LOADING

Type to search

เมื่อหนังสือพัฒนาตัวเองคือ ‘ความเหนื่อยล้า’ ‘ฮีลใจ’ คำตอบที่ใช่ในวันที่โลกหันหลังให้กับเรา

เมื่อหนังสือพัฒนาตัวเองคือ ‘ความเหนื่อยล้า’ ‘ฮีลใจ’ คำตอบที่ใช่ในวันที่โลกหันหลังให้กับเรา
Share

‘ตัวตนเราในวันนี้คือสิ่งที่ถูกหล่อหลอมจากอดีต ไม่ว่าสิ่งที่เลือกเสพ เลือกอ่าน หรือแม้กระทั่งสภาพแวดล้อมที่เลือกอยู่ก็ด้วย’ เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อชีวิตของเราไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

อย่างเช่น ถ้าเราขยันหมั่นเพียร ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าคนอื่น เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลกว่า ทำไมหนังสือพัฒนาตัวเองหรือที่เรียกว่า ‘Self-Help Book’ ถึงได้รับความนิยม ชนิดที่ว่า สมัยก่อน ถ้าเลี้ยวเข้าร้านหนังสือ กวาดสายตามองไปที่ชั้นวางทีไร บางคนก็เจอหนังสือพัฒนาตัวเองหรือหนังสือฮาวทูติด Best Seller เป็นประจำ

ประกอบกับแนวโน้มการเติบโตพุ่งทะยานขึ้นเรื่อยๆ และมีการคาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดหนังสือพัฒนาตัวเองจะเติบโตมากถึง 13,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2566 นี้ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมที่เปลี่ยนไป ทุกวันนี้ปรากฏการณ์หนังสือฮีลใจหรือหนังสือกอดปลอบก็มักผุดขึ้นให้เห็นราวกับดอกเห็ดอยู่เสมอ

ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ โทษที วันนี้ชีวิตฉันสำคัญที่สุด, ยังไม่ทันเข้างานก็อยากกลับบ้านแล้ว, Everyone is เฮงซวย, เราเติบโตขึ้นในทุกๆ วัน, โตขึ้นมาเป็นความสุข, นี่เราใช้ชีวิตยากเกินไปหรือเปล่านะ, พักให้ไหว ค่อยไปต่อ, เหนื่อยไหม กอดหัวใจตัวเองหรือยัง, ฉันไม่ใช่ผู้ใหญ่ ฉันแค่อายุ 30 รวมไปถึง ไม่ได้ขี้เกียจ แค่กำลังชาร์จพลัง ก็เช่นกัน

แล้วเทรนด์หนังสือฮีลใจมีต้นตอมาจากไหน ทำไมหนังสือพัฒนาตัวเองถึงไม่ใช่ Top of mind ของบางคนอีกต่อไป และเทรนด์นี้กำลังบอกอะไร? บทความนี้ Future Trends จะมาวิเคราะห์ให้ดูกัน

จาก ‘ฉันต้องเก่ง ต้องดีขึ้นกว่านี้’ สู่ ‘ฉันจะใจดีกับตัวเองให้มากๆ’

self-love-books-trend 1
Image by wayhomestudio on Freepik

แม้การเป็นคนเก่ง คนที่ดีกว่าเดิมจะเป็นหมุดหมายสำคัญของหลายๆ คน แต่ในยุคที่ของแพง เงินเฟ้อพุ่ง สภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย ระบบทุนนิยมทำให้เราอยู่ในลู่วิ่งตลอดเวลา และวัฒนธรรมแห่งความเร่งรีบ (Hustle Culture) ทำให้คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่า เป้าหมายที่มีนั้นเลือนลาง ต่อให้เก่งกาจสักแค่ไหน แต่พอมองดูอนาคต ก็รู้สึกเหนื่อยใจเข้าทุกที

ด้วยเหตุนี้ บรรดานักเขียน และสำนักพิมพ์จึงเริ่มออกหนังสือ ‘ฮีลใจ’ กันมากขึ้น โดยมีใจความสำคัญเกี่ยวกับการปลอบประโลม โอบอุ้มจิตใจของผู้อ่านให้ไม่คร่ำเคร่งกับชีวิตมากจนเกินไป เป็นเหมือนพื้นที่ชุบชูจิตใจจากความเหนื่อยล้า และสื่อสารความเจ็บปวดระหว่างเส้นทางของการเติบโต แตกต่างจากหนังสือพัฒนาตัวเองที่มุ่งสร้างแรงบันดาลใจเพียงอย่างเดียว

ทำไมหนังสือพัฒนาตัวเองไม่ใช่ Top of mind ของบางคนอีกต่อไป?

self-love-books-trend 2
Image by jcomp on Freepik

บทความหนึ่งในเว็บไซต์ฟอร์บส์ (Forbes) พูดถึงความย้อนแย้งของหนังสือพัฒนาตัวเองเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า แท้จริงแล้ว นี่ไม่ใช่เครื่องมือที่ได้ผลนัก เพราะบางทีหนังสือพัฒนาตัวเองก็ส่งผลเสียกับคนอ่าน (Bad Effect) เช่น อาจให้คำแนะนำผิดๆ หรือความหวังลมๆ แล้งๆ ที่เป็นอันตรายกับคนไม่มั่นใจในตัวเอง ดังนั้น แทนที่จะรู้สึกดีขึ้นกลับกลายเป็นการบั่นทอนให้รู้สึกแย่กับตัวเองมากกว่า

ถัดมา บางทีหนังสือพัฒนาตัวเองก็เหมือนยาหลอก (Placebo Effect) ที่หลายๆ คนพัฒนาตัวเองได้สำเร็จ ไม่ได้เกิดจากการทำตามคำแนะนำในหนังสือซะทีเดียว แต่จริงๆ แล้ว เป็นเพราะการหันมาโฟกัสกับสิ่งที่ไม่ได้สนใจมาก่อนต่างหาก

และสุดท้าย บางทีหนังสือพัฒนาตัวเองก็ไร้ประโยชน์ (No Effect) ต่อให้มันน่าสนใจ น่ามีไว้ในครอบครองสักเท่าไร แต่คำแนะนำในหนังสือเป็นเรื่องพื้นฐานที่น่าจะรู้กันอยู่แล้ว และเมื่ออ่านจบ ก็ไม่ได้พยายามปรับปรุง เปลี่ยนแปลงอะไร ยังคงทำพฤติกรรมเดิมๆ อยู่ดี

สอดคล้องกับบทความเรื่อง Do self-help books help? ในวารสารการศึกษาความสุข (Journal of Happiness Studies) ที่ระบุว่า เวลาอ่านหนังสือพัฒนาตัวเอง สุดท้ายแล้ว เราคือ ‘ผู้ตัดสินว่าจะทำสิ่งนั้นต่อหรือไม่?’ แต่ตามปกติ เราจะสนใจเรื่องอื่นในชีวิตมากกว่า อีกทั้ง ก็ไม่ได้มีโค้ช นักบำบัด หรือครูคอยประกอบว่า ต้องทำอะไร และติดตามผลด้วย

เทรนด์ ‘หนังสือพัฒนาตัวเอง’ กับ ‘หนังสือฮีลใจ’ กำลังบอกอะไรเรา?

เทรนด์การเสพหนังสือพัฒนาตัวเองเป็นการสะท้อนกลายๆ ว่า ลึกๆ แล้ว คนอ่านอาจรู้สึกกังวลว่า ตัวเองไม่ดีพอ ไม่เก่งพอ นอกจากนี้ นิโคลัส บลูม (Nicholas Bloom) ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) เคยให้สัมภาษณ์ในรายการ Conversations with Tyler podcast ว่า “หนังสือเหล่านี้ไร้ประโยชน์”

โดยหลักแล้ว เพราะบทเรียนข้างในใช้ไม่ได้จริง, ความไม่สมมาตรของสถานการณ์แวดล้อม, เนื้อในอาจเป็นเรื่องเล่าแบบผิดๆ เต็มไปด้วยอคติทางความคิดของการอยู่รอด (Survivorship Bias) ที่ให้ความสำคัญกับผู้อยู่รอด แต่ขณะเดียวกัน ก็แทบไม่สนใจผู้ที่อยู่ไม่รอด รวมถึงเรื่องโชคชะตาฟ้าลิขิตที่เป็นใจกับไม่เป็นใจด้วย

ในทางกลับกัน การมาของเทรนด์หนังสือฮีลใจก็สะท้อนแง่มุมหนึ่งว่า แม้ความเก่งกาจจะเป็นสิ่งที่คนในยุคนี้หมายปอง แต่ถึงที่สุดแล้ว พวกเขาก็แค่ต้องการเติบโตไปเป็นคนที่มีความสุข แฮปปี้กับการใช้ชีวิตทุกวันก็เท่านั้นเอง

‘ฮีลใจ’ เทรนด์มาแรงที่ไม่ได้มาแค่หนังสือ

self-love-books-trend 3
Image by Racool_studio on Freepik

ในความเป็นจริง เทรนด์ฮีลใจนี้ก็ไม่ได้สร้างแรงกระเพื่อมแค่วงการหนังสือ แต่ยังเหมารวมไปถึงวงการเพลงด้วย เช่น ปัจจุบันค่ายเพลงเลิฟอีส เอนเตอร์เทนเมนต์ (LOVEiS Entertainment) และค่ายเพลงมาร์ (marr) ก็ได้มีการปล่อยเพลง Powerbank กับเพลงฮีลใจที่มีท่อนเนื้อร้อง ทำนองปลอบประโลมจิตใจผู้ฟังมากกว่ากระตุ้น หรือสร้างแรงบันดาลใจไปสู่เป้าหมายอันยิ่งใหญ่ออกมา

อย่างท่อน “รู้ว่าเหนื่อยมากเลยใช่ไหม มาให้ฉันกอด กอดนานๆ จนเธอหายดี เหนื่อยใช่ไหม มาให้ฉันกอด ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร อยากบอกว่าเธอเก่งมากเลย” และ “เป็นไงวันนี้เธอเหนื่อยใช่ไหม ก็ไม่เป็นไรนะเธอ ให้เพลงเพลงนี้มันฮีลใจของเธอ แม้ว่าต้องเจอโลกที่ใจร้ายเท่าไร ให้กอดของฉันส่งผ่านเพลงนี้ไป แม้ไม่มีใครเธอก็ยังมีฉันอยู่”

การพัฒนาตัวเอง ความอยากเป็นคนที่เก่งขึ้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้ามันทำให้เราเหนื่อยล้าเกินไป บางทีการฮีลใจก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เอาเป็นว่า ทำทุกวันให้เต็มที่ ให้ชีวิตค่อยๆ เติบโตไปทีละ Step

เพราะไม่ต้องเก่งกว่านี้ ฉันก็รักเธออยู่ดี 🙂

Sources: https://bit.ly/3E6JGaE

https://bit.ly/3YzPstx

https://bit.ly/40Syubg

https://bit.ly/40NzsWt

https://bit.ly/3xm1ScI

หนังสือความสุขฉบับพกพา เขียนโดย นิ้วกลม

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1

You Might also Like