“ผู้คนอยากมีสุขภาพที่ดีขึ้น พวกเขาจึงมองหาทางลัดที่ง่ายที่สุด” รู้จัก Sleepmaxxing เทรนด์ใหม่ของคนอยากนอนเต็มอิ่ม แต่จะได้ผลจริงหรือแค่ตามกระแส?

ถามหน่อยสิ ครั้งสุดท้ายที่ผู้อ่านได้ ‘นอนหลับ’ ฟื้นพลังจนเต็มอิ่มคือเมื่อไหร่? พอจะนึกถึงวันนั้นกันออกไหมนะ
ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหากเราจะนึกถึงวันนั้นๆ ไม่ค่อยได้ เพราะบนโลกที่หมุนเปลี่ยนไปด้วยเทคโนโลยีและเทรนด์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วนั้น ทำให้เราต้องคอยติดตามและอัปเดตสิ่งต่างๆ อยู่เสมอเพื่อนำมาปรับใช้กับการทำงานและการใช้ชีวิต จนบางครั้ง สิ่งเหล่านี้ก็กินเวลาพักผ่อนของเราไปไม่น้อยเหมือนกัน
ในช่วงเดือนที่ผ่านมา หากเราเป็นคนที่ชอบติดตามเทรนด์แล้วนั้น เชื่อว่าต้องเคยเห็นเทรนด์เกี่ยวกับการนอนหลับอย่าง ‘Sleepmaxxing’ กับการทำทุกกิจกรรมที่จะช่วยให้เราสามารถนอนหลับได้ดีขึ้น ลึกขึ้น และตื่นมาอย่างสดชื่น ไม่ว่าจะเป็นการกินกีวีก่อนนอน ใช้ปลั๊กขยายรูจมูก หรือแม้กระทั่งการปิดปากด้วยเทปก่อนเข้านอน!
จะว่าแปลกก็แปลก จะบอกว่าเป็นไปได้จริงไหม ก็ดันดูเป็นไปได้จริงอีก วันนี้ Future Trends จะพาทุกคนไปเจาะลึกกันว่าทำไม ‘Sleepmaxxing’ ถึงได้ฮิตขึ้นมา และที่สำคัญที่สุด การทำตามนั้นได้ผลจริง หรือเป็นแค่กระแสชั่วคราว?
[ Sleepmaxxing คืออะไร และทำไมถึงได้รับความนิยม? ]
Sleepmaxxing เป็นคำที่ใช้เรียกทุกเทคนิคที่ช่วยให้เราหลับดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวิธีทางธรรมชาติ หรือการใช้เทคโนโลยีเสริมต่างๆ โดยชื่อนี้ได้รับแรงบันดาลใจจาก ‘Looksmaxxing’ ที่หมายถึงเทรนด์ที่เน้นการปรับลุคให้ดูดีที่สุด ซึ่ง Sleepmaxxing ก็ทำหน้าที่คล้ายกัน เพียงแต่มีเป้าหมายคือการ ‘เพิ่มประสิทธิภาพ’ ในการนอนแทน
ดร. Clete A. Kushida ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาและการนอนหลับจาก Stanford Health Care อธิบายว่า เทรนด์นี้กำลังเป็นที่นิยมเนื่องจากผู้คนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการนอนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีอุปกรณ์ติดตามสุขภาพที่สามารถบอกคุณภาพการนอนได้แบบเรียลไทม์
“คนอยากมีสุขภาพดีขึ้น หรือบางคนมีปัญหาการนอนอยู่แล้ว พวกเขาจึงมองหา ‘ทางลัด’ ที่ง่ายที่สุด” – Clete A. Kushida
[ เทคนิค Sleepmaxxing ที่ได้ผลจริง (และที่ควรระวัง!) ]
เทคนิคที่มีหลักฐานสนับสนุนว่าได้ผล
– กินกีวีก่อนนอน
งานวิจัยชี้ว่ากีวีช่วยเพิ่มเซโรโทนินและเมลาโทนินในร่างกาย ซึ่งช่วยให้หลับลึกขึ้น
– ใส่แว่นกรองแสงสีฟ้า
ช่วยปรับนาฬิกาชีวิตให้เป็นปกติ ลดผลกระทบจากแสงหน้าจอที่รบกวนการหลั่งเมลาโทนิน
– ฝึกการหายใจและสมาธิ
เทคนิคเช่นการฝึกหายใจลึกๆ และการทำสมาธิช่วยลดความเครียด ทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น
เทคนิคที่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน
– การเสริมแมกนีเซียม
แม้ว่าจะมีบางงานวิจัยสนับสนุน แต่ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าช่วยให้หลับลึกขึ้นได้จริง
– ใช้เสียงไวท์นอยส์
มีงานวิจัยทั้งที่บอกว่าช่วยและไม่ช่วย อาจจะต้องลองด้วยตัวเองว่ามีผลต่อการนอนของเราหรือไม่
เทคนิคที่อาจเป็นอันตราย
– ปิดปากด้วยเทปขณะนอน
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่ามีความเสี่ยงต่อการหายใจติดขัด และอาจทำให้เกิดปัญหาปอดอักเสบจากการสำลักน้ำลายหรือกรดไหลย้อน
อย่างไรก็ตาม แม้ Sleepmaxxing จะเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจ แต่การนอนหลับที่มีคุณภาพยังคงขึ้นอยู่กับ ‘Sleep Hygiene’ หรือสุขอนามัยการนอนที่ดี เช่น
– ปรับอุณหภูมิห้องให้อยู่ที่ 15-20°C เพื่อให้ร่างกายเข้าสู่โหมดพักผ่อนได้ง่ายขึ้น
– ลดการใช้หน้าจอก่อนนอน เพื่อให้ร่างกายหลั่งเมลาโทนินตามธรรมชาติ
– นอนให้เป็นเวลา และตื่นในช่วงเวลาเดียวกันทุกวัน แม้ในวันหยุด
หากผู้อ่านกำลังประสบปัญหาการนอนเรื้อรัง อย่าเพิ่งรีบใช้อุปกรณ์หรือวิธีที่ยังไม่มีการรับรองจากแพทย์ ให้ลองปรับพฤติกรรมด้วยตัวเองดูก่อน และหากยังไม่ดีขึ้น การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือแพทย์อาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าการพึ่งพาเทรนด์จาก TikTok
ท้ายที่สุด การคิดมากเรื่อง ‘ต้องนอนให้ดี’ อาจทำให้เราหลับยากยิ่งกว่าเดิม ดังนั้น อย่าหมกมุ่นกับการนอนมากเกินไป เพราะบางที คนที่นอนดีที่สุด ก็คือคนที่ ‘คิดเรื่องการนอนน้อยที่สุด’ นั่นเอง! 😴
เขียนโดย ชนัญชิดา พลอยพลาย
#FutureTrends #FutureTrendsetter #FutureTrendsWorkAndLife
Source:
Sleepmaxxing is the newest wellness trend—but does it actually work?
https://www.nationalgeographic.com/science/article/does-sleepmaxxing-work