LOADING

Type to search

ไม่ใช่แค่วิกฤตอาหาร แต่ฝั่งเทคฯ ก็ขาดแคลนเหมือนกัน ว่าด้วยปัญหา ‘Semiconductor’ และปัญหาชิปขาดแคลน

ไม่ใช่แค่วิกฤตอาหาร แต่ฝั่งเทคฯ ก็ขาดแคลนเหมือนกัน ว่าด้วยปัญหา ‘Semiconductor’ และปัญหาชิปขาดแคลน
Share

หลังจากที่ไม่นานมานี้ Future Trends ได้พาทุกคนไปสำรวจต้นตอของวิกฤตใหญ่ระดับโลกอย่าง ‘วิกฤตอาหาร’ (Food Crisis) ที่ค่อยๆ คืบคลานเข้าใกล้ไทยขึ้นทุกที โดยที่ยังไม่มีใครระบุได้อย่างชัดเจนว่า ความรุนแรงของวิกฤตนี้ จะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน?

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ภาวะวิกฤตของโลก ก็ดูเหมือนว่า จะไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับเรื่องปากท้องอีกต่อไป เพราะฟากฝั่งเทคโนโลยีเองก็เริ่มส่อแววว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) อาจถูกตัดขาดจากการขาดแคลนปัจจัยการผลิตที่สำคัญอย่าง ‘เซมิคอนดักเตอร์’ (Semiconductor) ที่มีสาเหตุเกี่ยวโยงกับการถูกดิสรัปต์ (disrupt) ด้วยสถานการณ์โลกที่ยังคงทวีความรุนแรงอีกด้วย

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือแม้แต่เทคโนโลยีแห่งอนาคตอย่างรถยนต์ไฟฟ้า ล้วนแต่อาศัยการทำงานจากเซมิคอนดักเตอร์ทั้งนั้น เพราะเซมิคอนดักเตอร์คือส่วนประกอบสำคัญของ ‘ชิป’ ที่เป็นหัวใจสำคัญในการควบคุมการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อีกที

เมื่อเซมิคอนดักเตอร์ขาดแคลน การผลิตชิปก็จะชะลอตัว จนทำให้การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต้องหยุดชะงักตามไปด้วย และหากวิกฤตนี้ ยังคงรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นเหมือนอวัยวะชิ้นที่ 33 ของผู้คน เป็นเหมือนเลือดเนื้อที่หล่อเลี้ยงการพัฒนาชีวิตในด้านต่างๆ เกิดขาดแคลนขึ้นมา ทุกอย่างคงเหมือนถูกสับสวิตช์ ปิดวงจรการทำงาน ความก้าวหน้าที่สั่งสมมาคงถูกแช่แข็งเอาไว้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

สัญญาณส่อแววว่า เซมิคอนดักเตอร์จะเกิดการขาดแคลนอย่างหนัก

จริงๆ แล้ว ในปี 2021 เคยเกิดเหตุการณ์ที่ความต้องการเซมิคอนดักเตอร์พุ่งสูงอย่างหนัก จนเกิดการขาดแคลนในตลาดอยู่พักใหญ่ ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ไลฟ์สไตล์ของคนในสังคมเปลี่ยนไป และจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการเรียนออนไลน์ หรือการทำงานที่บ้านมากขึ้น

ถึงแม้ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลาย ผู้คนออกมาใช้ชีวิตตามปกติกันแล้ว และความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ก็ไม่ได้มีมากเท่าแต่ก่อน แต่สถานการณ์การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ กลับดูไม่มีทีท่าที่จะคลี่คลายในเร็ววัน มิหนำซ้ำ บริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของโลกต่างพากันเตรียมปรับราคาขึ้นอีก 5-7 เปอร์เซ็นต์ จากที่เคยมีการปรับราคามาแล้วถึง 10-20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา

นอกจากที่การปรับราคาในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการผลักดันนโยบายของภาครัฐในบางประเทศด้วย โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่มีเป้าหมายให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า แทนรถยนต์แบบเดิม แน่นอนว่า ราคาเซมิคอนดักเตอร์ที่พุ่งสูงเช่นนี้ คงทำให้การผลักดันนโยบายทำได้ไม่ง่ายนัก

แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และชิปยังไม่จบเสียที มิหนำซ้ำ อาจกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่จะพัฒนาเป็นวิกฤตใหญ่ระดับโลกในอีกไม่ช้า?

วันนี้ เราจะพาทุกคนไปวิเคราะห์เจาะลึกแต่ละสาเหตุที่เกี่ยวข้องกันอย่างละเอียด

ปรากฏการณ์ ‘คอขวด’ (Bottleneck) ในกระบวนการผลิต

จริงๆ แล้ว ปรากฏการณ์คอขวด เป็นผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยตรง กล่าวคือในช่วงแรกของการแพร่ระบาด การทำงานตามห่วงโซ่อุปทานจะหยุดนิ่ง เพื่อการควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อ รักษาเสถียรภาพของบริษัท

แต่เมื่อการใช้ชีวิตของคนในสังคมถูกบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน จนอยู่ดีๆ ความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกิดพุ่งสูงขึ้นมาเสียอย่างนั้น ห่วงโซ่อุปทานที่เคยหยุดนิ่งไป จึงต้องกลับมาทำงานอีกครั้ง ภายใต้ความเร่งรีบ และความกดดันจากความต้องการของผู้บริโภค

เมื่อต้องผลิตสินค้าให้ได้มากกว่าเดิม ในเวลาและสภาวะการทำงานที่แย่กว่าเดิม เป็นธรรมดาที่จะเกิดการ ‘ช็อต’ จนเป็นคอขวดในกระบวนการผลิต อย่างการที่ฝ่ายจัดซื้อไม่สามารถจัดหาปัจจัยการผลิตได้ทันตามกำหนดการในการผลิต เพราะซัพพลายเออร์ (Supplier) เองก็ผลิตปัจจัยการผลิตให้ไม่ทันเหมือนกัน และปัญหาในลักษณะนี้ ก็ได้สะสมมาจนถึงปัจจุบันด้วย

ภาวะเงินเฟ้อที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยมา

ภาวะเงินเฟ้อเจ้าเก่าเจ้าเดิมที่หลายๆ คนคงเห็นตามสื่อต่างๆ จนเบื่อ แต่อย่างที่รู้กันดีว่า ภาวะเงินเฟ้อคือปัญหาทางเศรษฐกิจที่ใหญ่มาก นอกจากจะส่งผลให้ผู้คนต้องใช้ชีวิตท่ามกลางยุคที่เรียกว่า ‘ข้าวยากหมากแพง’ แล้ว ยังส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งราคาของปัจจัยการผลิต และค่าจ้างแรงงานด้วย

โดยปกติแล้ว ในสภาวะเศรษฐกิจที่ค่อนข้างปกติ อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นปีละราวๆ 3 เปอร์เซ็นต์ และในแต่ละประเทศจะมีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น (ถึงแม้ว่า จะไม่ค่อยเห็นในไทยก็ตาม) แต่ในปีนี้ อัตราเงินเฟ้อกลับพุ่งสูงกว่าปกติมากๆ ทำให้การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างต้องสูงขึ้นตามไปด้วย

และเมื่อความต้องการเซมิคอนดักเตอร์มีมากขึ้น จนทำให้เกิดการขาดแคลนเช่นนี้ นั่นเท่ากับว่า บริษัทผู้ผลิตต้องให้พนักงานทำงานล่วงเวลา เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าได้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งบริษัทก็จำเป็นต้องจ่ายค่าทำงานล่วงเวลาให้กับพนักงานด้วย สิ่งนี้ จึงกลายเป็นต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นไปอีก

ฐานการผลิตมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ

บริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ของโลกมีน้อยรายมาก โดยบริษัทที่ถือครองส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในโลกถึง 54 เปอร์เซ็นต์ คือ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) เรียกได้ว่า แค่บริษัทเดียวก็ผลิตให้กับคนไปครึ่งโลกแล้ว และนี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ฐานการผลิตไม่เพียงพอกับช่วงที่มีความต้องการสูงนั่นเอง

ถามว่า ทำไมถึงมีบริษัทที่เป็นผู้เล่นในสนามการผลิตเซมิคอนดักเตอร์น้อย?

เป็นเพราะว่า การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้องใช้องค์ความรู้ และเทคโนโลยีที่ความจำเพาะสูง รวมถึงการผลิตในแต่ละขั้นตอนต้องใช้ความละเอียดเป็นอย่างมาก จึงไม่ใช่ว่า จะเป็นใครก็ได้ที่สามารถกระโดดเข้ามาในสนามนี้ได้ทันที

และต่อให้บริษัทที่เป็นเจ้าตลาดอยู่แล้ว ตัดสินใจที่จะแก้ปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนด้วยการขยายฐานการผลิตในตอนนี้ คงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีแน่ๆ เพราะกว่าจะสร้างโรงงานใหม่เสร็จ และมีกำลังการผลิตที่เพียงพอ มันอาจจะเป็นช่วงเวลาที่สายเกินไปแล้ว

เมื่อดูจาก 3 สาเหตุที่เรานำมาวิเคราะห์ในวันนี้ คงต้องบอกว่า สถานการณ์เกี่ยวกับการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์อาจจะเจริญรอยตามวิกฤตอาหารในไม่ช้า และที่น่าเศร้าไปกว่านั้น อาจจะมีวิกฤตจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ตามมาด้วย เพราะห่วงโซ่อุปทานของทุกอุตสาหกรรมก็มีความเกี่ยวโยงกันหมด

ดังนั้น ทางออกของปัญหานี้ คงไม่ต่างอะไรกับแนวทางการแก้ปัญหาวิกฤตอาหารนัก อย่างการที่ประเทศอื่นๆ จะลุกขึ้นมาเป็นผู้วิจัยและผลิตเซมิคอนดักเตอร์เอง หรือจะจับมือกับบริษัทเอกชนในการขยายฮับ (Hub) การผลิตบนพื้นที่อุตสาหกรรมเดิม เพื่อย่นระยะเวลาในการจัดตั้งโรงงานใหม่ก็ได้เช่นกัน

Sources: https://cnb.cx/3MSwYi1

https://cnb.cx/3lJgX1Q

https://bit.ly/3PIQn6X

https://bit.ly/3z20huu

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like