LOADING

Type to search

‘ยุคทองของวิดีโอสั้น’ ครีเอเตอร์จะไปต่ออย่างไร ในเทรนด์โซเชียลมีเดีย 2023

‘ยุคทองของวิดีโอสั้น’ ครีเอเตอร์จะไปต่ออย่างไร ในเทรนด์โซเชียลมีเดีย 2023
Share

การมาของคอนเทนต์วิดีโอสั้นทำให้ทิศทางของโซเชียลมีเดียเปลี่ยนไป ส่งผลให้ครีเอเตอร์หน้าใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก รวมถึงหน้าที่ของโซเชียลมีเดียเอง จากอดีตคนใช้เพื่อเชื่อมโยงกับผู้อื่น กลายเป็นการใช้เพื่อเสพสื่อเป็นหลัก ทำให้การแข่งขันของเหล่านักสร้างคอนเทนต์ยิ่งร้อนแรงมากขึ้น

จากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันไทยมีจำนวนผู้ใช้โซเชียลมีเดียกว่า 54 ล้านบัญชี คิดเป็น 77.1 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรทั้งประเทศ โดยมีสถิติการใช้โซเชียลมีเดียเฉลี่ย 2 ชั่วโมง 43 นาทีต่อวัน ลดลงจาก 2 ชั่วโมง 48 นาทีต่อวัน ในเดือน ม.ค. ปี 2021

ข้อมูลยังพบว่า Engagement ในทุกแพลตฟอร์มมีสัดส่วนลดลง 12.8 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากมีสิ่งอื่นมาแย่งความสนใจ เช่น สตรีมมิ่ง พอตแคส ซึ่งการแย่งชิงเวลาจากผู้บริโภคมีแนวโน้มยากขึ้น โดยเฉพาะคนทำสื่อบนโซเชียลมีเดีย

ข้อมูลยังพบว่า Youtube และ Facebook มีผู้ใช้มากที่สุด รองมาคือ Line และ TikTok ซึ่งแซง Instagram และ Twitter ขณะที่ระยะเวลาที่คนอยู่บนแพลตฟอร์ม Facebook สูงสุด ประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาทีต่อวัน รองมา คือ Youtube และ TikTok ที่ใกล้เคียงกันมาก ประมาณ 1 ชั่วโมงต่อวัน

การแข่งขันของเหล่าครีเอเตอร์ดุเดือดขึ้น

พุทธศักดิ์ ตันติสุทธิเวท รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยข้อมูลผลิตภัณฑ์ จากบริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า อนาคตการแข่งขันบนโซเชียลมีเดียต่อไป จะเน้นหนักไป 2 เรื่อง คือ 1. คอนเทนต์จากเหล่าครีเอเตอร์ ที่ต้องแข่งกันสร้างเพื่อดึงดูดผู้บริโภค และ 2. แพลตฟอร์มต่างๆ ต้องแข่งขันกันพัฒนา เอไอ (Artificial intelligence: AI) ให้เสนอเนื้อหาตรงใจผู้ใช้งานมากที่สุด

การตลาดโดยใช้อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer Marketing) ยังเป็นการตลาดที่ใช้ได้ผลดี ฝ่ายการตลาดพอใจที่จะใส่งบประมาณลงไป ส่งผลให้อินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นครีเอเตอร์ก็ทำคอนเทนต์มากขึ้น

นอกจากนี้ โซเชียลมีเดียจะไม่ได้มีไว้แค่คุยกับเพื่อนเป็นหลักอย่างสมัยก่อนอีกต่อไป เพราะคนจะเข้าไปเสพสื่อจากเหล่าครีเอเตอร์มากขึ้น โดยคนจะหันไปเชื่อมต่อในพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น เช่น ระบบแชตของแพลตฟอร์ม ส่งผลให้การแข่งขันของครีเอเตอร์ดุเดือดมากขึ้นเช่นกัน

วิดีโอสั้นจะเป็นอย่างไร

ข้อมูลจาก TikTok ประเทศไทย ระบุว่า 81 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ใช้โซเชียลมีเดีย Gen Z กล่าวว่า “TikTok เป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาสร้างคอนเทนต์ หลังได้ดูวิดีโอของครีเอเตอร์”

ส่วนวัย Millennial จำนวน 3 ใน 4 มีแนวโน้มซื้อสินค้าขณะใช้งาน TikTok ซึ่งสื่อให้เห็นว่า Creator Ecosystem ของ TikTok แข็งแรงมาก โดยเฉพาะปี 2023 ทั้งมีการดึงดูดครีเอเตอร์หน้าใหม่เข้ามา ส่งผลให้คอนเทนต์มากขึ้น คนดูมากขึ้น แบรนด์ต่างๆ ก็เข้าไปลงทุนมากขึ้น ทำให้คนซื้อสินค้ามากขึ้น แบรนด์ต่างๆ ยิ่งใส่เม็ดเงินเข้าไป รวมถึงสัญญาณจาก TikTok เอง ที่เริ่มให้ความสำคัญกับด้าน อี-คอมเมิร์ซ มากขึ้น


ด้วยข้อมูลเหล่านี้ คาดว่า คอนเทนต์รูปแบบวิดีโอสั้นจะเติบโตขึ้นมาก โดยที่ผ่านมา มีการพูดถึงการข้ามแพลตฟอร์มเป็นจำนวนมาก เช่น เพจ Facebook ของสำนักข่าว ทำข่าวจากกระแสที่เกิดขึ้นจาก TikTok เป็นต้น

จากข้อมูลของ Meta พบว่า ปี 2021 คนใช้โซเชียลมีเดียเพื่อเป็นสื่อเชื่อมโยงกับผู้อื่นเป็นอันดับแรก แต่ปี 2022 คนใช้โซเชียลมีเดียเพื่อดูวิดีโอเป็นอันดับแรก ซึ่ง 47 เปอร์เซ็นต์ ดูวิดีโอที่ยาวกว่า 1 นาที ขณะที่กว่า 53 เปอร์เซ็นต์ ดูวิดีโอที่สั้นกว่า 1 นาที เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า คอนเทนต์วิดีโอสั้นกำลังมาแรง

อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้บนแพลตฟอร์มระหว่าง Youtube และ TikTok ใช้เวลาบนแพลตฟอร์มใกล้เคียงกันก็จริง แต่อย่าลืมว่า TikTok เป็นคลิปวิดีโอสั้น นั่นหมายความว่า ในเวลาเท่ากัน คนจะดูคอนเทนต์ TikTok ในจำนวนคลิปที่มากกว่า ทำให้ครีเอเตอร์บน TikTok มีแนวโน้มประสบความสำเร็จเรื่องยอดคนดูมากกว่า หรือหมายถึง “ครีเอเตอร์หน้าใหม่บน TikTok มีโอกาสเกิดง่ายกว่า”

ตอนนี้ ‘shorts’ จาก Youtube กำลังมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ หลายครีเอเตอร์มีช่องแยกจากช่องหลักไว้สำหรับเผยแพร่คอนเทนต์วิดีโอสั้นโดยเฉพาะ และปี 2023 จะเป็นเทรนด์หลัก แต่ถึงอย่างไร คอนเทนต์วิดีโอยาวยังไปต่อได้ แต่ต้องรักษาคุณภาพไว้ให้ได้

ต่างแพลตฟอร์ม ต่างหน้าที่

ข้อมูลจาก Hootsuite ระบุว่า แต่ละแพลตฟอร์มมีคนใช้งานหลักต่างความต้องการออกไป ส่งผลให้แต่ละแพลตฟอร์มมีหน้าที่ต่างกันไปอย่างชัดเจน เช่น TikTok มาเป็นอันดับหนึ่งเรื่องความบันเทิง แต่ถ้าผู้ใช้อยากได้ข้อมูลสินค้า ติดต่อเพื่อน หรือโพสต์อะไรบางอย่าง Facebook และ Instagram จะมาเป็นอันดับหนึ่ง

ด้าน Twitter เด่นเรื่องการติดตามข้อมูลข่าวสาร ดังนั้น แต่ละแพลตฟอร์มจึงมีตำแหน่งหรือตอบสนองความต้องการของคนที่แตกต่างกันไป

ส่งผลให้แต่ละแบรนด์จะกระจายไปอยู่ในหลายแพลตฟอร์ม ซึ่งเนื้อหาจะต้องมีการปรับรูปแบบหรือวิธีสื่อสารให้เหมาะสม นั่นเป็นสิ่งที่ครีเอเตอร์และฝ่ายการตลาดต้องคิดว่า จะทำคอนเทนต์กระจายลงไปแต่ละแพลตฟอร์มอย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ทั้งหมดนี้ เป็นเทรนด์โซเชียลมีเดียที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2023 สรุปจากการบรรยายโดย พุทธศักดิ์ ตันติสุทธิเวท จากบริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ในงาน Future Trends Awards 2022

สามารถชม Session: ส่องเทรนด์โซเชียลมีเดีย ปี 2023 โดย พุทธศักดิ์ ตันติสุทธิเวท Deputy Director of Data Research Product จากบริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด (Wisesight) ในงาน Future Trends Awards 2022 ได้ที่ลิงก์ : https://bit.ly/3YNJMwz

สามารถชมไลฟ์สดบรรยากาศงาน Future Trends Awards 2022 รวมทั้งผลรางวัลและสปีกเกอร์ทุก Session ได้ที่ลิงก์ : https://bit.ly/3PVrS6Z

ประมวลผลรางวัลและกิจกรรมภายในงาน ‘Future Trends Awards 2022’ สามารถชมได้ที่ลิงก์ : https://bit.ly/3VpCNXN

Tags::

You Might also Like