LOADING

Type to search

เจาะลึกสุดยอดกลยุทธ์ Sculpturebangkok ผู้ปลุกการกลับมาของโฟโต้บูธในเมืองไทย

เจาะลึกสุดยอดกลยุทธ์ Sculpturebangkok ผู้ปลุกการกลับมาของโฟโต้บูธในเมืองไทย
Share

หากยังจำกันได้ ครั้งหนึ่งตู้ถ่ายรูปโฟโต้บูธ (Photobooth) เคยเป็นไอเทมสุดฮิตในบ้านเรา ชนิดที่ไม่ว่าจะไปที่ไหน แทบทุกห้างร้านก็มักจะต้องมีเจ้าตู้นี้ตั้งอยู่แน่ๆ เชื่อว่า เด็กยุค 90s ที่อาจกำลังอ่านบทความนี้อยู่คงคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี

ตู้ถ่ายรูปสุดคลาสสิกที่เคยได้รับความนิยม แต่เมื่อเทคโนโลยีถูกพัฒนาให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น เราต่างก็มีสมาร์ตโฟน (Smartphone) ที่ใช้เซลฟี่ (Selfie) เมื่อไร ที่ไหนก็ได้ แรงกระเพื่อมนี้ก็ส่งผลโดยตรงให้เหล่าธุรกิจโฟโต้บูธในเมืองไทยค่อยๆ ล้มหายตายจากไปทีละรายสองราย จนในที่สุดก็ไม่เหลือตามห้างสักตู้อีกเลย…

แต่แล้วตู้ถ่ายรูปโฟโต้บูธในตำนานนี้ก็ถูกปลุกขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยคุณปิ่น-ลักษิกา จิระดารากุล ช่างภาพสาวมากฝีมือสุดติสท์ และคุณพี-สาริษฐ์ ตรัยเลิศวิเชียร อดีตนักแสดงซีรีส์ฮอร์โมนวัยว้าวุ่น ภายใต้แบรนด์ที่ชื่อว่า “สคัลป์เจอร์แบงค็อก (Sculpturebangkok)”

ซึ่งการมาครั้งนี้ก็พิเศษกว่าครั้งไหนๆ (อาจจะฮิตยิ่งกว่าสมัยก่อนซะด้วยซ้ำ) เพราะต้องรอคิวกันยาวเหยียด เหมือนเวลาคาเฟ่หรือร้านขนมเปิดใหม่ยังไงยังงั้น ความกล้าได้กล้าเสียของผู้ก่อตั้ง ทั้ง 2 ท่านในวันนั้นทำให้ตู้โฟโต้บูธในอดีตฟื้นคืนชีพขึ้นมาเป็นเหมือน ‘มิติใหม่ในสังคม’ สำเร็จ

แล้วอะไรคือกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ราชาแห่งการเซลฟี่ในตำนานนี้กลับมาฮิตอีกครั้ง วันนี้ Future Trends จะมาเล่าให้ฟังกันค่ะ

อย่างที่เล่าไปก่อนหน้าว่า เดิมทีเจ้าตู้นี้มีให้เราเห็นเป็นเรื่องปกติ แต่พอวันหนึ่ง มันกลับมา ก็ทำให้หลายๆ คนหวนคิดถึงความทรงจำที่ผ่านมา โมเมนต์ที่เคยถ่ายรูปกับเพื่อน แย่งกันโพสท่า แย่งกันกันซีน หรือแม้กระทั่งการถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกับครอบครัว และแน่นอนว่า เมื่อปรินต์ออกมาแล้ว สิ่งหนึ่งที่พลาดไม่ได้นั่นก็คือการตัดแบ่งครึ่งแล้วนำไปแจก บ้างก็แปะไว้ที่ผนังห้องนอน บ้างก็เก็บไว้ในลิ้นชักส่วนตัว บ้างก็ใส่ไว้ในช่องกระเป๋าสตางค์ แต่ไม่ว่าจะเก็บไว้ที่ไหน พอเห็นรูปนี้ทีไรก็อดคิดถึงความทรงจำ ณ ช่วงเวลานั้นไม่ได้ทุกที

วันวานที่ไม่อาจหวนคืน โมเมนต์โก๊ะๆ ตอนถ่าย ประกอบกับการที่ไม่ว่าใครก็สามารถเป็น Content Creator ได้ เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ต ส่งผลให้เทรนด์การตลาดย้อนยุค (Nostalgia Marketing) ถูกปลุกขึ้นอย่างมากมาย ทั้งแวดวงของกล้องฟิล์ม การเขียนไดอารี เซิร์ฟสเกต และแน่นอนว่า เจ้าโฟโต้บูธนี้ก็เช่นกัน

หากมองให้ลึกลงไปในมิติของวัฒนธรรมแล้ว จะเห็นได้ว่า การถ่ายภาพด้วยโฟโต้บูธนั้นมีเรื่องของการใช้เวลาร่วมกัน การเขียนโน้ตถ้อยคำสุดพิเศษที่มือถือธรรมดาทำไม่ได้เข้ามาเกี่ยว และถึงแม้มันจะหายไปนานแล้ว แต่ก็ไม่เป็นปัญหาเลย เพราะความต้องการ (Demand) ของผู้บริโภคนั้นกลับพุ่งสูงอย่างเห็นได้ชัด การกระโจนเข้ามาเป็นผู้เล่นรายแรกของสคัลป์เจอร์แบงค็อกนั้นสร้างข้อได้เปรียบให้ทางธุรกิจอย่างมาก

การยกลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) นำสินค้ามาตอบโจทย์พฤติกรรม และความต้องการในปัจจุบัน อย่างพฤติกรรมการชอบถ่ายรูปแล้วอัปบนโลกโซเชียล ทำให้กลยุทธ์การตลาดคนชอบอวด (Bragger Marketing) (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ : https://www.facebook.com/futuretrends.th/posts/1573898952976544) เป็นอีกแรงเสริมให้โฟโต้บูธนี้เกิดเป็น Pop Culture ใหม่อีกครั้ง ปรากฏการณ์การยืนต่อคิวเป็นชั่วโมงเพื่อจะได้ถ่ายรูปเพียงแค่ไม่กี่ช็อตเป็นอีกเครื่องบ่งชี้ความสำเร็จของทางแบรนด์ได้เป็นอย่างดี

จากความตั้งใจแรกพัฒนาตู้ถ่ายรูปแบบอัตโนมือในอดีต จนถึงวันนี้ได้กลายเป็นตู้ถ่ายรูปโฟโต้ออโต้แมต (Photoautomat) แบบอัตโนมัติคุณภาพสูง ผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ Pain Point ต่างๆ เช่น ส่วนใหญ่ภาพที่ได้มาจากตู้เหล่านี้มักจะมีคุณภาพต่ำ สีเพี้ยน ค่อนข้างเลือน เป็นต้น ความสะดวกสบายที่ถ่ายทีเดียวได้ทั้งภาพแบบยุคเก่า และดิจิทัล (ถ่ายเสร็จสแกนคิวอาร์โค้ดรับไฟล์ดิจิทัล อัปลงโซเชียลได้ทันที) การชำระเงินผ่าน Mobile Banking ที่สะดวกรวดเร็วนั้นทำให้แบรนด์เข้าไปนั่งอยู่ในใจของลูกค้าได้ไม่ยาก

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัว (Privacy) ก็ถูกพูดถึงอย่างมากในสังคม ซึ่งถ้าพูดกันตามตรง สมาร์ตโฟนที่ล้ำหรือแพงกว่านี้หลายเท่าก็ทำให้เราไม่ได้ เมื่อโฟโต้บูธมีผ้ากั้น ก็สามารถออกท่วงท่าลีลาได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องเขินหรืออายใคร

การ Collaboration กับร้านคาเฟ่ แบรนด์ หรือห้างสรรพสินค้าชั้นนำในรูปแบบหุ้นส่วน (Partnership) ทำให้มีเรื่องราว และเอกลักษณ์ที่ส่งเสริมกันและกัน มีการตั้งเป็นตู้ป๊อปอัป (Pop-ups) ตามสถานที่ต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ห้างลิโด้ ห้างสยามพารากอน คาเฟ่ WWA x Chooseless อีเว้นท์แบรนด์รถจักรยานยนต์สกู้ปปี้ (Scoopy) โดยทุกตู้ก็จะมีความแตกต่างเฉพาะ ถือเป็นอีกหนึ่งจุดขายทำให้เหล่าสาวกนักถ่ายเกิดติดใจตามไปเก็บจุด check-point นั้นๆ

อีกทั้งการออกโปรเจกต์ใหม่อยู่ตลอด ทั้งตู้กดหมวก Random Sculpture Club, Sculpture Random Camera และตู้ถ่ายรูปแบบ Drive-Thru ที่เป็นการปรับตัวให้เข้ากับยุคโรคระบาดใหญ่ ซึ่งก็นับว่า เป็นอีกไอเดียที่น่าสนใจมาก การตกแต่งแต่ละตู้ที่ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปเหมือน ‘งานศิลปะชิ้นหนึ่ง’

การดีไซน์ให้เรียบเท่ แต่ก็ไม่แบ๊ว และแมนเกินไป ไม่ว่าจะเพศไหนก็สามารถสนุกกับตู้ได้ บวกกับลูกเล่นต่างๆ ที่ถูกคิดมาเป็นอย่างดี ทั้งการจัดแสง แฟลช มุมกล้อง ระบบตรวจจับการเคลื่อนไหว วิธีการถ่ายแปลกๆ อย่างการถ่ายจากมุมเสยใต้เท้าที่ทางแบรนด์เคยทำร่วมกับไอวอนนาแบงค็อก (IWANNABANGKOK) ยิ่งเป็นแรงเสริมให้แบรนด์นี้ปังแบบฉุดไม่อยู่

และสุดท้ายที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ‘คอนเนคชัน’ อย่างที่รู้กันดีว่า สิ่งนี้มีความจำเป็นมากในสังคมปัจจุบัน แม้ว่าจะทำออกมาได้ดีแค่ไหน ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามีปัจจัยนี้เข้ามาเกี่ยว โดยในช่วงของการเปิดตัวตู้นั้นๆ ทางแบรนด์จะมีการจัดวันอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer Day) เชิญชวนเหล่าดาราที่รู้จักมาร่วมงาน ซึ่งถือเป็นการโฆษณาแบบฟรีๆ ในตัวด้วยสื่อที่ไม่ต้องเสียเงิน (Earned media) โดยครั้งหนึ่งคุณชมพู่ อารยาก็เคยมาร่วมงานเปิดตัวด้วย ซึ่งก็เป็นเพื่อนของคนรู้จักทั้ง 2 อีกที เรื่องนี้เองสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับเหล่าผู้ติดตามอย่างมากจนเกิดเป็นกระแสอยากมาเซลฟี่ตามๆ กัน

สคัลป์เจอร์แบงค็อกถือเป็นการบรรจบกันของยุคใหม่กับความคลาสสิกสมัยเก่าที่ลงตัว แต่แน่นอนว่า เวลาอะไรที่ฮิตมากๆ เมื่อถึงวันหนึ่งก็คงเลิกฮิตเป็นธรรมดา จะทำยังไงให้ตู้แบบนี้คงอยู่ในบ้านเราต่อไป ไม่ใช่มาแล้วก็ปลิวเหมือนที่ครั้งหนึ่งตู้โฟโต้บูธตามห้างในอดีตหายไป… ก็เป็นเรื่องที่เราต้องจับตามองกันต่อ

Sources: https://bit.ly/3xO0f8T

https://bit.ly/3Md2J4K

https://bit.ly/3vDfTB8

https://bit.ly/3vwCcc0

https://bit.ly/3Mi9GS4

https://bit.ly/3rIHDmN

https://bit.ly/37t58tv

https://spoti.fi/38bDv8f

https://spoti.fi/3jXHdEY

https://bit.ly/3v2tFOI

https://bit.ly/3L5YOqh

Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1