ไม่ใช่แค่ความใหม่ แต่ยังแฝง ‘Nostalgia’ ไว้ด้วย ‘Old things in new ways’ กลยุทธ์สมาร์ตโฟนจอพับของ ‘Samsung’
วันนี้ (10 สิงหาคม) คงเป็นวันที่สาวกซัมซุง (Samsung) หลายๆ คนตั้งตารอ เพราะบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากเกาหลีใต้รายนี้ กำลังจะมีงานเปิดตัวสินค้าใหม่ประจำฤดูร้อนปี 2022 ที่ใช้ชื่องานว่า ‘Galaxy Unpacked’ ในเวลา 20.00 น. (ตามเวลาไทย) และสำหรับใครที่สนใจก็สามารถรับชมงานเปิดตัวได้ที่ www.samsung.com
หลังจากที่ซัมซุงออกมาประกาศอย่างเป็นทางการว่า จะมีการจัดงานเปิดตัวสินค้าในครั้งนี้ สื่อหลายๆ สำนักและผู้ที่คร่ำหวอดในวงการเทคโนโลยีก็ต่างจับตามองไลน์อัปสินค้าใหม่ที่ค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า เราคงได้เห็นกันในค่ำคืนนี้อย่างไม่พลิกโผ โดยเฉพาะ Galaxy Z Fold 4 และ Galaxy Z Flip 4 สมาร์ตโฟนจอพับ (Foldable Smartphone) ที่ขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในสินค้าเรือธงของซัมซุงไปแล้ว
แต่ในบทความนี้ เราคงไม่ได้มาชวนคุยเกี่ยวกับสเปก ดีไซน์ หรือความเปลี่ยนแปลงที่เหนือกว่ารุ่นก่อนหน้าอย่างแน่นอน เพราะสื่อหลายๆ สำนักก็ลงข่าวในประเด็นเหล่านั้นไปแล้ว แต่สิ่งที่เราต้องการชวนทุกคนมาร่วมพูดคุยและถกเถียงกันในวันนี้ ก็คือเบื้องหลังความสำเร็จของ Galaxy Z Fold 4 และ Galaxy Z Flip 4 ที่ทำให้ซัมซุงกลายเป็นผู้พลิกโฉมวงการสมาร์ตโฟนนั่นเอง
การที่ซัมซุงเปิดตัวสมาร์ตโฟนจอพับในช่วงแรก ทำให้เกิดการถกเถียงบนโลกออนไลน์ในหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นขนาด ความทนทาน รอยพับบนตัวเครื่อง และอื่นๆ ที่คาดว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับการใช้งานในอนาคต แต่สิ่งนี้ก็ไม่ใช่อุปสรรคสำหรับซัมซุงในการเอาชนะใจผู้บริโภค เพราะในปี 2021 ซัมซุงสามารถจำหน่ายสมาร์ตโฟนจอพับได้ราว 10 ล้านเครื่อง คิดเป็นยอดขายที่มากขึ้นถึง 300 เปอร์เซ็นต์ จากปี 2020
แล้วกลยุทธ์ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของซัมซุงคืออะไร?
หลายๆ คนอาจจะมองว่าเป็น ‘สีสัน’ และ ‘ความใหม่’ ที่หลุดจากกรอบของสมาร์ตโฟนแบบเดิมๆ ที่เราคุ้นเคย แต่จริงๆ แล้ว โทรศัพท์พับได้เป็นนวัตกรรมที่มีมาตั้งแต่ปลายยุค 80 ด้วยซ้ำ เพียงแต่ซัมซุงเป็นผู้นำนวัตกรรมนี้มาดัดแปลงในแบบฉบับของตัวเองผ่านกลยุทธ์ที่เรียกว่า ‘Old things in new ways’ หรือการเอาของเก่ามาเล่าใหม่ให้ไฉไลกว่าเดิม
จาก ‘โทรศัพท์ฝาพับ’ ไอเทมของวัยรุ่นยุค 90 สู่ ‘สมาร์ตโฟนจอพับ’ แห่งศตวรรษที่ 21
หลายๆ คนที่เข้ามาอ่านบทความนี้คงเคยมีโอกาสใช้โทรศัพท์ฝาพับในตำนานอย่าง Motorola Razr หรือ LG Lollipop เป็นโทรศัพท์เครื่องแรกของตัวเอง และกระแสความนิยมก็ทำให้โทรศัพท์ฝาพับกลายเป็นไอเทมประจำตัวของวัยรุ่นยุค 90 ที่ต้องมาพร้อมกับที่ห้อยโทรศัพท์หลากหลายสไตล์ที่เป็นแฟชันของยุคนั้นด้วย
แต่แล้วกาลอวสานของโทรศัพท์ฝาพับก็มาถึง เมื่อโทรศัพท์ไร้ปุ่มหรือสมาร์ตโฟนที่เราคุ้นเคยและใช้งานกันทั่วไปในปัจจุบันถือกำเนิดขึ้น เทคโนโลยีดั้งเดิมจึงถูกดิสรัปต์จากเทคโนโลยีใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจมากกว่า ทำให้โทรศัพท์ฝาพับต้องออกจากตลาดและความทรงจำของผู้คน เหลือไว้เพียงตำนานที่ชวนให้หวนนึกถึงเป็นครั้งคราวเท่านั้น
ถึงแม้ว่า โทรศัพท์ฝาพับจะตายจากอุตสาหกรรมไปแล้ว แต่ตำนานก็ยังคงเป็นตำนานอยู่วันยันค่ำ ความคิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต หรือที่เราเรียกกันว่า ‘นอสทัลเจีย’ (Nostalgia)’ ได้นำพาและคืนชีพโทรศัพท์ฝาพับให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งด้วยการเป็น ‘สมาร์ตโฟนจอพับ’ ที่มีรูปลักษณ์ทันสมัยสมกับเป็นยุคดิจิทัล
สตีเวน ซินอฟสกี (Steven Sinofsky) อดีตประธานฝ่ายพัฒนาวินโดวส์ (Windows) ของไมโครซอฟต์ (Microsoft) ได้เขียนลงบนเว็บบล็อกของตัวเองเกี่ยวกับกลยุทธ์ ‘Old things in new ways’ ว่า เป็นการนำมรดกทางนวัตกรรมมาพัฒนาให้ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงและบุคลากรที่มีความสามารถ
ดังนั้น การที่ซัมซุงเป็นผู้เล่นรายแรกๆ ที่เลือกบุกตลาดสมาร์ตโฟนจอพับ ไม่ได้เป็นแค่การใช้ความรู้สึกแบบนอสทัลเจียเข้ามาช่วยสร้างคุณค่าของสินค้าให้โดดเด่น แต่ยังเป็นการสร้างนวัตกรรมที่ทำให้คนรุ่นใหม่ที่ไม่เคยมีความทรงจำกับโทรศัพท์ฝาพับในตำนานรู้สึกตื่นตาตื่นใจ และต้องการเป็น ‘Early Adopter’ ที่ได้ลองใช้สิ่งนี้ก่อนใคร
จากการพูดคุยกับแหล่งข่าวรายหนึ่งที่ใช้ Galaxy Z Flip 3 มาเกือบๆ 1 ปี และไม่เคยใช้โทรศัพท์ฝาพับมาก่อน แหล่งข่าวบอกกับเราว่า สิ่งที่ทำให้ตัดสินใจซื้อสมาร์ตโฟนรุ่นนี้ เป็นเพราะดีไซน์ที่น่ารัก พกพาง่ายกว่าสมาร์ตโฟนทั่วไป ส่วนรอยพับตรงกลางจอไม่ใช่ปัญหาในการใช้งานแต่อย่างใด โดยรวมก็ใช้งานได้ตามปกติ
ซึ่งแหล่งข่าวที่เราทำการพูดคุยด้วยเป็นตัวอย่างหนึ่งของคนรุ่นใหม่ที่เลือกซื้อสมาร์ตโฟนจอพับ เพราะดีไซน์ที่เป็นนวัตกรรมของซัมซุงตอบโจทย์กับความต้องการของตัวเอง โดยที่ไม่ได้มีความรู้สึกของการหวนนึกถึงความทรงจำในอดีตเข้ามาเกี่ยวข้อง ถือเป็นขั้นหนึ่งของความสำเร็จจากกลยุทธ์ที่ซัมซุงเลือกใช้
สมาร์ตโฟนในอนาคตไม่ได้จบที่ ‘สมาร์ตโฟนจอพับ’ อย่างแน่นอน
ใครจะไปคิดว่า วันดีคืนดีสมาร์ตโฟนที่หน้าจอผลิตจากกระจกแข็งๆ ชนิดหนึ่ง จะถูกออกแบบให้มีความยืดหยุ่น จนสามารถพับได้ และใช้งานได้อย่างปกติ ดังนั้น ความเป็นไปได้ที่เราจะได้ใช้สมาร์ตโฟนรูปแบบอื่นๆ ในอนาคตมีสูงมาก
หากดูจากการกลับมาของโทรศัพท์พับได้ที่เคยเป็นตำนานในยุค 90 โทรศัพท์รูปแบบอื่นๆ ที่เคยได้รับความนิยมในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน อย่าง ‘โทรศัพท์สไลด์’ ที่เวลาจะใช้ต้องดันขึ้นเพื่อกดปุ่ม หรือ ‘แบล็กเบอร์รี’ (Blackberry) ที่เรียกกันติดปากว่า ‘บีบี’ โทรศัพท์สำหรับสายแช็ต ก็มีโอกาสที่จะกลับมาในเวอร์ชันอัปเกรดได้เช่นกัน
และหากมองกันอย่างไม่ยึดติดกับอดีต นวัตกรรมใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนก็สามารถเปลี่ยนแปลงวงการสมาร์ตโฟนได้ เพราะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เริ่มมีกระแสของ ‘Modular Phone’ หรือ ‘สมาร์ตโฟนแบบแยกส่วน’ ที่ผู้ใช้งานสามารถถอดเปลี่ยนชิ้นส่วนของมือถือ และปรับแต่งได้ตามใจชอบ เช่น การเปลี่ยนชิ้นส่วนของกล้อง จากที่ใช้ถ่ายคนโดยเฉพาะเป็นกล้องสำหรับถ่ายทิวทัศน์ได้อย่างง่ายดาย ไม่ต่างกับการเปลี่ยนเลนส์ของกล้องดิจิทัลเลยแม้แต่น้อย
ไม่ว่า ในอนาคตจะมีสมาร์ตโฟนรูปแบบใหม่ออกสู่ท้องตลาดมาอีกมากแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดจากประเด็นนี้ ก็คือโทรศัพท์มือถือกับผู้คนแยกจากกันไม่ขาด เพราะทุกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นถูกออกแบบให้เข้าวิถีชีวิตของเราทั้งสิ้น และยิ่งตอกย้ำความเป็นจริงของคำพูดที่ว่า “โทรศัพท์มือถือเป็นอวัยวะที่ 33” ได้อย่างชัดเจน
แล้วคุณล่ะ มีความเห็นเกี่ยวกับสมาร์ตโฟนในอนาคตอย่างไร?
Sources: https://bit.ly/3bL5JJ4
https://bit.ly/3PdpHd4
https://bit.ly/3P8XAvr
https://tcrn.ch/3QQaIqT
https://bit.ly/3Pef5dR