LOADING

Type to search

เมื่อคนกว่า 7 ร้อยล้านคนยังขาดแคลนน้ำสะอาด นักวิจัยจึงคิดค้นเครื่องเปลี่ยน ‘น้ำเกลือ’ เป็น ‘น้ำดื่ม’ เพียงแค่กดปุ่ม

เมื่อคนกว่า 7 ร้อยล้านคนยังขาดแคลนน้ำสะอาด นักวิจัยจึงคิดค้นเครื่องเปลี่ยน ‘น้ำเกลือ’ เป็น ‘น้ำดื่ม’ เพียงแค่กดปุ่ม
Share

ในอดีต หลายๆ คนอาจจะรู้สึกว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ไกลตัว และไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร จนในที่สุด มันได้กลายเป็น ‘มหันตภัย’ ร้ายที่คืบคลานเข้ามาใกล้เราอย่างไม่รู้ตัว…

หากคุณรู้สึกว่า ‘Climate Change’ มันจะอะไรนักหนา ได้ยินบ่อยจนเบื่อ หรือพวกคำเตือนจากนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมที่บอกว่า ‘โลกจะร้อนขึ้น จนในอีก 5 ปีข้างหน้า สิ่งมีชีวิตอาจจะอยู่อาศัยบนโลกไม่ได้แล้ว มันกลับดูไม่เมกเซนส์ในสายตาคุณ’ ก็คงช่วยไม่ได้ เพราะเรื่องพวกนี้ คงขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละคนล้วนๆ

แต่หากคุณเป็นคนหนึ่งที่รับรู้ได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในแต่ละวันที่เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวฝนตก จนเหมือนมี 3 ฤดู ในหนึ่งเดือน นั่นเท่ากับว่า คุณเองก็กำลังได้รับสัญญาณเตือนถึง ‘ความวิกฤต’ จากธรรมชาติอยู่เช่นกัน

ถึงแม้ว่า ธรรมชาติจะส่งสัญญาณเตือนมาให้พวกเราตระหนักถึง ‘ความพัง’ ของสิ่งแวดล้อม แต่สำหรับคนบางกลุ่ม พวกเขาไม่ได้รับแค่สัญญาณเตือนเท่านั้น ผลพวงของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คงหนีไม่พ้น ‘การขาดแคลนน้ำและอาหาร’ นั่นเอง

จากสถิติขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ได้ระบุว่า มีคนกว่า 7 ร้อยล้านคน ที่ยังขาดแคลนน้ำสะอาด และไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำที่มีคุณภาพได้ รวมถึงยังมีคนอีกจำนวน 2.2 พันล้านคน ที่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดได้ แต่ต้องใช้ในปริมาณที่จำกัด ยิ่งไปกว่านั้น ในปี 2025 ประชากรโลกกว่าครึ่งอาจจะต้องใช้ชีวิตท่ามกลางภาวะขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง

จะเห็นว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน ส่งผลกับชีวิตและความเป็นอยู่ของเรามากเหลือเกิน แล้วเราจะปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้ เกิดขึ้นต่อไปจริงๆ เหรอ?

แน่นอนว่า เหล่านักวิจัยคงไม่ยอมให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นอีกต่อไป จึงได้พยายามวิจัยนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เข้ามาแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือผลพวงของปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างสิ่งประดิษฐ์ที่เราหยิบยกมาเล่าให้ฟังกันในวันนี้ ก็คือ ‘เครื่องกลั่นน้ำ’ ที่สามารถเปลี่ยนน้ำเกลือเป็นน้ำดื่มได้ในพริบตา โดยไม่ต้องใช้ตัวกรอง และใช้เพียงพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่เทียบเท่ากับแบตเตอรี่ในโทรศัพท์มือถือเท่านั้น ซึ่งงานวิจัยสุดเจ๋งนี้ เป็นของทีมนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT)

แล้วถ้าในอนาคต สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ สามารถเปลี่ยนจากสเกลของงานวิจัย มาเป็นสเกลของอุปกรณ์ที่มีการนำไปใช้จริง มันจะทำให้ชีวิตของเราเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง?

ความหวังใหม่ของมวลมนุษยชาติในการแก้ปัญหาภาวะขาดแคลนน้ำ

ด้วยการใช้งานที่ไม่ยุ่งยากและซับซ้อน เพียงแค่หย่อนหัวแปลงลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ แล้วกดปุ่มให้เครื่องทำงานตามหลักการที่ใช้ไฟฟ้าแยกอนุภาคของเกลือออกจากน้ำ และในที่สุด ก็จะได้น้ำสะอาดพร้อมดื่มออกมา ซึ่งทางทีมนักวิจัยบอกว่า คุณภาพของน้ำที่ได้จากเครื่องนี้ มีมาตรฐานสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้เสียอีก

นี่จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้เราคาดหวังว่า สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ จะสามารถเข้าไปช่วยเหลือคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่กำลังขาดแคลนน้ำสะอาด เพื่อใช้ในการอุปโภคและบริโภค และหากในอนาคต ทีมนักวิจัยมีการร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่มีพันธกิจในการช่วยเหลือกลุ่มคนเหล่านี้อยู่แล้ว รับรองว่า หนทางในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน

แต่เมื่อมองอีกมุมหนึ่ง พื้นที่ห่างไกลส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่พอที่จะดึงน้ำมาใช้ได้ขนาดนั้น และยังคงต้องใช้การขุดเจาะน้ำบาดาล เพื่อสูบน้ำจากใต้ดินมาใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภคอยู่ดี ซึ่งนี่ก็ยังเป็นข้อจำกัดที่ทำให้สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ อาจจะไม่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาแบบ 100 เปอร์เซ็นต์

ต้นแบบของวิธีการผลิตน้ำดื่มแบบใหม่ที่อาจจะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจในอนาคต

โดยปกติแล้ว ขั้นตอนทั่วไปของการผลิตน้ำดื่ม ก็จะเริ่มจากการเก็บน้ำที่มาจากแหล่งน้ำสะอาด เข้าสู่กระบวนการฆ่าเชื้อ และการตรวจสอบคุณภาพ ก่อนที่จะทำการบรรจุขวด นอกจากขั้นตอนเหล่านี้ ยังมีขั้นตอนยิบย่อยอีกมากมาย โดยที่แต่ละขั้นตอน ก็จะมีเครื่องจักรเฉพาะของตัวเองอีก ซึ่งทุกคนคงเข้าใจแล้วว่า การผลิตน้ำดื่มหนึ่งครั้งต้องใช้ต้นทุนมากขนาดไหน

หลังจากที่ได้ลองวิเคราะห์ศักยภาพของสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ ก็รู้สึกว่า ตัวมันเองสามารถพัฒนาเป็นเครื่องจักรสำหรับการผลิตน้ำดื่มแบบออลอินวัน (All-in-One) ที่จบครบในหนึ่งเดียวได้ เพราะนอกจากจะกลั่นน้ำที่สามารถดื่มได้ในทันทีแล้ว ยังใช้ต้นทุนในการจัดหาทรัพยากรต่ำอีกด้วย ซึ่งเหมาะกับกลุ่มผู้ผลิตรายย่อยที่ไม่ได้มีเงินทุนมากนัก แต่ทั้งนี้ การพัฒนาให้เป็นเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรม คงขึ้นอยู่กับเป้าหมายและความต้องการของทีมนักวิจัยเองมากกว่า

ถึงแม้ว่า สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ จะไม่ได้ถูกคิดค้นมาเพื่อแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง และดูจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยซ้ำ แต่มันก็สามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ให้กับคนที่รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี และยังเป็นเหมือนเครื่องประวิงเวลาในการหาทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากต้นเหตุอีกด้วย

Sources: https://bit.ly/3MRoXth

https://bit.ly/3w6uSnB

https://bit.ly/3MTwcAS

Tags::