที่ผ่านมา ในประเทศก็เที่ยวได้ประมาณนี้ ไม่ได้เยอะเท่าไร ถ้าฉีดวัคซีนครบเมื่อไหร่ สำคัญที่สุดคือ เต้องเปิดประเทศให้ได้ เปิดได้เมื่อไหร่นักท่องเที่ยวน่าจะมาเยอะ มีความเป็นไปได้ว่า ยุโรปจะมาไทยเยอะมาก เพราะเศรษฐกิจเขาไม่ค่อยสะเทือน รัฐบาลเขาเยียวยาดีมาก เงินเก็บเต็มมือ

หรือสุดท้าย ท่องเที่ยวอาจจะไม่ฟื้น 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาตายไปเยอะเหมือนกัน สมมติเรามีซัพพลายอยู่ร้อยเจ้า ตอนนี้อาจจะเหลือแค่ 70 เปอร์เซ็นต์ แล้วเมื่อเทียบกับสัดส่วนนักท่องเที่ยวที่มาเพียง 70 เปอร์เซ็นต์ เทียบเคียงกับซัพพลายที่เรามีอยู่ก็เพียงพอแล้ว หรือถ้าเปิดประเทศจริง แล้วนักท่องเที่ยวมาสัก 50 เปอร์เซ็นต์ ก็ทำให้เครื่องจักรทางเศรษฐกิจอย่างภาคการท่องเที่ยวเริ่มทำงานได้ แต่ปัญหา คือ พอเราพึ่งพาเยอะ พวกนี้กระจายไปตามชุมชนเต็มไปหมด นั่นหมายความว่า ชุมชนเองก็พึ่งพาท่องเที่ยวเยอะมาก มันจึงสะเทือนเศรษฐกิจระดับฐานรากมากพอสมควร

แต่ต่างประเทศเขาไม่เหมือนเรา พอเกิดวิกฤตแบบนี้ไม่ได้สะเทือนเท่ากับคนไทย เขายังมีเงินเก็บกันอยู่ ถ้าเป็นคนไทยก็จะเป็นระดับบนหน่อยที่ไม่สะเทือนมาก ระดับบนนี่เชื่อเถอะว่า ญี่ปุ่นเปิดเมื่อไหร่ คนไปเที่ยวถล่มทลายแน่

อย่างนี้รอยถากระหว่างชนชั้นของไทยก็น่าจะขยายใหญ่ขึ้นอีก

แน่นอนครับ ที่เห็นชัดก็น่าจะเป็นกลุ่ม SMEs เขาบอกว่า เวลาเกิดวิกฤตแบบนี้ ธุรกิจ  SMEs จะมี ‘แบ็ค’ หรือนักธุรกิจใหญ่ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ 1-2 เปอร์เซ็นต์เยอะเลย มีคนบอกว่า แค่ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งก็คุ้มแล้วยุคนี้ มันเลยทำให้ทรัพย์สินดีๆ ไปอยู่ในมือคนรวยมากขึ้น พอคนข้างล่างล้มตายไป รายใหญ่ก็ขยายตัวได้มากขึ้นอีก เหมือนกับทุกครั้งที่เกิดสงครามโลก เราจะมีเศรษฐีเกิดขึ้นเสมอ แต่จะเป็นเศรษฐีเก่าที่ใหญ่กว่าเดิม ความเหลื่อมล้ำที่มีมันจะสะท้อนให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น

จากข่าวล่าสุดที่รัฐบาลอาจจะมีการออกพ.ร.บ.เงินกู้เพิ่มเติมอีก ตอนนี้ เพดานการก่อหนี้สาธารณะตามกรอบวินัยการเงินการคลังต่อ GDP ยังสามารถทำได้อยู่ไหม

เท่าที่ฟังจากนักการเงินมา กรอบการกู้เงินยังทำได้อยู่ ถามว่ายังมีความจำเป็นไหมที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีนี้ ผมว่าเครื่องจักรของเราตอนนี้เหลืออย่างเดียว คือเงินกระตุ้นของรัฐบาล ในภาวะแบบนี้ยังไงก็ยังต้องกู้ แต่ที่คนหงุดหงิดเยอะก็คือ วิธีการใช้ทรัพยากรของรัฐ

เงินมีจำกัด ต้องฉีดแล้วหมุนให้มีประสิทธิภาพ มาตรการที่ผ่านมา ‘คนละครึ่ง’ เวิร์กสุดในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่มันเป็นการไปกระตุ้นการบริโภคเฉยๆ ไม่ได้ทำให้เกิดการจ้างงาน การประคองเจ้าของธุรกิจสำคัญมาก ประคองหนึ่งองค์กร หนึ่งบริษัท หมายถึงคนไม่ต้องตกงานอีกหลายสิบ หลายร้อยคน แต่ถ้าบริษัทเจ๊งเมื่อไหร่ มันจะกลายเป็นภาระของรัฐทันที ต้องทำให้เขาไม่ตาย ให้เขารอดให้ได้ SMEs ต้องเข้าถึงแหล่งงานให้สะดวกที่สุด  และรัฐต้องประกันความเสี่ยงเยอะขึ้น

SMEs ต้องเตรียมความพร้อม รับมือกับสถานการณ์ในอนาคตอย่างไรบ้าง

ผมว่า ต้องตัดสินใจแล้ว ที่จะหวังไปเรื่อยๆ คงไม่ได้ ผมเคยคุยกับคุณเศรษฐา ทวีสินว่า ธงของธุรกิจตอนนี้คืออะไร เขาบอกว่า ธงคือการฉีดวัคซีน 70 เปอร์เซ็นต์ภายในสิ้นปีนี้

ฉะนั้น เวลาทำอะไรต้องมีธงไปให้ถึงจุดนั้น ผมให้สักต้นปีหน้า เดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ วางธงเกินไปให้ถึง แล้วถ้าคุณไม่สามารถอดทนรอถึงวันนั้นได้ มันไม่ไหวแล้ว เราต้องกล้าตัดสินใจหยุด เดือนกุมภาพันธ์น่าจะเป็นจุดตัดสำคัญที่สุด แต่กว่าจะอึดไปถึงจุดนั้นก็น่าจะสาหัสพอสมควร

ผมยกตัวอย่างไอเดียของร้านเพนกวิน อีท ชาบู ที่ชอบมากๆ คืออย่าไปยึดติดกับมัน ถ้าคุณทำร้านอาหาร แล้วต้องปิดโดยไม่รู้ว่าจะยาวไปถึงเมื่อไหร่ ยอดจำนวนผู้เชื้อก็ยังเยอะอยู่ ด้วยทรัพยากรที่ีมี ความรู้ที่มี คอนเนคชันที่มี ความเชี่ยวชาญ แรงงานทั้งหมด เราทำอะไรได้บ้าง ที่ไม่ต้องผูกติดว่าเป็นสิ่งที่เคยทำมาก่อน การพลิกเกมจากร้านอาหารมาขายทุเรียนคือจบเลย SMEs อาจจะต้องไปหาตรงนั้นให้เจอ แต่สำหรับคนที่หายใจรวยรินแนวคิดนี้อาจจะไม่ได้ช่วยเยอะ ถ้ามีความหวังอยู่บ้างก็คือวัคซีน พยายามตัดลดต้นทุนไปถึงสักเดือนกุมภาพันธ์ ก็อาจจะให้ความหวังกันได้

Tags::

You Might also Like